ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

หมวดทั่วไป => ข่าวสารของทางชมรมฯและพูดคุยเรื่องทั่วไปสัพเพเหระ => ข้อความที่เริ่มโดย: คนโก้ ที่ 29 มีนาคม 2555, 07:31:49



หัวข้อ: ต้นแบบอุโบสถพอเพียง
เริ่มหัวข้อโดย: คนโก้ ที่ 29 มีนาคม 2555, 07:31:49
?โบสถ์ดินแห่งนี้สร้างจากแนวคิดแห่งความพอเพียง?

คำอธิบายจาก พระราชรัตนมงคล  ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช และ พระครูสังฆสิทธิกร หัวหน้าฝ่ายศาสนวิเทศ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ระหว่างร่วมพิธีกำหนดเขตและสวดถอนสีมา อุโบสถดิน วัดป่าพุทธนิมิตสถิตสีมาราม ต.เหล่าโพนค้อ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นโบสถ์ดินแห่งแรกของประเทศไทย

สิ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าอุโบสถดินแห่งนี้  สร้างโดยมุ่งเน้นในเรื่องความพอเพียงอย่างแท้จริง  คือการใช้ดินเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ซึ่งผลพวงที่ได้ตามมาอีกประการนั่นคือทำให้ภายในอุโบสถแห่งนี้เย็นสบาย

ที่สำคัญภายในอุโบสถยังมีเพียง พระพุทธศรีสุวัฒนเทวรัตนมุนี ซึ่งเป็นเพียงพระประธานในอุโบสถเท่านั้น ขณะที่ภาพจิตรกรรมโดยรอบผนังของโบสถ์ที่พุทธศาสนิกชนเคยคุ้นตาที่อุโบสถในวัดต่างๆ ก็จะไม่มีให้เห็นที่อุโบสถดิน

จากองค์ประกอบหลักทั้งการก่อสร้างและตกแต่งเหล่านี้ จึงส่งผลให้งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างอุโบสถดินแห่งนี้เพียง 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยมาก  หากเทียบกับการสร้างอุโบสถตามวัดต่างๆพระราชรัตนมงคล ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า ?การสร้างอุโบสถดินนี้ เพื่อต้องการให้เป็นต้นแบบของการสร้างอุโบสถอย่างพอเพียง  เพราะปัจจุบันมีการสร้างอุโบสถในราคาสูงถึง 10-100 ล้านบาท  แต่ไม่คุ้มค่าประโยชน์การใช้สอย  เพราะบางวัดมีพระจำพรรษาเพียงแค่ไม่กี่รูป ขณะเดียวกันยังสอดคล้องกับ แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นให้สร้างวัดแบบประหยัดและคุ้มค่าจากการใช้งาน ส่วนพื้นที่การสร้างอุโบสถดินที่  วัดป่าพุทธ-นิมิตฯ ก็ถือว่ามีความเหมาะสม  เนื่องจากเป็น วัดกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต?

และส่วนประกอบหนึ่งที่ต้องถือว่าเป็นความแปลกที่ไม่เหมือนอุโบสถอื่นใดในประ-เทศไทย นั่นก็คือภาพที่ใช้ตกแต่งภาย ในอุโบสถดินแห่งนี้ เป็น ภาพจิตรกรรมแนว  ?แอ็บ-สแตรกต์อาร์ต (Abstract Art)? ของ นางหนูแดง เย็น-สบาย จิตรกรผู้มีชื่อเสียงชาวไทย ที่สร้างผลงานประดับตกแต่งสนามบินโดฮา ประเทศกาตาร์ กว่า 100 ภาพ

พระครูสังฆสิทธิกร  บอกว่า นางหนูแดงซึ่งเป็นอุบาสิกาที่มีความศรัทธาใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  ทราบข่าวการจัดสร้างโบสถ์ดิน จึงอาสาที่จะวาดรูปให้เพื่อนำไปประดับไว้ในอุโบสถ โดยภาพที่นางหนูแดงวาดจะเป็น ศิลปะแนวแอ็บสแตรกต์  ที่หมายถึง เปลวรัศมีปัญญาในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งหากมองผ่านๆ อาจจะไม่เข้าใจภาพเหล่านี้  แต่หากมีการตั้งใจ  มีสมาธิในการดูภาพแล้วจะสามารถเข้าใจได้ไม่ยากและด้วยการตกแต่งในลักษณะดังกล่าวทำให้อุโบสถดินแห่งนี้ถือว่าเป็น Buddhism Art Gallery แห่งเดียวในประเทศไทย

สำหรับการก่อสร้างอุโบสถดินที่วัดป่าพุทธนิมิตฯแห่งนี้ เป็นอุโบสถดินแห่งแรกที่สร้างแล้วเสร็จ จากทั้งหมด 4 แห่งทั่วประเทศ ที่ทางสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ดำเนินการขึ้นเพื่อ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ โครงการจัดสร้างอุโบสถดินทั้ง 4 แห่ง และมีกำหนดสร้างแล้วเสร็จในปี 2556 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 86 พรรษา และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเจริญพระชนมายุ 100 พรรษา

อุโบสถดินที่วัดป่าพุทธนิมิตฯจึงนับได้ว่าเป็นอุโบสถดินแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดสร้างขึ้น ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2554 โดยมีการนำดินจากสังเวชนียสถาน 4  แห่ง คือสถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า จากประเทศเนปาลและอินเดีย มาผสมและใช้ในการก่อสร้างเพื่อความเป็นสิริมงคลในการสร้างอุโบสถดินด้วย

สำหรับขนาดของอุโบสถดิน มีขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 15 เมตร รองรับพระภิกษุได้ไม่น้อยกว่า 50 รูป ส่วนแรงงานที่จะนำมาจัดสร้างจะเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำที่กำลังจะพ้นโทษและผ่านการอบรมการฝึกอาชีพก่อสร้างบ้านดินของกรมราชทัณฑ์ มาร่วมจัดสร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯด้วย

และอุโบสถดินแห่งที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ วัดสันติวรคุณ อ.สะเดา จ.สงขลา ก็กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการสร้างซึ่งใกล้จะเสร็จแล้ว ขณะเดียวกันทางสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเลือกสถานที่ในการจะจัดสร้างโบสถ์ดินอีก 2 แห่ง ว่าจะจัดสร้างขึ้นที่จังหวัดใด เพื่อให้ครบทั้ง 4 ภูมิภาค

ทีมข่าวศาสนา หวังว่า โครงการสร้างอุโบสถดินทั้ง 4 ภาคนี้ จะช่วยสร้างกระแสความพอเพียงให้เกิดขึ้นที่วัดต่างๆได้บ้าง

เพราะเรามองว่าศรัทธาที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่อลังการ แต่หมายถึงการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาให้พุทธศาสนิกชนเรียนรู้โดยการประพฤติดีปฏิบัติชอบ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

สำคัญที่สุดคือ สามารถเข้าถึงแก่นแท้ในคำสอนของพระพุทธองค์ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ตลอดจนประเทศชาติ.
 
ทีมข่าวศาสนา  นสพ.ไทยรัฐ
www.thairath.co.th