พระญาณวิเศษ (จรัส เขมจารี) เจ้าอาวาสวัดหลวงสุมังคลาราม อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ และวัดประชารังสรรค์ อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ
เป็นพระเถระรูปหนึ่งของจังหวัด ศรีสะเกษ ที่มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัด ในพระธรรมวินัย ในสายของหลวงปู่ศรี (พระญาณวิเศษ) วัดหลวงสุมังคลารามและในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระครูวิจารย์สมถกิจ (จรัส เขมจารี)
เกิดเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ที่บ้านเมืองจันทร์ บิดาชื่อนายมา มารดาชื่อนางผุย นามสกุลเดิม ศรีสุข เป็นไทยเชื้อสายกูยหรือส่วย มีอาชีพทำนา และมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คน ได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนประชาบาลวัดบ้านเมืองจันทร์ เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ได้ออกมาช่วยบิดาในการทำไร่ ทำนา จนอายุได้ ๑๗ ปี จึงได้ออกบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านเมืองจันทร์ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดหลวงสุมังคลาราม อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีพระครูสิริสารคุณ (พระญาณวิเศษ) หรือหลวงปู่ศรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาธวัช วิมโล เป็นกรรมวาจาจารย์ พระมหาหน่วย ขนฺติโก (พระศาสนดิลก) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และได้ฉายาว่า เขมจารีภิกขุ หลังจากได้ศึกษานักธรรมและบาลีจากสำนักเรียนวัดหลวงสุมังคลาราม และได้ฝึกวัตรปฏิบัติกัมมัฏฐานกับหลวงปู่ศรีฯได้ระดับหนึ่งแล้วในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับมอบหมายจากพระครูสิริสารคุณ (หลวงปู่ศรี ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดหลวงสุมังคลารามซึ่งเป็นอาจารย์ ให้ไปเผยแพร่ธรรม และสร้างวัดขึ้นในเขตพื้นที่อำเภออุทุมพรพิสัย เพื่อเป็นการขยายสาขาวัฒนธรรมยุตให้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับในบริเวณเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของชาวกูยด้วย ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ชาวบ้านห้วยทับทันได้ร่วมกันสร้างกุฎิไม้ขึ้นถวายหลังหนึ่ง พอได้เป็นที่พักอาศัย (รื้อเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙) และในปีต่อมาได้สร้างศาลาไม้ใต้ถุนสูง ๑ หลัง เพื่อประกอบศาสนพิธีและให้ชาวบ้านได้มาทำบุญ ชาวบ้านเรียกว่า ศาลาบุญ มาจนทุกวันนี้ และเวลาเพียงไม่กี่ปีสำนักสงฆ์เล็กๆ ริมฝั่ง ห้วยทับทัน ซึ่งเดิมมีพื้นที่เพียง ๑๐ ไร่ ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินถวายเพิ่มเติมเป็น ๓๐ ไร่ และ ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ สำนักสงฆ์แห่งนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งเป็นวัดชื่อ วัดประชารังสรรค์หมายถึง วัดที่ประชาชนร่วมกันสร้างวัดประชารังสรรค์ ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อพระเดชพระคุณพระครูวิจารณ์สมถกิจ (จรัส เขมจารี) ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้สร้างอุโบสถทรงไทยยกฐานสูง มูลค่าประมาณ ๑๐ ล้านบาท นอกจากนี้ญาติโยม พ่อค้าคหบดี ได้ร่วมกันสร้างกุฎิไม้สักทอง ทั้งเสาและพื้นปูด้วยหินอ่อนถวายอีกจำนวน ๕ หลัง เป็นสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งหาดูไม่ได้ง่ายนักในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.๒๕๓๔คณะศิษย์และพุทธศาสนิกชนยังร่วมกันสร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่ (ขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๕๔ เมตร) ทั้งเสาและพื้นปูด้วยหินอ่อน จั่วและหน้าบันทำเป็นลายปูนปั้นสวยงาม เมื่อเสร็จสมบูรณ์คงจะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ ๑๕-๒๐ ล้านบาท โดยมิได้ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด พระครูวิจารณ์สมถกิจ ยังได้รวบรวมวัตถุปัจจัยที่ญาติโยมนำมาถวาย จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิ ชื่อ มูลนิธิวัดประชารังสรรค์ จรัส เขมจารีนุสรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำดอกผลมาพัฒนาปฏิสังขรณ์ สนับสนุนการศึกษาพระภิกษุ สามเณร ตลอดจนเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสและยากไร้ นับว่า เป็นพระผู้มีสายตาที่ยาวไกลในการสร้างสรรค์ทรัพยากรมนุษย์ในท้องถิ่นห่างไกลและกันดาร นอกจากนี้ ยังรับเป็นธุระดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ การศึกษาอำเภอห้วยทับทันอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ส่วนงานบริหารองค์การคณะสงฆ์นั้น
ในพ.ศ. ๒๕๒๕ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลห้วยทับทัน (ฝ่ายธรรมยุต) และหลังจากพระเดช พระคุณ พระครูโสภิตธรรมภาณ (โส) เจ้าอาวาสวัดประชานิมิต และเจ้าคณะอำเภออุทุมพรพิสัย-ห้วยทับทัน (ธ.) ได้มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะสงฆ์ จังหวัดศรีสะเกษ (ฝ่ายธรรมยุต) จึงได้เสนอพระเดชพระคุณ พระครูวิจารณ์สมถกิจ (จรัส เขมจารี) ให้ดำรงตำแหน่งแทน ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอธรรมยุต ๖ อำเภอ คือ เจ้าคณะอำเภออุทุมพรพิสัย ห้วยทับทัน เมืองจันทร์ โพธิ์ศรีสุวรรณ บึงบูรพ์ และอำเภอราษีไศล