"วัดมหาวนาราม" หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกอย่างคุ้นเคยว่า "วัดป่าใหญ่" ตั้งอยู่บนถนนสรรพสิทธิ์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมากับการก่อตั้งจังหวัดอุบลราชธานี ในอุโบสถวัดมหาวนาราม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ประธาน นามว่า "พระเจ้าใหญ่อินแปลง" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน พร้อมกับลงรักปิดทอง ลักษณะองค์พระเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบลาว หน้าตักกว้างประมาณ 3 เมตร สูงจากเรือนแท่นถึงเปลวพระโมลี 5 เมตร
เรื่องเล่าขานของพระพุทธรูปองค์นี้มีมากมาย ตั้งแต่การสร้างว่า พระเจ้าใหญ่อินแปลงมีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ โดยองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทร์แปลงมหาวิหาร นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ปัจจุบันมีอายุประมาณพันปี อีกองค์ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินแปลง อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งก็มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระเจ้าใหญ่อินแปลง วัดอินทร์แปลงมหาวิหารประเทศลาว
ส่วนองค์สุดท้าย คือ พระเจ้าใหญ่อินแปลง ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาวนาราม จ.อุบลราชธานี มีอายุเกือบสองร้อยปีแล้ว
สำหรับประเพณีปฏิบัติต่อพระพุทธรูปองค์นี้ ในวันเพ็ญเดือน 5 หรือในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีการทำบุญตักบาตร เทศน์มหาชาติชาดก และสรงน้ำปิดทองพระเจ้าใหญ่อินแปลง
การสร้างพระเจ้าใหญ่อินแปลงเกิดขึ้นหลังจากพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ หรือท้าวคำผง ได้ก่อสร้างเมืองอุบลราชธานีที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล พร้อมได้ก่อสร้างวัดที่ริมฝั่งแม่น้ำมูล โดยวัดแห่งแรกของจังหวัดมีชื่อว่า "วัดหลวง" เพื่อให้เป็นสถานที่ใช้ทำบุญทำกุศลของประชาชนทั่วไป
ภายหลังก่อสร้างวัดหลวงเสร็จสมบูรณ์ พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ได้นิมนต์พระธรรมโชติวงศา ซึ่งเป็นพระมหาเถระสายวิปัสสนากรรมฐาน พร้อมพระภิกษุสามเณรมาอยู่จำพรรษาสนองศรัทธาของประชาชน
แต่เมื่อพระธรรมโชติวงศาเข้ามาจำพรรษาเล็งเห็นว่า วัดหลวงแห่งนี้เป็นวัดบ้าน หรือ "ฝ่ายคามวาสี" ตั้งอยู่กลางใจเมืองไม่เหมาะแก่การปฏิบัติสมณธรรมวิปัสสนากรรมฐาน จึงได้แสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานใหม่ โดยพิจารณาเห็นว่าป่าดงอู่ผึ้ง ห่างจากวัดหลวงไปทางทิศเหนือประมาณ 100 เส้น มีหนองน้ำชื่อหนองสะพัง เป็นสถานที่สงบวิเวกเหมาะแก่การตั้งเป็นสำนักสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน หรือ "ฝ่ายอรัญญาวาสี" จึงได้ก่อตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ให้ชื่อว่า "วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์" คู่กับวัดหลวง แต่ยังไม่ทันได้ตั้งเป็นวัดให้สมบูรณ์เรียบร้อย พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ ผู้เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก ก็ถึงแก่อนิจกรรมลงเมื่อ พ.ศ.2323 กระทั่งเจ้าเมืองคนที่ 2 คือ พระพรหมวรราชสุริยะวงศ์ หรือท้าวทิดพรหม ได้มาก่อสร้างวิหาร ในวัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ เมื่อปี พ.ศ.2348 และได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัดประจำเจ้าเมืองคนที่สอง ให้ชื่อว่าวัดป่าหลวงมณีโชติ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดหนองตะพัง หรือหนองสระพัง ตามชื่อหนองน้ำที่อยู่ใกล้เคียง โดยมีพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และเป็นผู้สร้างพระพุทธรูป "พระอินแปง" หรือพระเจ้าใหญ่อินแปลงองค์ปัจจุบันเป็นพระประธานประจำวัด
ส่วนพระพุทธรูป "พระเจ้าใหญ่อินแปลง" หลังก่อสร้างเสร็จ ได้รับความเคารพบูชาจากชาวเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะในอดีตเมื่อมีความขัดแย้งกันขึ้น หรือเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ชาวเมืองก็จะชวนกันมาสาบานต่อหน้าองค์พระเจ้าใหญ่อินแปลง เพราะต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน หากใครไม่ทำตามที่ได้ให้คำสัตย์สาบานเอาไว้ ก็จะมีอันเป็นไปต่างๆ นานา รวมทั้งการมาขอพรให้ประสบความสำเร็จในการสอบไล่ หรือในหน้าที่การงาน และความประสบโชคมีสุขในครอบครัว หรือแม้กระทั่งมีสิ่งของสำคัญสูญหายไป ก็จะมาบนบานต่อหน้าองค์พระเจ้าใหญ่อินแปลง เพื่อขอให้ได้สิ่งของที่หายไปกลับคืนมา
พระเจ้าใหญ่อินแปลง จึงเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อมีการเดินทางมารับตำแหน่งใหม่ของข้าราชการทุกระดับชั้น จะต้องมาไหว้กราบนมัสการบอกกล่าวต่อองค์ท่าน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างราบรื่น
ส่วนการทำบุญกับพระเจ้าใหญ่อินแปลงที่ชาวบ้านนิยมคือ การถวายดอกบัวตูม ธูป และเทียน พร้อมลงรักปิดทองที่ตัวองค์พระ และถวายสังฆทาน
แต่เนื่องจากอุโบสถที่ใช้ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่อินแปลงเริ่มคับแคบ เพื่อลดความแออัดในการเข้าไปกราบนมัสการ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ ซึ่งมักมีประชาชนจากทั่วสารทิศพากันมากราบไหว้จำนวนมาก
วัดได้จัดทำรูปองค์พระเจ้าใหญ่อินแปลงจำลองที่หน้าทางขึ้นอุโบสถ โดยประชาชนที่มากราบไหว้นมัสการขอพร สามารถเลือกที่จะเข้าไปกราบพระเจ้าใหญ่อินแปลงในอุโบสถ หรือเลือกกราบองค์พระจำลองที่สร้างไว้บริเวณทางขึ้นหน้าอุโบสถก็สามารถทำได้
เพราะได้รับความร่มเย็นเป็นสุขเช่นเดียวกัน
ข้อมูลจาก
http://www.khalong.com/board2/viewthread.php?tid=6979