ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ชมรมสืบสานตำนานบูรพาจารย์สายสำเร็จลุน => ชมรมสืบสานตำนานบูรพาจารย์ศิษย์สายสำเร็จลุน => ข้อความที่เริ่มโดย: tar ที่ 08 ธันวาคม 2553, 11:15:43



หัวข้อ: ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ
เริ่มหัวข้อโดย: tar ที่ 08 ธันวาคม 2553, 11:15:43
ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ บูรพาจารย์ศิษย์แห่งสำเร็จลุน

วัดบ้านเสือโก้ก  ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

(http://www.ubonpra.com/images/luangpoo_sun.jpg)

อัตโนประวัติ

?หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ? หรือ ?พระครูสุนทรสาธุกิจ? แห่งวัดบ้านเสือโก้ก ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าที่เรืองวิทยาคม มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคอีสานรูปหนึ่ง เมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา

หลวงปู่ซุน มีนามเดิมว่า ซุน ประสงคุณ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2429 ณ บ้านเปลือย ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนาเหมือนกับชาวอีสานทั่วไป ต่อมาครอบครัวของหลวงปู่ได้อพยพย้ายที่ทำมาหากินอยู่ที่บ้านเสือโก้ก ในช่วงวัยเยาว์ ได้ช่วยงานครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง ยามว่างจากทำไร่ทำนาจะคอยต้อนวัวควายออกไปเลี้ยงกลางทุ่งนา


การบรรพชาและอุปสมบท

เมื่ออายุได้ 18 ปี ในวันหนึ่ง ขณะที่กำลังเลี้ยงวัวควายตามปกติ ปรากฏว่ากระดิ่งแขวนคอวัวควายหล่นหาย ท่านเกิดความกลัวว่าบิดาจะลงโทษ ประกอบกับเป็นคนใฝ่รู้และมีใจเอนเอียงเข้าหาพระธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ด.ช.ซุน จึงได้ขอร้องบิดาของเพื่อนคนหนึ่ง ให้นำไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านเสือโก้ก เพื่อหนีความผิด ครั้น โยมบิดา-โยมมารดา ทราบว่าบุตรชายได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นที่เรียบร้อย ท่านมิได้คัดค้านหรือตำหนิแต่อย่างใด อีกทั้งได้ร่วมอนุโมทนาบุญด้วย

กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ สามเณรซุน ประสงคุณ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีพระอธิการสา เป็นพระอุปัชฌาย์ ภายหลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความขยันขันแข็ง


การศึกษากัมมัฏฐานและวิทยาคม

ด้วยความเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติสวดมนต์เช้าเย็นไม่เคยขาด หลังจากฉันภัตตาหารเพล ท่านจะนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐานภายในกุฏิ

นอกจากนี้ หลังออกพรรษาทุกปี ท่านจะออกเดินธุดงควัตรไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นตามป่าเขาลำเนาไพรในภาคอีสาน

รวมทั้งยังได้ไปศึกษาวิทยาคมจากสมเด็จลุน พระเกจิชื่อดังจากประเทศลาว ในด้านอักขระโบราณ ทำให้หลวงปู่ซุนมีความรู้สามารถเขียนอักษรลาว-ขอม และอักษรไทยอย่างแตกฉาน

ในเวลาต่อมา ชื่อเสียงของหลวงปู่ซุนโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและประพรมน้ำพุทธมนต์ และปรารถนาวัตถุมงคลตะกรุดโทน และตะกรุดคู่ที่เข้มขลังจากหลวงปู่กันอย่างล้นหลาม

ยุคสมัยนั้น ราคาเช่าวัตถุมงคลตะกรุดหลวงปู่ซุน 1 ดอก เท่ากับทองคำหนักหนึ่งบาท


พระธรรมเทศนา

อย่างไรก็ดี ท่านมักจะพร่ำสอนญาติโยมอยู่ตลอดเวลาว่า ?อย่าได้ประมาท และอย่าเบียดเบียนกันแล้วชีวิตจะพานพบแต่สิ่งดีงาม?


งานด้านการศึกษา

หลวงปู่ซุนยังเป็นพระนักการศึกษา ตลอดเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านเสือโก้ก ได้ให้ความสำคัญด้านการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทราบดีว่าการบวชเรียนเป็นหนทางหนึ่งของคนยากคนจนชาวอีสาน

ท่านรับหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดบ้านเสือโก้ก พระภิกษุ-สามเณร ที่เรียนกับท่านต้องเรียนหนักมาก บางวันเรียนไปจนถึง 3 ทุ่ม ทำให้สำนักเรียนบ้านเสือโก้กยุคนั้น มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ละปีจะมีภิกษุสามเณรมาจำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัย จำนวน 100 รูป


ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์

พ.ศ.2461 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลเสือโก้ก

พ.ศ.2477 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2497 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูสุนทรสาธุกิจ


สร้างวัดกู่สุนทรารามบ้านสนาม

หลวงปู่ซุนอยู่จำพรรษาที่วัดเสือโก้ก จนถึงปี พ.ศ.2493 ท่านได้มาทำพิธีสรงน้ำที่ซากกู่เทวสถานสมัยขอม ภายในป่าโคกบ้านสนาม ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งวัดกู่สุนทรารามบ้านสนาม ในปัจจุบัน ชาวบ้านลือว่าในป่าโคกแห่งนี้ ผีดุมาก ไม่มีใครกล้าบุกรกุเข้าไป

หลวงปู่ซุนมีความตั้งใจสร้างวัดขึ้นในบริเวณดังกล่าว จึงขอความร่วมมือจากชาวบ้านในการสร้างวัด ก่อนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2500 วัดแห่งนี้มีชื่อว่า ?วัดกู่สุนทรารามบ้านสนาม? นับแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงปู่ซุนได้อยู่จำพรรษาที่วัดกู่สุนทรารามบ้านสนาม มาโดยตลอด


การมรณภาพ

บั้นปลายชีวิตของหลวงปู่ซุน สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง อาพาธบ่อยครั้งสุดท้าย ได้มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2504 สิริอายุรวม 76 พรรษา 56

ในปัจจุบัน วัดกู่สุนทรารามบ้านสนาม มีโครงการก่อสร้างศาลา เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ