ประวัติพระครูชิโนวาทสาทร (อุทัย ปภัสสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดไชยมงคลชาติภูมิ พระครูชิโนวาทสาทร ฉายา ปภัสสโร มีนามเดิมว่า อุทัย มีแก้ว เกิดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2460 ที่บ้านหนองคู ตำบลหนองคู อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร (เดิมขึ้นกับอุบลราชธานี) มีโยมบิดาชื่อ นายไพ มีแก้ว โยมมารดาชื่อนางเพ็ง มีแก้ว
การศึกษาสายสามัญ การศึกษาของท่าน จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านหนองคู ตำบลหนองคู อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ในปีพุทธศักราช 2472
ชีวิตเมื่อเป็นฆราวาส เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 แล้ว โยมบิดามารดาของท่านก็พากันอพยพครอบครัวมาอยู่ที่บ้านหนองแสง ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ประกอบอาชีพทำไร่ไถนามาโดยตลอด ท่านมีพี่น้องร่วมท้อง 9 คนด้วยกัน โดยท่านเป็นบุตรคนโต เพราะฉะนั้นหน้าที่การงานต่างๆจึงตกอยู่ที่ท่านทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหักร้างถางพงเพื่อพลิกผืนดินทำมาหากิน ทำเป็นผืนไร่ ผืนนา เพื่อประกอบอาชีพในการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในขณะนั้น ด้วยอุปนิสัยของท่านเป็นคนขยันหมั่นเพียรเป็นหลักใหญ่ จึงทำให้ท่านมีผืนดินทำกินจำนวนนับร้อยไร่ ในขณะที่หนุ่มๆรุ่นเดียวกับท่านพากันเที่ยวเตร่หาความสำราญไปวันๆ แต่ชีวิตของท่านกลับอยู่กับการทำไร่ทำนามาโดยตลอด ไม่มีเวลาที่จะไปหาความสำราญดังเช่นหนุ่มรุ่นเดียวกัน แม้แต่เรื่องผู้หญิงท่านก็ไม่เคยให้ความสนใจเลย โดยอุปนิสัยของท่านแล้วเป็นผู้ที่มีจิตใจห้าวหาญไม่กลัวใคร จึงทำให้ท่านรักการชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าไกลแค่ไหนท่านก็บากบั่นไปให้ได้ นั้นคือชีวิตฆราวาสจนเมื่ออายุ 23 ปี
การอุปสมบท เมื่อปีพุทธศักราช 2483 ทางหมู่บ้านหาผู้ที่จะอุปสมบทก่อนเข้าพรรษาไม่ได้ ตัวท่านเองเห็นว่าอายุก็มากแล้ว จึงรับอาสาอุปสมบทพร้อมเพื่อนอีก 3 คน โดยอุปสมบทตามประเพณีที่วัดบ้านหนองแสง ซึ่งเดิมเป็นวัดทางมหานิกาย ในขณะที่ท่านบวชนั้นท่านมีมานะในการศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน สามารถสอบนักธรรมชั้นตรี ชั้นโทได้ภายใน 2 ปีติดต่อกัน โดยการเรียนรู้จากหนังสือแล้วก็ไปสอบ ต่อมาปีพุทธศักราช 2485 ท่านได้ย้ายจากวัดบ้านหนองแสงไปศึกษาต่อที่วัดบ้านบุ่งหวาย ตำบลสงเปลือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสำนักเรียนที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น สาเหตุที่ท่านยังไม่ศึกษาลาเพศหลังจากที่ท่านอยู่ครบพรรษาแล้ว เพราะโยมบิดาพูดกับท่านบ่อยๆว่า ?เรียนไปเถอะลูกอย่าออกมายุ่งกับทางโลกอีกเลย ผู้อยู่ทางนี้จะทำมาหากินไม่ต้องห่วงหรอก? ซึ่งตัวท่านเองพูดเสมอว่าโยมบิดาของท่านเป็นนักปราชญ์อย่างแท้จริง ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2486 ท่านได้ญัติเป็นธรรมยุตินิกาย พร้อมทั้งสอบได้นักธรรมชั้นเอกในปีเดียวกัน ด้วยความที่เป็นผู้มีความสนใจไฝ่ในการศึกษาเล่าเรียนทำให้เป็นที่รักของครูบาอาจารย์ ต่อมาปีพุทธศักราช 2487 อาจารย์ของท่านได้นำมาฝากเพื่อศึกษาด้านเปรียญธรรมที่วัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกันนั้นท่านได้ศึกษาเปรียญธรรมที่สำนักเรียนวัดสุปัฏนารามวรวิหารไปด้วย ท่านพักอยู่ที่วัดสุทัศนารามเป็นเวลา 3 ปี ในปีพุทธศักราช 2490 ท่านได้ย้ายมาพักที่วัดไชยมงคล ด้วยอุปนิสัยที่เป็นคนจริงทำอะไรก็ต้องทำให้สำเร็จ จึงทำให้ท่านสอบได้เปรียญธรรมถึง 4 ประโยค ในปีพุทธศักราช 2495 ถึงท่านจะได้เปรียญธรรมถึง 4 ประโยค แต่ท่านก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ท่านยังคงศึกษาเล่าเรียนต่อไป พร้อมกับการทำหน้าที่เป็นครูสอนเปรียญธรรมแก่พระสงฆ์องค์เณรควบคู่กันไปด้วย โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยจนได้รับการยกย่องจากครูบาอาจารย์โดยทั่วกัน ต่อมาในปีพุทธศักราช 2499 ท่านพระอาจารย์กอง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในขณะนั้นได้ย้ายกลับไปนครจำปาศักดิ์ ฝั่งประเทศลาวซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน หน้าที่การทำนุบำรุงวัดไชยมงคลจึงตกอยู่กับท่าน ตั้งแต่นั้นมา
การพัฒนาวัดไชยมงคล
จากการกลับไปบ้านเกิดของเจ้าอาวาสองค์ก่อน ซึ่งขณะนั้นวัดไชยมงคลเป็นวัดเล็กๆ มีโบสถ์วิหารหลังเล็กๆ เก่าๆ พอประกอบศาสนกิจได้บ้าง ยังเป็นวัดบ้านนอกมีแต่ป่าไผ่ ป่าบักต้อง มีกุฏิหลังเก่าๆเล็กๆไม่กี่หลัง ตอนที่ท่านเจ้าอาวาสองค์เดิมลากลับบ้านเหลือปัจจัยไว้ให้ท่านเป็นเงิน 200 บาท ซึ่งรายได้เข้าวัดช่วงนั้นมีเพียงการขายหมากขายมะพร้าว เท่านั้น แต่ด้วยท่านมีจิตใจแน่วแน่ในการทำนุบำรุงศาสนาสืบต่อไป ท่านได้เริ่มเข้าป่าเลื่อยไม้ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่สามารถทำได้ โดยท่านมีคู่หูในการบุกป่าฝ่าดงผจญภัยต่างๆ คือคุณตาน้อย ณรงค์แสง จนได้ไม้พอสมควรแล้วท่านก็เริ่มลงมือสร้างกุฏิทีละหลัง จนกระทั่งมีครบสมบูรณ์ในปัจจุบัน ในปีพุทธศักราช 2508 ท่านได้เริ่มก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังปัจจุบันด้วยความมุ่งมั่นจนเสร็จอย่างรวดเร็ว ต่อมาปีพุทธศักราช 2515 ท่านได้เริ่มลงมือก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมมาก แล้วมาเสร็จสิ้นพร้อมฉลองในปีพุทธศักราช 2521 สิ่งเหล่านี้คือผลงานชิ้นใหญ่ๆที่ท่านได้ก่อสร้างไว้ นอกจากนี้ยังมีเมรุเผาศพ ศาลาพักศพ ถนนคอนกรีตรอบวัด วัดไชยมงคลเป็นวัดที่ก่อตั้งมาได้ร้อยกว่าปีเศษ จึงมาถึงเวลาที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาส มีเสนาสนะพร้อมทุกอย่างที่จะทำให้พระเณรอยู่อย่างสบาย รองรับญาติโยมที่จะมาปฏิบัติธรรมได้อย่างสะดวก ท่านเคยปรารภเสมอว่าท่านมีความสุขกับการได้สร้าง ได้ทำทุกอย่างเพื่อพระศาสนา ท่านไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเลยกับการทำเพื่อพระศาสนา แม้กาลที่ท่านชราภาพมากแล้วก็ตาม
ในวาระสุดท้าย
นอกจากที่ท่านเป็นพระนักพัฒนาแล้วยังเป็นที่พึ่งทางใจของญาติโยมอีกด้วย ทั้งการรักษาผู้ถูกคุณไสย การรักษาผู้ถูกภูตผีกระทำ จนท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ถือเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดังในระดับประเทศองค์หนึ่งทีเดียว แต่ด้วยท่านมีอุปนิสัยสมถะ ไม่พูดมาก ไม่เคยขออะไรใคร ไม่เคยออกซองเรี่ยไรชาวบ้านให้เดือดร้อน ท่านจะเคร่งในพระธรรมวินัยมาก จนบางครั้งคิดว่าท่านเป็นพระที่ดุ แต่ความจริงแล้วอุปนิสัยของท่านเป็นอย่างนี้มานานแล้ว ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ในชีวิตส่วนตัวของท่านไม่เคยเจ็บป่วยเลย แต่อาจจะเป็นการทำงานตรากตรำในการพัฒนาวัดอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย และช่วยปลดทุกข์ให้ญาติโยมที่มาหาท่านอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ท่านไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ และอาการของโรคต่างๆก็ปรากฏ เมื่อประมาณเดือนกันยายน ปีพุทธศักราช 2537 ท่านเริ่มมีอาการหายใจติดขัด คณะศิษย์จึงนำท่านส่งโรงพยาบาลประจำจังหวัดสรรพสิทธิประสงค์ ผลการตรวจปรากฏว่าท่านเป็นโรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจไม่มีกำลัง พร้อมกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ จึงได้ทำการรักษาจนอาการดีขึ้นเป็นบางครั้ง แต่บางครั้งก็ทรุดลง ช่วงเดือนธันวาคม 2537 คณะศิษย์และญาติโยมได้พาท่านไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ที่กรุงเทพพระมหานคร ประมาร 20 วันท่านก็กลับมาพักผ่อนที่วัดบ้านหนองแสง บ้านเดิมของท่าน แต่ไม่นานด้วยความเป็นห่วงวัดวาอารามท่านก็ย้ายมารักษาต่อที่วัดไชยมงคล ช่วงนี้อาการของท่านดีขึ้นมากท่านก็รับแขกรับญาติโยมตามปกติ ท่านไม่ค่อยฉันยาตามแพทย์สั่ง จึงทำให้สุขภาพเริ่มทรุดลงอีก เทียวเข้าโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2538 อาการของท่านทรุดลงมาก คณะศิษย์จึงนำท่านเข้ารักษาที่โรงพยาบาลร่มเกล้า จนวันที่ 10 พฤษภาคม พุทธศักราช 2538 ท่านต้องการกลับมาพักที่วัด จึงนำท่านกลับมาพักที่วัด โดยทางโรงพยาบาลร่มเกล้าได้จัดแพทย์พยาบาลมาดูแลท่านที่วัด พอวันรุ่งขึ้น ท่านเรือตรีดนัย เกตุสิริ โยมอุปถัมภ์วัดไชยมงคลมาพบสภาพหลวงปู่ จึงประสานงานไปทางนายแพทย์นภา สิงห์คุณา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ให้จัดคณะแพทย์มารับท่านไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลอีกครั้ง และทางคณะแพทย์ได้ทำการรักษาท่านอย่างเต็มความสามารถ จนกระทั่งวันที่ 15 พฤษภาคม 2538 เวลาประมาณ 23.30 น. ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์