จาก ? หนังสือสวดมนต์ทำวัตรเช้า - เย็น (แปล)
คุณแม่เกษแก้ว ทองเกลี้ยง บุตร ? ธิดา หลานทุกคน เนื่องในงานทำบุญกฐิน
ถวายวัดสิงหาญ อ.ตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่
นายหงส์ ทองเกลี้ยง และ ร.อ.สุริยา ทองเกลี้ยง วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๗
หลวงปู่กรรมฐานแพง จันทสาโร(แพง พรหมสีใหม่) เกิดเมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก บิดาชื่อชาพิจิตร(มา) พรหมสีใหม่ มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอุปฮาด(อุปราช) เมืองตระการพืชผล มารดาชื่อผิว พรหมสีใหม่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน เป็นชาย ๖ คน หญิง ๑ คน ดังนี้
๑.สมเด็จสอน (ถึงกาลมรณะภาพขณะอยู่ในเพศบรรพชิต)
๒.หลวงปู่กรรมฐานแพง จันทสาโร
๓.อาจารย์ทอง (ถึงแก่กรรม)
๔.อาจารย์ไพ (นายไพ เทพสิทธา) ได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น ?เทพสิทธา? ตามขุนกสิกรพิศาล ได้รับพระราชทาน (นายกัณหา พรหมสีใหม่ บิดาของขุนกสิกรพิศาล เป็นบิดาน้องชายนายชาพิจิตร) (ถึงแก่กรรม)
๕.อาจารย์สิงห์ (ถึงแก่กรรม)
๖.นายเพ็ง (ถึงแก่กรรม)
๗.นางนวล อินโสม
ถือว่าเป็นตระกูลที่มีใจฝักใฝ่แก่การศาสนาและเป็นนักบวชเสียส่วนมาก เรียกว่าเกือบทั้งหมดของลูกชาย นับว่าเป็นตระกูลนักปราชญ์ เป็นครูบาอาจารย์สืบทอดต่อกันมายังลูกหลาน ซึ่งได้ใช้นามสกุลใหม่ที่รับพระราชทานมา คือ ?เทพสิทธา?
ในปัจจุบันสกุล ?เทพสิทธา? ได้รับราชการเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียง และสร้างคุณงามความดีอย่างเต็มกำลังความสามารถอย่างเช่น คุณสมพร เทพสิทธา
หลวงปู่กรรมฐานแพง เป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธศาสนามากท่านหนึ่ง โดยเฉพาะในสายวิปัสสนากรรมฐาน บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๕ ปี ณ. วัดสิงหาย บ้านสะพือ ตำบลตระการพืชผล อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นวัดบ้านเกิด เมื่ออายุ ๑๗ ปีได้ศึกษาวิชาสายวิปัสสนากรรมฐานกับอาจารย์พระครูสีดา(ญาท่านสีดา บ้านสะพือ) พออายุครบบวชได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ออกเดินทางธุดงค์ไปศึกษาวิปัสสนาเพิ่มเติมกับพระอาจารย์ศรีทัตถ์(ญาท่านศรีทัตถ์) ที่เมืองท่าอุเทน จังหวัดนครพนม จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครหลวงพระบาง ประเทศลาวนานถึง ๖ ปี
ผ่านการศึกษาตามสายวิชาที่สนใจมาแล้ว จากนั้นก็เริ่มออกเดินธุดงค์ไปตามขุนเขาน้อยใหญ่ ทั้งป่ารกดงทึบที่มากไปด้วยภัยอันตรายต่างๆนานาทั่วทั้งไทยและลาว จากเหนือจรดใต้ ทั้งสิบสองปันนา สิบสองเจ้าไท ตลอดไปจนถึงเวียตนามและกัมพูชาหรือที่เรารู้จักและเรียกกันว่าเขมร อาศัยอยู่ตามคูหาและหลืบถ้ำในป่าดงดิบ เช่น ถ้ำพระฤษีที่ประเทศลาว
ออกจากเขมรกลับเข้าไทย ออกจากไทยต่อเข้าประเทศพม่า การไปพม่าจะไปทางเมืองมะระแหม่ง ธุดงค์ไปจนสุดแผ่นดินไม่สามารถจะไปต่อได้เพราะไม่มีแผ่นดินให้เดิน เมื่อท่านธุดงค์ไปจนสุดขอบแผ่นดินที่เบื้องหน้าเป็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ของทะเล
เมื่อไปจนสุดแผ่นดินแล้วท่านจึงธุดงค์มุ่งหน้ากลับบ้านสะพือ ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมื่ออายุได้ ๓๐ ปี(หลังบวชเป็นพระภิกษุได้ ๑๐ พรรษา) ตลอดระยะเวลาที่ท่านออกธุดงค์กรรมฐานนั้น พ่อแม่ญาติศรีพี่น้องทุกคนต่างก็นึกว่าท่านมรณภาพไปแล้ว นั่นก็เพราะว่านับตั้งแต่ท่านออกจากบ้านไป ก็ไม่เคยได้ส่งข่าวกลับมาบอกใครๆที่บ้านอีกเลยว่าท่านไปทำอะไรหรือไปอยู่ที่ไหน
กรณีนี้เข้าใจว่า อาจจะเป็นเพราะท่านเฝ้าแต่เพียรปฏิบัติฝึกฝนภาวนาอยู่ตามป่าตามเขา จนไม่มีเวลาหรือโอกาสส่งข่าวบอกใครก็เป็นได้
.........................
หลังกลับมาเยี่ยมบ้านและเผยแพร่ธรรมะให้กับญาติๆได้ระยะหนึ่ง ท่านก็เริ่มออกธุดงค์อีกครั้ง คราวนี้ไปลาวใต้ มุ่งหน้านครจำปาสัก
ที่แขวงจำปาสักนี้ มีเหตุสำคัญทำให้ท่านมีอันต้องลาสิกขาจากร่มกาสาวพัตร์อยู่ที่บ้านเวินไชย อำเภอเมืองเก่า แขวงจำปาสัก ประเทศลาว ไปมีครอบครัวอย่างสามัญอยู่นานถึง ๙ ปี ช่วงเวลานี้ว่ากันว่าเป็นช่วงเวลาที่ท่านต้องการชำระกรรม ล้างสัญญาเดิมที่เหลือหมดสิ้นไปจึงได้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
เมื่อสิ้นสัญญาเดิมหมดกรรมเก่า ท่านได้กลับมาอุปสมบทอีกเป็นครั้งที่ ๒ ณ.บานเวินไชย อำเภอเมืองเก่า แขวงนครจำปาสัก ประเทศลาว ได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานตลอดจนหลักธรรมต่างๆเพิ่มเติมที่นี่กับท่านสมเด็จลุน ได้ถือโอกาสฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านสมเด็จลุน ซึ่งท่านสมเด็จลุนองค์นี้ เป็นที่เลื่องลือว่ามีกิตติคุณเป็นผู้มีธรรมวิเศษ หาตัวจับยากองค์หนึ่งในยุคสมัยนั้น ว่ากันว่าท่านสามารถบรรลุธรรมอันสูงสุดได้ ในขณะที่ยังครองสังขารอยู่ในช่วงวัยอันน่าฉงน และเป็นผู้แตกฉานในทุกด้านไม่ว่าจะด้านปริยัติหรือปฏิบัติ ทั้งยังเป็นผู้เข้าใจในปาฏิโมกข์อย่างไร้ข้อกังขาอีกด้วย กฤษดาภินิหาริย์ของท่านสมเด็จลุนขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ
ต่อมาท่านได้อุปสมบทอีกเป็นครั้งที่สอง ณ บ้านเวินไชย อำเภอเมืองเก่า แขวงนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ได้ศึกษาวิปัสสนาตลอดจนหลักธรรมต่าง ๆ เพิ่มเติม จากท่านสมเด็จลุน ณ บ้านเวินไชย (เป็นลูกศิษย์สมเด็จลุน) ท่านสมเด็จลุนองค์นี้ เป็นที่ลือชาปรากฏว่าเป็นผู้บรรลุธรรมวิเศษ สามารถเหยียบเรือกำปั่นใหญ่ของฝรั่งเศส ให้จมน้ำโขงได้
และได้จากบ้านเวินไชย มาจำพรรษาอยู่ที่บ้านด่าน อำเภอโขงเจียม จากบ้านด่าน มาจำพรรษาที่อยู่บ้านคำผ่าน และวัดทุ่งศรีทวีผล บ้านสะพือ จึงได้มาเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่ วัดสิงหาญ บ้านสะพือ
ต่อมาลูกหลานทางเมืองอุบล ซึ่งมีนายไพ เทพสิทธา น้องชาย พร้อมด้วยญาติและลูก ๆ หลาน ๆ เห็นว่าท่านชรามากแล้ว จึงได้พร้อมใจกันสร้างกุฏิขึ้นหลังหนึ่งที่วัดปทุมมาลัย จังหวัดอุบลราชธานี ถวายท่าน แล้วนิมนต์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมมาลัย แต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕ - ๒๕๐๗
ท่านเห็นว่าท่านชรามากแล้ว จึงขอกลับไปอยู่บ้านเกิด ขอตายอยู่กับครูอาจารย์ที่มาติภูมิ ลูกหลานและศิษย์สานุศิษย์ของนิมนต์ไว้ ให้จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมต่อไป ท่านก็ไม่ยอม จึงได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสิงหาญ บ้านสะพือ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ และได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๙ ตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเมีย เวลา ๐๑.๒๕ น. ด้วยอาการสงบ ( ซึ่งท่านบอกเวลาไว้ล่วงหน้าว่า ตีหนึ่งวันใหม่ท่านจะจากไป ) รวมอายุได้ ๘๒ ปี
ตลอดระยะเวลาที่อยู่บำเพ็ญในบวรพุทธศาสนา ท่านเป็นร่มโพธิ์ร่มทองของพุทธศาสนิกชนแผ่เมตตาให้แก่คนทั่วไป ซึ่งท่านมีศิษย์สานุศิษย์มากมาย ทั้งประเทศลาวและประเทศไทยชื่อเสียงและคุณงามความดีของท่านแผ่กระจายทั่วไป ในนามกัมฐานแพง ศิษย์สมเด็จลุน ซึ่งใคร ๆ ย่อมทราบดี ก่อนจะมรณภาพ ท่านได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ เป็นพระประธานในอุโบสถ พร้อมด้วยโต๊ะหมู่บูชา ที่วัดบูรพาตำบลสะพือ อำเภอตระการพืชผล เพื่อเป็นสาธารณะกุศลด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก http://forum.ampoljane.com/index.php?showtopic=1292&st=0 มา ณ ที่นี้ด้วยครับ