อุโบสถวัดหินหมากเป้ง ในราว พ.ศ. ๒๕๐๙ นายกอง ผิวศิริ อยู่บ้านโคกซวก ตำบลพระพุทธบาทนี้ มีจิตศรัทธาสร้างพระประดิษฐานบนก้อนหินใหญ่ หันหน้าไปทางแม่น้ำโขง ทำด้วยหินปูน และทราย ไม่ได้ผูกเหล็ก โดยใช้หินก้อนใหญ่ที่หาเอาในบริเวณวัดนี้ผสมกับปูนและทรายก่อขึ้นเป็นองค์พระ แกหาทุนทรัพย์และดำเนินการหาช่างมาก่อสร้างด้วยลำพังตนเอง เราไม่เกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างไร ทราบว่าสิ้นเงินไปราว ๑,๐๐๐.๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาท) ได้พระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตักกว้างราว ๔ เมตรเศษ สูงตั้งแต่ฐานจรดยอดพระเกศราว ๕ เมตรเศษ แต่รูปร่างลักษณะก็มิได้งดงามอย่างนี้ เพราะช่างที่ว่าจ้างมานั้นเป็นช่างพื้นบ้านธรรมดาๆ ไม่มีความสามารถและชำนาญในการปั้นพระมากนักต่อมาเราได้หาช่างที่มีความสามารถมาตกแต่งแก้ไข โดยเฉพาะพระพักตร์ตกแต่งแก้ไขอีกสองสามครั้งจึงสำเร็จเรียบร้อยสวยงามดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ เสร็จแล้วเราได้สร้างศาลาครอบองค์พระไว้ โดยทุนของวัดและพระเณรช่วยกันทำเอง
ต่อมาทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เราจึงพิจารณาเห็นว่าวัดหินหมากเป้งแห่งนี้ นับว่าเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยสมบูรณ์ สมควรที่จะมีอุโบสถไว้เพื่อประกอบสังฆกรรมตามธรรมวินัย เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาสืบไป และเห็นว่าบริเวณที่ประดิษฐานพระองค์ใหญ่นั้น หากจะสร้างอุโบสถครอบไว้แล้วคงจะเหมาะสมดีนัก เมื่อเสร็จแล้วจะได้ทั้งพระอุโบสถและพระประธานพร้อมกันทีเดียว
จึงได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พลอากาศโท ชู สุทธิโชติ เป็นประธานฝ่ายฆารวาส
อุโบสถหลังนี้ทำเป็นหลังคาสองชั้น กว้าง ๗ เมตร ยาว ๒๑ เมตร สูงจากพื้นถึงเพดาน ๙ เมตร มุงกระเบื้องดินเผากาบกล้วย โดยคุณไขศรี ตันศิริ กรมอนามัย เป็นผู้ออกแบบ อาจารย์เลื่อน พุกะพงษ์ แห่งกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบลวดลายต่างๆ ตลอดจนแนะนำการก่อสร้าง นายไพบูลย์ จันทด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เฉพาะค่าแรงงานราคา ๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน) น.ท.พูนศักดิ์ รัตติธรรม เป็นผู้หาเครื่องอุปกรณ์ที่มีอยู่ทางกรุงเทพฯ นายแสงเพ็ชร จันทด เป็นเหรัญญิก และหาอุปกรณ์ตลอดจนควบคุมการก่อสร้างโดยใกล้ชิด ทุนทรัพย์ที่ใช้ในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้นประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดแสนบาท) ได้จากท่านผู้มีจิตศรัทธาทั้งสิ้น ได้จัดให้มีการฉลองอุโบสถ ยอช่อฟ้า ผูกพัทธสีมาตัดลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๕ - ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยมีเจ้าพระคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และพลอากาศโท ชู สุทธิโชติ เป็นประธานฝ่ายฆารวาสอีกเช่นกัน
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้ทำการซ่อมแซมเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาเป็นกระเบื้องซีแพคโมเนีย ทำช่อฟ้าใบระกาคันทวยหางหงส์ ทำลวดลายปูนปั้นซุ้มประตู หน้าต่าง บัวหัวเสา กำแพงแก้วรอบอุโบสถ ทาสีทั้งภายในและภายนอก สิ้นทุนทรัพย์ ๔๕๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ทำการปิดทองพระประธานองค์ใหญ่สิ้นทุนทรัพย์อีก ๒๙๙,๕๐๐๐.๐๐ บาท (สองแสนเก้าหมื่นเก้าพันห้าร้อยบาทถ้วน)
มณฑปแห่งวัดหินหมากเป้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ เราได้พิจารณาเห็นว่า สถานที่ตรงริมแม่น้ำโขงนี้เป็นทำเลเหมาะ คิดอยากจะสร้างมณฑปขึ้นสักหลังหนึ่ง ให้มีลักษณะเป็นศิลปะแห่งลุ่มแม่น้ำโขง
เพื่อเป็นสถานที่ประดิษฐานสิ่งสักการบูชา มีพระพุทธรูปพระบรมสารีริกธาตุเป็นอาทิ นอกจากนั้นเราได้แอบนึกปรารภไว้ในใจว่าเพื่อความไม่ประมาท หากเรามีอันเป็นไปก็จะได้ไม่ต้องเป็นภาระให้คนอยู่หลังจัดหาที่เก็บกระดูกของเราให้ยุ่งยากไปด้วย
เราได้ปรารภความประสงค์การจัดสร้างมณฑปนี้แก่บุคคลเป็นจำนวนมาก แต่ในที่สุดเรื่องนั้นจำต้องเงียบหายไป เพราะไม่มีทุนทรัพย์
ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๐ คุณประพัฒน์ เกษสอาด ได้มาเยี่ยมที่วัด เราได้ปรารภเรื่องนี้อีก คุณประพัฒน์เกิดความสนในเห็นดีด้วย ได้รับอาสาว่าจะเขียนแบบแปลนตัวมณฑปมาให้ดู เมื่อคุณประพัฒน์เขียนแบบโครงร่างมณฑปเสร็จแล้วก็นำไปปรึกษาคุณประเวศ ลิมปรังสี ผู้อำนวยการกองหัตถศิสป์แห่งกรมศิลปากรให้ช่วยพิจารณาตกแต่งแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆ ของตัวมณฑป คุณประเวศ เป็นผู้ที่สันทัดกับศิลปกรรมแห่งลุ่มแม่น้ำโขงผู้หนึ่งในปัจจุบันนี้ ได้ให้ความสนใจช่วยเหลือด้วยความยินดียิ่งและในโอกาสต่อมาก็เป็นผู้รับออกแบบตรวจตราแก้ไขเพิ่มเติมงานก่อสร้างมณฑป ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสำเร็จสมบูรณ์ รวมทั้งการตกแต่งภายในด้วย
เมื่อแบบแปลนมณฑปเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณประพัฒน์ได้นำมาให้ดู นับว่าเป็นแบบมณฑปที่งดงามสง่าน่าดูหลังหนึ่งทีเดียว แต่ยังมิได้คำนวณเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างซึ่งเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงได้นำแบบแปลนกลับไปดำเนินงานต่อแล้วก็หายเงียบไปอีกครั้งหนึ่ง เป็นระยะเวลานานพอสมควร จนคิดว่าคงจะไม่สำเร็จเสียแล้ว เราจึงได้ตัดสินเลิกล้มความคิดที่จะทำเสีย
ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๒ คุณประพัฒน์ ได้มาพบเราในระยะที่เงียบหายไปนั้น เธอได้นำแบบไปให้วิศวกรช่วยคำนวณโครงสร้างคอนกรีตของตัวอาคารอยู่ และในเวลาเดียวกันก็ได้พยายามหาผู้มาช่วยคำนวณพื้นฐานรากด้วย เมื่องานยังไม่เสร็จจึงยังไม่ได้มาแจ้งเรื่องราวให้ทราบ เธอขอดำเนินการต่อไป
เมื่อนายแพทย์วันชัย พงศ์พิพัฒน์ แห่งโรงพยาบาลพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ผู้เคยมาบวชและจำพรรษาที่วัดหินหมากเป้งนี้ เมื่อทราบเรื่องเข้าก็ถวายเงินให้ไว้สองแสนบาทเพื่อเริ่มต้นงานก่อสร้าง และภายหลังยังได้ถวายเพิ่มอีกหนึ่งแสนบาท
ตัวมณฑปเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่ ๓ ชั้น ความกว้าง x ยาววัดได้ ๑๓ x ๑๓ เมตร ส่วนสูงประมาณ ๓๖ เมตร ได้อาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายร่วมกันพิจารณาและดำเนินการ กล่าวคือ งานด้านสถาปนิกและศิลปกรรม คุณประพัฒน์และคุณประเวศเป็นผู้ควบคุมดูแล งานด้านโครงสร้างอาคารซึ่งเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมดนั้น ร.อ.ชัยชาญ ภิญญาวัธน์ ร.น. เป็นผู้คำนวณให้ ส่วนความมั่นคงของฐานรากของมณฑปหลังนี้ ซึ่งมีความยากลำบากเป็นพิเศษ เพราะพื้นฐานรากทั้งหมดของตัวอาคารต้องสร้างลงบนดินตลิ่งที่ลาดชันของฝั่งแม่น้ำโขง จะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ การนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชัย มุกตพันธุ์ ได้รับภาระมาตรวจสอบพื้นที่และชั้นหินต่างๆ แล้วออกแบบกำหนดฐานรากอาคารให้ทั้งหมด ทั้งๆ ที่ท่านมีงานรัดตัวอยู่มากมาย ก็ยังหาโอกาสปลีกตนและเวลามาเป็นธุระให้ด้วยความยินดี น่าอนุโมทนาในกุศลจิตของท่าน
ผู้ทำการก่อสร้างคือ คุณประมุข บรรเจิดสกุล แห่งบริษัท ป.ว.ช. ลิขิตการสร้าง ได้ช่วยเหลือถือเสมือนเป็นการก่อสร้างของตัวเอง มีสิ่งใดไม่ดีไม่เหมาะก็พยายามแก้ไขดัดแปลงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ แม้ว่าจะอยู่นอกรายการข้อผูกพันสัญญาก็ตาม การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นได้ การทำสัญญาการก่อสร้างฉบับแรกเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒ และฉบับที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ปีเดียวกันในราคาการก่อสร้างทั้งสิ้น ๒,๗๑๖,๙๑๓ (สองล้านเจ็ดแสนหนึ่งหมื่นหกพันเก้าร้อยสิบสาม) นี้เป็นราคาเริ่มแรกภายหลังต่อมาได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมรายการต่างๆ เพื่อความเรียบร้อยสวยงามและเหมาะสมขึ้นไปอีกเมื่อรวมเบ็ดเสร็จแล้วค่าก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณหกล้านบาท
เมื่อการก่อสร้างเริ่มขึ้น ก็มีผู้มีจิตศรัทธาถวายปัจจัยร่วมการก่อสร้างมาโดยลำดับ คุณกษมา (ตุ๊) ศุภสมุทร ถวายหนึ่งแสนบาท คณะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทการบินไทย ได้ร่วมกันทอดกฐินสามัคคี ปี ๒๕๒๒ เพื่อหาปัจจัยสร้างมณฑปได้เงินหกแสนสี่หมื่นบาท กรมการศาสนาอนุมัติเงินอุดหนุนสองแสนห้าหมื่นบาท และเมื่อการก่อสร้างดำเนินมาจนปรากฏเป็นรูปเป็นร่างบ้างแล้ว ก็มีผู้ศรัทธามาจากทั่วทุกสารทิศ เป็นรายบุคคลบ้าง เป็นคณะบ้าง มาได้เห็นการก่อสร้างก็เกิดจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบทุนการก่อสร้างเป็นอันมาก จนเหลือที่จะกล่าวนามท่านเหล่านั้นได้ในที่นี้ได้หมดสิ้น ผู้ที่ร่วมบริจาคมากที่สุดและเป็นกำลังสำคัญเห็นจะเป็น คุณธเนตร เอียสกุล ได้บริจาควัสดุอุปกรณ์และเงินสด ซึ่งเมื่อคิดรวมทั้งหมดแล้วก็เป็นมูลค่ามากกว่าหกแสนบาท นับว่าเป็นกำลังอันสำคัญผู้หนึ่งทีเดียว
มณฑปหลังนี้ นับว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่ค่อนข้างพิเศษ กล่าวคือ ได้รับการเอาใจใส่และเลือกสรรอย่างพิเศษทุกขั้นตอน เริ่มแต่การเลือกตำแหน่งสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งจะเห็นว่าเป็นจุดที่เด่นและเหมาะสม เมื่อมองจากภายในอาคารสามารถเห็นทิวทัศน์โดยรอบ ไม่มีจุดอับ การออกแบบรูปทรงของอาคารเป็นมณฑป ซึ่งมีความงดงาม มีลักษณะพิเศษ เป็นศิลปะแห่งลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ โครงสร้างตลอดจนฐานรากสร้างอย่างแข็งแรงเป็นพิเศษ ทั้งนี้ด้วยความมุ่งหมายจะให้เป็นถาวรวัตถุเป็นปูชนียสถานอันมั่นคงไว้ชั่วกาลนาน
พระพุทธรูปประธานราคา ๙๕,๐๐๐ บาท บริษัท ป.ว.ช. ลิขิตการสร้าง และคุณจวบจิต รอดบุญ คุณโรส บริบาลบุรีภัณฑ์ และคณะ ออกคนละครึ่ง เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นอย่างงดงามสมส่วนในลักษณะศิลปะร่วมสมัย โดยปฏิมากรผู้ชำนาญแห่งกรมศิลปากร มีความสง่างามและมีความนุ่มนวลเป็นพิเศษ ผิดไปจากพระพุทธรูปตามวัดหรือปูชนียสถานอื่นๆ
ชุกชีที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป พร้อมทั้งเครื่องประดับประดาตกแต่งทั้งหมด น.พ.แสวง วัจนะสวัสดิ์ และญาติมิตรเป็นผู้ถวายค่าก่อสร้าง เป็นเงินสี่แสนสองหมื่นห้าพันบาท
ความพิเศษสุดท้าย ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นความพิเศษยอดสุดก็คือว่า
มณฑปหลังนี้สำเร็จเป็นรูปร่างขึ้นมาได้ก็ด้วยแรงศรัทธาล้วนๆ ทุนทรัพย์ที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมด มาจากการบริจาคด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์ของสาธุชนทั้งหลาย โดยที่
ทางวัดไม่ได้มีการเรี่ยไรหรือออกฎีกาบอกบุญแต่อย่างใดเลย นับว่าเป็นความพิเศษอย่างยิ่งออกที่จะมีได้ในยุคปัจจุบันนี้
นับตั้งแต่ริเริ่มมา จนกระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงได้ในที่สุด ก็ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากคนหลายฝ่าย ซึ่งต่างก็มาร่วมมือร่วมใจกันด้วยความยินดี เต็มอกเต็มใจ ทั้งนี้เพราะทุกคนที่เราได้กล่าวนามถึงก็ดี ไม่ได้กล่าวนามก็ดี ต่างก็มีศรัทธาตรงกัน จึงได้มาร่วมกันทั้งกำลังทรัพย์ ทั้งกำลังกาย กำลังปัญญา ความคิดอันเป็นเหตุผลักดันให้เกิดมณฑปที่ทรงความสง่าเป็นเอก ยากที่จะมีอาคารหรือปูชนียสถานอื่นในสมัยนี้ทัดเทียมได้ สมควรที่สาธุชนทั้งหลายจะได้มีความภาคภูมิใจ เราปลื้มปีติในกุศลเจตนา และขออนุโมทนาในส่วนกุศลอันเกิดจากศรัทธาของท่านทุกผู้ทุกคน
อนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ทำการซ่อมแซมทาสีภายนอกใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งปิดทองแต่สันหลังคาขึ้นไปจรดยอดมณฑปสิ้นทุนทรัพย์อีก ๓๓๗,๗๕๐.๐๐ บาท (สามแสนสามหมื่นเจ็ดพันเจ็ดร้อยห้าสิบบาทถ้วน) ซึ่งก็ได้จากศรัทธาของท่านสาธุชนทั้งหลายที่พร้อมใจกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและเป็นอนุสรณ์แก่เราผู้สร้างซึ่งมีอายุครบ ๙๐ ปีบริบูรณ์ เมื่อ ๒๖ เมษายน ๒๕๓๕ นั้นด้วย
ศาลาเทสรังสี ปฐมศาลาของวัดหินหมากเป้งเป็นศาลาโรงฉันย่อมยกพื้นสูง เสาไม้ พื้นปูไม้กระดาน ฝาใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ หลังคามุงด้วยสังกะสี มีสภาพไม่คงทนถาวร เมื่อเราได้มาพักอยู่ที่นี้ได้ในราวสองปี ญาติโยมทางกรุงเทพฯ ก็เดินทางมาที่แห่งนี้มากขึ้น เมื่อได้มาพบเห็นสถานที่แล้วชอบใจเกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงร่วมใจกันหาเงินมาก่อสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่แทนศาลาหลังเดิมซึ่งชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว
ศาลาการเปรียญที่ก่อสร้างขึ้นนั้น มีลักษณะเป็นเรือนไม้ทรงไทย สองชั้น ขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๗ เมตร โดยใช้แรงงานของพระภิกษุสามเณรช่วยกันก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่ สร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๐ ค่าก่อสร้างเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๘๔,๗๖๓.๐๐ บาท (แปดหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยหกสิบสามบาทถ้วน) และได้ให้นามศาลาหลังนั้นว่า "ศาลาเทสก์ประดิษฐ์"
กาลเวลาล่วงเลยมาโดยลำดับ ญาติโยมจากทางกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ได้พากันมาที่วัดหินหมากเป้งนี้มากขึ้น กอปรด้วยการคมนาคมสะดวกขึ้น เพราะทางราชการได้ตัดถนนผ่านหน้าวัด พระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ที่มาอยู่พักจำพรรษารักษาศีลปฏิบัติภาวนา ทั้งที่มาอยู่ประจำและมาพักเป็นครั้งคราวก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงเทศกาลวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาศาลาการเปรียญที่มีอยู่จึงไม่สามารถจะต้อนรับญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาได้เพียงพอ ประกอบกับศาลาเทสก์ประดิษฐ์ก็ชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากปลวกกัดกินจนเสียหายเป็นบางส่วน อาจจะไม่ปลอดภัยและอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ในภายหน้า คณะกรรมการวัดหินหมากเป้งจึงได้มาปรึกษาหารือกันกับเรา และมีความเห็นพ้องตรงกันว่าควรจะสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ให้กว้างขวางและคงทนถาวรขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นที่ประกอบศาสนกิจสืบต่อไป
ศาลาการเปรียญหลังใหม่นี้ได้สร้างขึ้นที่เดิม โดยรื้อศาลาหลังเก่าออกเสีย มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ขนาดกว้าง ๒๓.๐ เมตร ยาว ๔๔.๐ เมตร ชั้นบนภายในตัวอาคารเป็นห้องโถงตลอด ปูพื้นด้วยไม้ปาร์เก้ กั้นฝาโดยรอบด้วยกระจกกรอบอะลูมิเนียม พร้อมทั้งติดประตูหน้าต่างโดยรอบ ระเบียงและชานศาลารอบตัวอาคารปูพื้นด้วยหินอ่อน ชั้นล่างเป็นห้องโถงตลอด ปูพื้นด้วยหินอ่อนทั้งหมด ชานพักบันไดและขั้นบันไดทำด้วยหินกรวดล้าง
การออกแบบโดย อาจารย์สาคร พรหมทะสาร แห่งวิทยาลัยเทคนิคหนองคาย ทำสัญญาจ้างเหมาแรงงานกับ นายกองศรี แก้วหิน เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๘ โดยทางวัดเป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้างทั้งหมด การก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ ค่าก่อสร้างทั้งศาลาการเปรียญและหอระฆัง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๗,๖๙๓,๙๒๖.๕๒ บาท (เจ็ดล้านหกแสนเก้าหมื่นสามพันเก้าร้อยยี่สิบหกบาทห้าสิบสองสตางค์) เสร็จแล้วได้ขนานนามศาลาหลังนี้ว่า "ศาลาเทสรังสี พ.ศ. ๒๕๒๙"
จิตกรรมฝาผนัง ภายหลังบรรดาศิษยานุศิษย์ได้มีจิตศรัทธา จะให้มีการวาดภาพจิตกรรมฝาผนังบนผนังศาลาการเปรียญชั้นบน จึงได้ว่าจ้างช่างเขียนภาพจิตกรรมฝาผนังด้วยสีน้ำมันอย่างดี ช่วงกลางเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนประสูติ เสด็จออกบรรพชา ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ช่องด้านขวามือเป็นภาพเรื่องราวเกี่ยวกับวัดหินหมากเป้ง ด้านซ้ายมือเป็นภาพพระธาตุพนม และเรื่องราวประเพณีท้องถิ่นภาคอีสาน โดยทำสัญญาจ้างกับ นายสามารถ ทองสม เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๐ ในราคา ๖๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หกแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) กำหนดแล้วเสร็จภายใน ๑๒ เดือน ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมของคุณไข่มุกด์ ชูโต
หอระฆัง ต่อมาได้สร้างหอระฆังไว้ตรงมุมศาลาด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการก่อสร้างหอระฆังดังกล่าวนั้น คุณธเนตร เอียสกุล มีจิตศรัทธาบริจาคค่าแรงงานในการก่อสร้างทั้งหมดตามสัญญาจำนวน ๓๕๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) และได้หล่อระฆังมาถวายอีกด้วยในราคา ๖๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หกหมื่นบาทถ้วน)
หอสมุดวัดหินหมากเป้ง หอสมุดเดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ตั้งอยู่ตรงอาคารหอสมุดหลังปัจจุบันนี้ เมื่อทางวัดได้ดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญใกล้จะแล้วเสร็จตามสัญญา เราได้พิจารณาเห็นว่าควรจะสร้างอาคารหอสมุดขึ้นใหม่ ให้มีสภาพสอดคล้องกับศาลาการเปรียญ ก็ได้รับความช่วยเหลือด้วยดีจาก คุณชัชวาลย์ พริ้งพวงแก้ว แห่งบริษัท ดีไซน์ ๑๐๓ จำกัด กรุงเทพฯ ช่วยออกแบบแปลนให้ มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สองชั้น ขนาดกว้าง ๑๒.๓๐ เมตร ยาว ๑๓.๐๐ เมตร หลังคาทรงไทยแบบสามมุข มีหน้าบันทำลวดลายปูนปั้นทั้งสามด้าน ทำสัญญาจ้างเหมาแรงงานกับ นายกองศรี แก้วหิน เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยทางวัดเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมด แล้วเสร็จตามสัญญา เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๙ สิ้นค่าก่อสร้างจำนวน ๗๒๕,๐๕๔.๖๓ บาท (เจ็ดแสนสองหมื่นห้าพันห้าสิบสี่บาทหกสิบสามสตางค์)
หอกลอง เมื่องานก่อสร้างหอสมุดเสร็จเรียบร้อยตามสัญญาแล้ว คุณธเนตร เอียสกุล ผู้มีศรัทธากล้าแข็งคนหนึ่ง ได้ปวารณาขออนุญาตต่อเรา ขอเป็นเจ้าภาพสร้างหอกลอง พร้อมกับจัดหากลองขนาดใหญ่มาถวาย เพื่อให้เป็นคู่กันกับหอระฆังสมบูรณ์แบบตามประเพณีนิยม ประกอบกับศรัทธาญาติโยมทางจังหวัดสกลนคร จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมุกดาหาร และบ้านขัวสูง มีจิตศรัทธาสร้างโปงขนาดใหญ่มาถวาย เราจึงได้ออกแบบและว่าจ้างให้ช่างมาทำหอกลองขึ้น ชั้นบนเป็นที่ตั้งกลอง ชั้นล่างเป็นที่แขวนโปง สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงิน ๖๕,๐๐๐.๐๐ บาท (หกหมื่นห้าพันบาทถ้วน) คุณธเนตร รับเป็นเจ้าภาพออกเงินทั้งหมด
กุฏิเสนาสนะ กุฏิเสนาสนะที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่ต้องจัดให้มีขึ้นตามความเหมาะสม กุฏิที่สร้างขึ้นแต่แรกมาอยู่ใหม่ๆ เพียงไม่กี่หลัง บางหลังก็ชำรุดทรุดโทรมจำเป็นต้องซ่อมแซม หรือรื้อทำเสียใหม่ให้ถาวรก็มีขณะเดียวกันก็สร้างเพิ่มเติมขึ้นมาอีกด้วย เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของพระภิกษุสามเณรที่เพิ่มขึ้น
กุฏิในวัดหินหมากเป้งส่วนใหญ่เป็นกุฏิทรงไทยขนาดเล็กใหญ่ตามความเหมาะสม ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากศรัทธาของญาติโยมทั้งหลายมาปลูกสร้างถวายคนละหลังสองหลัง บางท่านถึงสามหลังก็มี เพื่อหวังประโยชน์แก่พระภิกษุสามเณรจะได้อยู่พักจำพรรษา และผู้ที่สนใจในการปฏิบัติก็มาขอปลูกบ้านพักเพื่ออยู่ภาวนาบำเพ็ญเพียร จนปัจจุบันนี้มีกุฏิถาวรสำหรับพระภิกษุสามเณรจำนวน ๕๖ หลัง บ้านพักชีและบ้านพักญาติโยมจำนวน ๓๗ หลัง ศาลาแม่ชี โรงครัว ห้องน้ำห้องส้วม ถังน้ำประปาขนาดใหญ่สำหรับจ่ายน้ำใช้ทั่วทั้งวัด เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเมื่อประมาณราคาแล้วมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า ๑๐ ล้านบาท
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ นายบุญ สกุลคู พร้อมด้วยญาติมิตรได้มีจิตศรัทธาสร้างอาคารมอบถวายเป็นอาคารเรียนนักธรรมแก่พระภิกษุสามเณรที่อยู่จำพรรษา เป็นอาคารชั้นเดียวหนึ่งหลัง สิ้นเงินค่าก่อสร้างในราว ๓๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน)
กำแพงวัด นับแต่เราได้มาอยู่ที่วัดหินหมากเป้งตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๘ การพัฒนาวัดและการก่อสร้างถาวรวัตถุก็ค่อยเจริญเป็นมาโดยลำดับ ด้วยแรงศรัทธาของบรรดาศิษยานุศิษย์และญาติโยมทั้งหลาย ขณะเดียวกันก็ซื้อที่ดินขยายอาณาเขตของวัดเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ นายสรศักดิ์ สร้อยสนธ์ (นายอำเภอศรีเชียงใหม่ขณะนั้น) ได้ช่วยเป็นธุระติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดิน เพื่อขอเอกสารสิทธิต่อทางราชการถูกต้องตามกฏหมายจนสำเร็จเรียบร้อยตามประสงค์ ปรากฏตามหลักฐานหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๐๐๐๑ เล่มที่ ๑ ก.หน้าที่ ๐๑ ออกให้เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เนื้อที่ ๒๖๑ ไร่ ๒ งาน ๙๒ ตารางวา นับว่าเป็นสถานที่แห่งแรกและแห่งเดียวในเขตพื้นที่นี้ที่ได้รับเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฏหมาย
เราจึงพิจารณาเห็นว่าวัดหินหมากเป้งก็มีการพัฒนาเจริญขึ้นมากแล้ว บ้านเมืองโดยเฉพาะหมู่บ้านใกล้เคียงก็เจริญขยายกว้างขวางขึ้นโดยลำดับ สมควรที่จะกำหนดเขตแดนของวัดให้เป็นเอกเทศส่วนหนึ่งต่างหากให้ชัดเจน จึงได้ขอความร่วมมือไปยังสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) จังหวัดหนองคาย ก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีจาก คุณวรพจน์ ธีระอำพน หัวหน้าสำนักงานในด้านการออกแบบการปรับปรุงพื้นที่เตรียมการก่อสร้างและทำถนนดินรอบแนวกำแพงหลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว โดยได้ส่งช่างผู้ชำนาญงานมาคอยดูแลช่วยเหลือตลอดจนงานแล้วเสร็จ
ทำสัญญาจ้างเหมาทั้งแรงงานและวัสดุอุปกรณ์กับนายกองศรี แก้วหิน เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๙ ด้านหน้าจากประตูใหญ่ไปจนสุดเขตแดนทางทิศตะวันตก ความยาว ๖๕๔ เมตร ทางทิศตะวันตกทำไปจนจรดริมแม่น้ำโขง ความยาว ๕๓๓ เมตร รวมค่าก่อสร้างทั้งสองด้านเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๑,๖๑๓,๓๒๐.๐๐ บาท (หนึ่งล้านหกแสนหนึ่งหมื่นสามพันสามร้อยยี่สิบบาทถ้วน)
อนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้สร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก ด้านหน้าวัดจากซุ้มประตู ไปจนจรดแม่น้ำโขงทางด้านทิศใต้ ความยาวประมาณ ๖๕๐ เมตร สิ้นทุนทรัพย์อีก ๑,๐๙๐,๐๐๐.๐๐ บาท (หนึ่งล้านเก้าหมื่นบาทถ้วน)