ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ วัฒนธรรม ประเพณี พุทธสถานและแหล่งท่องเที่ยวภาคอีสาน => ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ท้องถิ่น => ข้อความที่เริ่มโดย: tar ที่ 25 ธันวาคม 2554, 22:39:39



หัวข้อ: คำสอนโบราณอีสาน โดยนักปราชเมืองอุบลฯ
เริ่มหัวข้อโดย: tar ที่ 25 ธันวาคม 2554, 22:39:39
หนึ่ง: ผู้ใดเป็นใหญ่ ก่อนจะลงโทษทัณฑ์แก่ใครให้พิจารณาให้ถ้วนถี่หาเหตุผลต้นปลาย ได้ความแน่ชัดประการใด จึงลงโทษตามที่กำหนดไว้ในระเบียบแบบแผน
อย่าให้เป็นดั่งพญาโสมพมิตรที่สั่งให้ฆ่าลูกของตนโดยมิได้สอบสวนให้แน่นอน ดีแต่ว่ามีผู้ทัดทานไว้ ครั้นสอบเอาความจริงแล้ว ปรากฏว่าลูกไม่มีความผิด

สอง: บุคคลทั้งหลายในโลกนี้พึงปฏิบัตตามกฎหมายบ้านเมือง อย่าล่วงละเมิดกฎเกณฑ์ข้อบังคับและถ้อยคำของผู้เฒ่า ขุนนางและผู้มีปัญญา

สาม: ผู้ใดเป็นใหญ่เป็นโตมีข้าทาสบริวารและคนใต้บังคับบัญชา เมื่อจะพูดจะทำสิ่งใดอย่าคุยโวอวดโตว่าเก่งคนเดียว ให้รู้จักให้ของขวัญเป็นผ้าแพร
เงินทองของใช้แก่ข้าทาสบริวารและญาติมิตร ยามมีอันตรายคนทั้งหลายจักช่วยปกบ้องบังภัยให้

สี่: บุคคลพึงสงเคราะห์ช่วยเหลือกันในระหว่างญาติมิตรและพี่น้อง ดังหนึ่งน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ถ้าไม่มีป่าเสือก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีเสือป่าก็ถูกคนตัดโค่นทำลายลงหมด
ฉะนั้นจงอย่าถือดีว่าคนจะอยู่ได้โดยลำพังคนเดียว

ห้า: บุคคลพึงรู้จักตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ครูบาอาจารย์และมวลมิตรทั้งหลายไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตาม

หก: บุคคลพึงมีความเพียรในการทำงาน ดังหนึ่งมดและปลวก ที่สามารถสร้างรังได้ใหญ่เกินตัว

เจ็ด บุคคลพึงละเว้นการพนันขันต่อเบี้ยโบก หมากรุกและสะกา สุรายาเมา ตีครี และสุงสิงยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงเสเพล หรือเที่ยวเตร่สนุกสนานจนลืมงาน บุคคลในเป็นดังนี้
แม้จะมีครอบครัว ช้างม้าวัวความเงินทองนับโกฏิก็ย่อมล่มจมสิ้นเนื้อประดาตัวได้

แปด  บุคคลพึงกล่าววาจาอันอ่อนหวานและถ้อยคำอันเป็นมงคล ทุกคนอยากฟังคำหวาน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานเช่นโคนันทวิศาลก็พอใจในคำไพเราะหู

เก้า บุคคลพึงละเว้นการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ ทั้งสี่อย่างนี้ถือเป็นคำเลว ย่อมนำความเดือดร้อนมาสู่ตน บางครั้งก็เป็นเหตุให้บ้านเมืองล่มจมก็มี

สิบ บุคคลใดได้รับโทษหรือตกทุกข์ลำบาก ให้พึงพิจารณาเอาว่า อาจเป็นผลกำแต่ปางก่อนของตน อย่าไปกล่าวโทษว่าผู้อื่นเป็นเหตุ

สิบเอ็ด บุคคลใดแม้ได้สั่งสอนคนอื่น  ถ้าเขาเชื่อฟังก็จงยินดีด้วย แต่ถ้าเขาไม่เชื่อฟังก็อย่าโกรธเคืองหรือข่มขู่เขาผู้นั้น

สิบสอง  บุคคลใดจะลุกนั่งยืนนอนให้พึงระมัดระวังตนดูความเรียบร้อย  จะจากที่ใดไปให้มองหน้ามองหลังถึงสามทีจึงก้าวย่าง เผื่อบางทีจะลืมสิ่งของบางอย่างเอาไว้

สิบสาม การแต่งงานเป็นคู่ผัวตัวเมียกันนั้น ให้หาผู้ใหญ่เป็นผู้รู้เห็นและจัดแจงแต่งกันตามประเพณี ให้มีบายศรีสู่ขวัญอย่าบกพร่อง

สิบสี่  อย่ารับปากผู้ใดง่ายๆ จะกลายเป็นคนเสียศีล ดังคำกล่าวว่า ไวปากเสียศีล ไวมือไวตืนมักตกต้นไม้

สิบห้า ยามเจรจาพาทีมิควรขากถ่มหรือบ้วนน้ำลาย ถ้าจำเป็นให้หาที่ถ่มอันมิดชิด

สิบหก  อย่ายืน นั่งหรือนอนขวางประตู หรือทางคนเข้าออก

สิบเจ็ด เมื่อจะแต่งตัวหรือสวมใส่อาภรณ์เครื่องประดับกายพึงทำในที่ลับตาคน อย่าทำในที่เปิดเผย

สิบแปด อย่าขยับขยายคันนาอันเป็นที่ต่อเขตแบ่งแดน อย่าได้ถมบ่น้ำหรือปิดทางน้ำไหลในไร่นา

สิบเก้า  อย่าปลุกบ้านคร่อมเส้นทางสัญจรคนไปมา

ยี่สิบ  อย่าทำตนเหนือเพื่อนฝูง

ยี่สิบเอ็ด  ผู้ใดเป็นนายคนให้รักลูกน้อง  ผู้เป็นพ่อแม่เรือนให้รักลูกรักหลาน

ยี่สิบสอง  บุคคลพึงระวังสัตว์มีเขี้ยวเล็บงา อย่าเข้าใกล้เกินไปจะมีภัย

ยี่สิบสาม  เมื่อเดินสวนทางกับพระสงฆ์ให้หลีกทางให้และหยุดเดิน เมื่อพระผ่านแล้วจึงไป

ยี่สิบสี่  ผู้ใดอยากมีความรู้ให้หมั่นเล่าเรียน ผู้ใดอยากได้ของฝากต้องหมั่นหาของฝากผู้อื่น ผู้ใดมีเพื่อนให้หมั่นไปเยี่ยม  อย่ากู้เงินจากเพื่อนฝูง  อย่าสอนความรู้ที่ไม่ควรจะสอน
ม้าที่ยังไม่ได้ฝึกอย่าขี่ ธนูหน้าไม้จะยิงได้ต้องดีทั้งเชือกและขา อย่าขยายความลับ อย่าตัดต้นโพธิ์ อย่าลอกพระพุทธรูป อย่าติเตียนนักบวช  อย่าอวดอ้างความรู้ อย่าคบคนพาล
อย่านินทาผู้อื่น อย่าติเตียนเทวดา ผัวเมียอย่าถือสาหาความกัน อย่าก่อไฟด้วยฟืนท่อนเดียว อย่าใช้จ่ายเงินปลอม  อย่าคบเด็กสร้างบ้านแปลงเมือง อย่าขบกัดเหล็กกล้า
อย่าขี่ม้าเข้าวัด อย่ายิงธนูหน้าไม้ของผู้อื่น  อย่านอนหงายดูคมดาบ อย่านอนคาบนมเมีย กินข้าวแล้วอย่าเลียใบตองที่ห่อ  อย่าตีน้ำในแม่น้ำให้เป็นฟอง อย่าติเตียนว่าผัวเมียผู้อื่นไม่สวย
เห็นเขาซื้อได้ถูกอย่าว่าแพง เห็นเขาซื้อของแพงอย่าว่าถูก มีของเก่าให้หมั่นขัดสี อย่าด่าตีหมูหมาเสียดสีเจ้าของ  อย่าเดินทางกลางคืนคนเดียว  อย่ายืมของผู้อื่นใช้
อย่ารังแกข่มเหงผู้น้อย จะขอร้องใครให้มองดูหน้า ถ้าจะทะเลาะกับใครให้ดูท่าทีทางชนะ แม้จะโยนข้าวให้เจ้าของหมาเขากินต้องดูหน้าเจ้าของหมาเสียก่อน

คำสอนโบราณอีสาน คัดมาจากหนังสือนิทานเสียวสวาทเป็นนิทานพื้นเมืองเก่าแก่ของอีสาน นักประพันธ์อาวุโสชาวอุบลราชธานี สมัยเป็นนายอำเภอเขื่องในได้เรียบเรียงเอาไว้
เมื่อปี พศ. ๒๔๗๖


ปล ถ้าชอบก็กดแต้งนะครับ นั่งพิมพ์จนมือหงิก


หัวข้อ: Re: คำสอนโบราณอีสาน โดยนักปราชเมืองอุบลฯ
เริ่มหัวข้อโดย: บ่แม่นเซียนเป็นคนซื้อพระ ที่ 25 ธันวาคม 2554, 23:22:21
ขอบคุณครับ  017


หัวข้อ: Re: คำสอนโบราณอีสาน โดยนักปราชเมืองอุบลฯ
เริ่มหัวข้อโดย: tar ที่ 25 ธันวาคม 2554, 23:28:20
ผมสงสัยที่บอกว่า อย่าตีน้ำในแม่น้ำให้เป็นฟอง หมายความว่าอย่างไรครับ
ท่านใดพอรู้ช่วยอธิบายทีครับ