ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ วัฒนธรรม ประเพณี พุทธสถานและแหล่งท่องเที่ยวภาคอีสาน => ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ท้องถิ่น => ข้อความที่เริ่มโดย: ramin ที่ 18 สิงหาคม 2554, 20:35:29



หัวข้อ: ตำนานนกสักกะไดลิงค์
เริ่มหัวข้อโดย: ramin ที่ 18 สิงหาคม 2554, 20:35:29
  
(http://image.ohozaa.com/i/130/stkzC.JPG) (http://image.ohozaa.com/view/17f80)
 
       ตำนานนกหัสดีลิงค์ที่ว่านี้ได้สดับมา มีว่าสมัยโบราณหลายพันปีมาแล้ว ในนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร พระมหากษัตริย์แห่งนครนั้นถึงแก่สวรรคต ตามธรรมเนียมต้องอัญเชิญพระศพออกไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง ในครั้งนั้นพระมหาเทวีให้จัดการพระศพตามโบราณประเพณี ได้แห่พระศพออกจากพระราชวังไปยังทุ่งหลวงเพื่อถวายพระเพลิง
          ขณะนั้นมีนกสักกะไดลิงค์ หรือนกหัสดีลิงค์ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารบินมาจากป่าหิมพานต์ นกได้เห็นพระศพคิดว่า เป็นอาหารของเขา จึงบินโฉบลงมาเอาพระศพจะไปกิน เมื่อพระมหาเทวีเห็นเช่นนั้นก็ประกาศให้คนดีต่อสู้นกหัสดีลิงค์เพื่อเอาพระศพคืนมา คนทั้งหลายก็อาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์ไม่ได้ ถูกนกหัสดีลิงค์จับกินหมด ในครั้งนี้ ธิดาแห่งพญาตักกะศิลาจึงเข้ารับอาสาสู้นกหัสดีลิงค์นั้น นางมีนามว่า สีดา นางได้ใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์ นกหัสดีลิงค์ถึงแก่ความตายจกลงมาพร้อมพระศพแห่งกษัตริย์องค์นั้น พระมาหาเทวีจึงโปรดสั่งให้ช่างทำเมรุคือหอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์แล้วเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน ตำนานมีกล่าวไว้ดังนี้

          ต่อจากนั้นมาเจ้านายในพระราชวงศ์นั้นแห่งเมืองตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าได้ถือเอาประเพณี ทำเมรุนกหัสดีลิงค์ หรือนกสักกะไดลิงค์นั้นขึ้น เพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิง ถวายแก่เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ถึงแก่อสัญกรรม ประเพณีนี้จึงถือกันมาตลอดสายกษัตริย์องค์นั้น สืบทอดกันมาจนถึงเจ้านายเมืองอุบลราชธานี และเชื้อสายของเมืองตักกะศิลาจึงรับสืบทอดมรดกพิธีนี้มาเป็นประจำเอง ผู้ที่ฆ่านกหัสดีลิงค์ประจำเมืองอุบลราชธานีของเราผู้สืบทอดกันมาดังนี้

          ยุคแรกคือ ญาแม่นางสุกัณ ปราบภัย ผู้สืบเชื้อสายมาจากเมืองตักกะศิลา เมื่อญาแม่สุกัณถึงแก่กรรมไปแล้ว บุตรสาวของท่านคือ คุณยายมณีจันทร์ ผ่องศิล เป็นผู้รับช่วงในการทรงเจ้านางสีดาลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์ เมื่อคุณ ยายมณีจันทน์ ผ่องศิล ถึงแก่กรรมแล้ว บุตรสาวของท่านคือ คุณสมวาสนา รัศมี รับช่วงเป็นคนทรงเจ้านางสีดาลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์ต่อมา ต่อมาเมื่อคุณสมวาสนา รัศมีถึงแก่กรรมไปแล้ว คุณ ยุพิน ผ่องศิล เป็นผู้รับช่วงในการเข้าทรงเจ้านางสีดาลงมาฆ่านกหัสดีลิงค์ต่อไป ซึ่งเป็นคนฆ่า (พ.ศ. 2548) ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีหรือเปล่า

          ในการที่จะเชิญเจ้านายสีดามาฆ่านกหัสดีลิงค์นั้น โบราณมีว่า ตัวแทนของอัญญาสี่ จำนวนผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 4 คน ที่เป็นบุตรหลานของอัญญาสี่จะต้องนำขันธ์ห้า คือ ดอกไม้ขาว 5 คู่ เทียนแท้ 5 คู่ ยาวคืบหนึ่ง ใส่พานไปที่ตำหนักทรงของเจ้าแม่สีดา เพื่อบอกกล่าวเชิญเจ้าแม่ไปฆ่านกหัสดีลิงค์ เมื่อผู้ทรงได้รับขันธ์เชิญก็จะเข้าทรงเชิญเจ้าแม่สีดาลงมาพบตัวแทนอัญญาสี่ แล้วว่าจะรับหรือไม่ เมื่อท่านเจ้าแม่ในร่างทรงรับจะไปฆ่านกหัสดีลิงค์เรียกว่า คายหน้า คือ เครื่องบูชาบวงสรวงก่อนที่จะไปฆ่านกหัสดีลิงค์นั้น จะต้องมีการบวงสรวงเข้าทรงเสียก่อนตามประเพณีโบราณ เครื่องบูชาครูหรือเครื่องบวงสรวงมีทั้งหมด 17 รายการ

          เมื่อขบวนแห่ไปถึงบริเวณที่ตั้งเมรุนกสักกะไดลิงค์หรือนกหัสดีลิงค์แล้วขบวนก็จะเดินไปรอบๆ พอนกหัสดีลิงค์เห็นเช่นนั้นก็จะหันซ้ายหันขวางวงก็จะไขว่คว้า ตาก็จะเหลือกขึ้นลง หูก็กระพือปากก็จะอ้าร้องเสียงดัง พร้อมที่จะต่อสู้ เจ้าแม่สีดาก็ไม่รั้งรอ ก็จะทรงศรยิงไปที่นกหัสดีลิงค์อีกครั้ง แห้ไปอีกก็จะกลับมายิงนกหัสดีลิงค์อีก จนนกหัสดีลิงค์หมดแรงไม่เคลื่อนไหว ซึ่งแสดงว่านกหัสดีลิงค์ตายแล้ว แผลที่ถูกยิงก็จะมีเลือดไหลออกมา

          เมื่อเห็นว่านกหัสดีลิงค์หมดกำลังแล้ว บริวารของเจ้าแม่สีดาก็จะช่วยเอาหอกเอาดาบฟันนกหัสดีลิงค์ เมื่อเสร็จจากการฆ่านกหัสดีลิงค์แล้ว ขบวนเจ้าแม่สีดาก็กลับตำหนักพักผ่อนรอจนสามคืนก็จะมีพิธีบวงสรวงเจ้าแม่สีดาอีกเรียกว่า บวงสรวงครั้งหลังเรียกว่าคายหลัง เครื่องบวงสรวงก็เช่นเดิมคือ เหมือนคายหน้า คายหลังต้องใช้เงินบูชาครู 15 ตำลึง

          ช่างที่ทำเมรุนกหัสดีลิงค์ในเมืองอุบลราชธานี ที่ผู้เขียนพอรู้ก็มี ญาท่านดีโลดวัดทุ่งศรีเมือง ญาท่านพระมหาเสนาวัดทุ่งศรีเมือง ช่างโพธิ ส่งศรี ช่างสาย สุททราวงศ์ ช่างสีห์ ข่างครูคำหมา แสนงาม ช่างศิลป์ ฟุ้งสุข ซึ่งท่านดังกล่าวก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว

          แต่เดิมในเมืองอุบลราชธานีนี้มีตำนานการสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์อยู่เป็นของประจำเมือง พร้อมทั้งพงศวดารเมือง ต่อมาทางราชการมาขอยืมไปเพื่อตรวจสอบ ทั้งตำนานเมือง ตำนานนกหัสดีลิงค์ โดยอ้างว่าจะไปเรียบเรียงใหม่ ภายหลังผู้มาขอยืมที่เป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองชั้นสูงได้เดินทางไปปักปันดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในคราวไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายให้แก่ฝรั่งเศส แล้วป่วยไข้มาลาเรียเสียชีวิต ตำนานนี้กล่าวมาก็หายสาบสูญไป ต่อมาจึงมีแต่เพียงคำบอกเล่าของผู้ได้ปฏิบัติมาและผู้สืบทอดเชื้อสายเล่าให้ลูกหลานฟังเท่านั้น ราชประเพณีของเมือง จึงเลือนรางไปดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

          วัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองจะยังอยู่สืบเชื้อสายได้ก็จะต้องมีผู้รักษาหากขาดผู้รักษาแล้ววัฒนธรรมท้องถิ่นก็หมดไปด้วย นกหัสดีลิงค์ที่ว่านี้เป็นเรื่องประชาชนในท้องถิ่นถวายให้เกียรติแก่ผู้ตาย ไฟพระราชทานนั้นเป็นพระเมตตาของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานมาให้ผู้ตาย นกหัสดีลิงค์ก็เท่ากับว่าเป็นพานทองรับไฟเพลิงพระราชทานชองพระมหากษัตริย์ นั่นเอง ดอกไม้มีพานใส่ฉันใด นกหัสดีลิงค์ก็ฉันนั้น

          ที่กล่าวมาก็ได้จากที่ได้เคยพบเห็นมาแต่สมัยเป็นเด็ก และจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเล่าให้ฟังสืบทอดกันมาขอเอ่ยนามคือ อัญญาใหญ่นางแพง อัญญาใหญ่นาง อบ อัญญาใหญ่ท้าวจอม อัญญาเจ้าเรือนสมบูรณ์ ในฐานะที่ข้าพเจ้าผู้เล่าต่อเป็นลูก-หลานเหลน จึงขอเล่าสู่ท่านผู้อ่านได้รู้เพื่อประดับสติปัญญาสืบไป หากผิดพลาดประการใดขออภัยท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วย

      
          การสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์นั้น สมัยโบราณนิยมสร้างให้ท้องนกติดพื้นดิน เพื่อให้เป็นไปตามธรรมชาติของนกที่อาศัยอยู่ในป่า ไม่มีการยกร้าน หรือยกพื้นสูงขึ้นเหมือนปัจจุบัน เพื่อสะดวกในการเผาศพ/เพื่อให้ตัวนกโดดเด่น และเพื่อความสะดวกในการทำงานต่างๆ แต่การยกร้านหรือยกพื้นให้ท้องนกสูงขึ้นจากพื้นดินประมาณ 1.00- 1.20 เมตร ทำให้มองคล้ายกับว่า ? นกหมอบอยู่บนพื้นไม้ หรือนกอยู่ในกรง ? ซึ่งไม่เป็นไปตามธรรมชาติ อีกประการหนึ่ง ? เมรุหอแก้วบนหลังนก ? สมัยโบราณสร้างบนตัวนก แต่ปัจจุบันสร้างคร่อมตัวนกโดยเสาเมรุ 4 เสาตั้งอยู่นอกตัวนก เช่นเดียวกับเมรุทั่วไป ทำให้ไม่ตรงกับความหมายที่ว่า ? ศพตั้ง ณ หอแก้วบนหลังนก ?




หัวข้อ: Re: ตำนานนกสักกะไดลิงค์
เริ่มหัวข้อโดย: ramin ที่ 18 สิงหาคม 2554, 20:38:02
(http://image.ohozaa.com/i/1ee/o57FJ.jpg) (http://image.ohozaa.com/view/17fab)
เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี หรืออาญาสี่ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ถือเป็นราชสกุลที่มาแต่เมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เมื่อท่านเหล่านี้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ให้เชิญศพขึ้นเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ หรือนกสักกะไดลิงค์ แล้วชักลากออกไปบำเพ็กุศลที่ทุ่งศรีเมืองเป็นเวลา 3 วัน จึงเผาศพ

               การทำศพแบบนกหัสดีลิงค์นั้น จำกัดเฉพาะกลุ่มเจ้านายอุบลฯ เท่านั้น ผู้ไม่ใช่เจ้านายไม่อนุญาตให้ทำศพแบบนี้ ระยะแรก การเผาศพทำที่ทุ่งศรีเมือง มาภายหลัง เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ปกครองเมืองอุบลฯ ให้ยกเลิกประเพณีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมือง และอนุญาตให้พระเถระที่ทรงคุณธรรม เมื่อมรณะภาพ ให้จัดประเพณีการทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ได้ด้วย โดยเริ่มจากธรรมบาลผุย หลักคำเมือง เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เนื่องจากกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงศรัทธาเลื่อมใสท่านธรรมบาลว่า เคร่งครัดในธรรมวินัย มีความรู้ในปริยัติแตกฉานไม่แพ้พระเถระทางกรุงเทพฯ

               เมื่อท่านธรรมบาล (ผุย) ถึงแก่มรณะภาพ เสด็จในกรมสั่งให้สร้างเมรุรูปนกสักกะไดลิงค์ถวายเป็นเกียรติยศ ให้ชักลากออกไบำเพ็ญกุศลที่ทุ่งศรีเมืองเช่นเดียวกับอาญาสี่ และนับเห็นนกตัวสุดท้าย ที่ได้รับเกียรติยศให้เผาที่ทุ่งศรีเมือง หลังจากนั้นแล้ว ไม่มีการเผาศพที่ทุ่งศรีเมืองอีกเลย พระสงฆ์ที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ จึงได้รับเกียรติยศให้ขึ้นนกตั้งแต่นั้นมา


หัวข้อ: Re: ตำนานนกสักกะไดลิงค์
เริ่มหัวข้อโดย: คนโก้ ที่ 19 สิงหาคม 2554, 07:26:58
ยอดเยี่นมมากครับพี่รามิน 007 ขอตั้งข้อสังเกตนิดครับ ปัจจุบันนี้การถวายเพลิงแบบนกหัสดีลิงค์ไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มพระเถระชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น แต่พระเถระที่ทรงคุณ เป็นที่ศรัทธาก็สามารถใช้การถวายเพลิงแบบนี้ได้  ยกตัวอย่างงานพระราชทานเพลิงศพพระครูวิจิตรธรรมาจารย์ (ประสาร  อรหปัจจโย) วัดโนนผึ้ง  ศรีสะเกษ ก็เห็นว่าใช้การถวายเพลิงแบบนกหัสดีลิงค์ด้วย โดยช่างที่ดำเนินงานและควบคุมการก่อสร้างคือ  พระครูเกษมธรรมานุวัตร (ญาท่านบุญชู อัตถกาโม) นั่นเอง 017


หัวข้อ: Re: ตำนานนกสักกะไดลิงค์
เริ่มหัวข้อโดย: บ่หัวซาผีบ้าเดินดิน ที่ 19 สิงหาคม 2554, 09:33:34
นกสักกะไดลิงค์ เป็นโบราณประเพณีที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดี ว่าบรรพบุรุษของชนชาวอีสานนั้นมาจากแว่่นแค้วนแผ่นดินไหนครับ 007 007


หัวข้อ: Re: ตำนานนกสักกะไดลิงค์
เริ่มหัวข้อโดย: ChayTurbo ที่ 05 ตุลาคม 2554, 19:34:49
นับว่าเป็นว่าได้ความรู้ เป็นอย่างมากครับ ขอบคุณสำหรับทุหๆข้อมูล  007