ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ วัฒนธรรม ประเพณี พุทธสถานและแหล่งท่องเที่ยวภาคอีสาน => ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ท้องถิ่น => ข้อความที่เริ่มโดย: เต้ อุบล ที่ 25 ตุลาคม 2554, 00:01:43



หัวข้อ: บ้านขุหลุ
เริ่มหัวข้อโดย: เต้ อุบล ที่ 25 ตุลาคม 2554, 00:01:43
ประวัติบ้านขุหลุ

            บ้านขุหลุ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๐ ก่อนสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี ๓๕ ปี ผู้เป็นหัวหน้านำลูกหลาน
มาตั้งบ้านขุหลุ ชื่อว่า ท้าวเซียงกู๋ ได้อพยพมาจากลุ่มน้ำเซบังเหียน แขวงเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นประเทศลาวปัจจุบัน

            ครั้งแรกได้มาตั้งบ้านเรือนเป็นหมู่บ้าน อยู่ริมฝั่งขวาห้วยขุหลุ ปัจจุบันเป็นทุ่งนาบ้านขุหลุ บ้านสมสะอาด บ้านคำไหล
ต่อมาได้เกิดเดือดร้อน ประชาชนเกิดโรคฝีดาษ ซึ่งเรียกว่า โรคห่า ท้าวเซียงกู๋ จึงได้นำลูกหลานอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่
ฝั่งซ้ายของห้วยขุหลุ โดยอาศัยหนองคอมเป็นที่ทำมาหากิน หนองคอมก็คือหนองขุหลุในกาลปัจจุบัน เนื่องจากคนในสมัยนั้น
มีความเชื่อถือเรื่องนิทานในวรรณคดี ชื่อท้าวคันทนาม (คันธกุมาร) ได้ปราบยักษ์ที่ขุมคำ ยักษ์ยอมแพ้จึงได้ถวายทองคำ
ท้าวคันธนามพร้อมด้วยแม่รับไว้เฉพาะหาบคุ เท่านั้น ครั้งรอนแรมมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งระหว่างเดินทาง สายคุขาด จึงได้
คอนเอา (ใช้มือเหนี่ยวไม้คานข้างหน้า) ปัจจุบันคือบ้านคอนสาย

            พอหาบมาถึงหนองคอม มารดาท้าวคันธะนาม ได้บอกให้ลูกชายไปตักน้ำมากินและอาบ เมื่อท้าวคันธะนามตักน้ำ
คุจึงหลู เพราะคุถูกใช้งานหนักหาบทองมาก่อน เหตุที่หลูเพราะบรรจุทองหนัก หนองคอมจึงถูกเรียกว่าหนองคุหลูแต่นั้นมา
ชาวบ้านเลยเรียกว่า หนองคุหลู หรือภาชนะตักน้ำก้นทะลุ ต่อมาท้าวเซียงกู๋เลยเอานาม หนองคุหลู เป็นชื่อหมู่บ้านเรียกว่า
บ้านคุหลู ครั้นกาลนานวันเข้า เสียงกร่อนไป เพี้ยนเป็น ขุหลุ เลยเรียกว่าบ้านขุหลุ หนองขุหลุ ตราบเท่าทุกวันนี้

            การปกครอง เนื่องจากบ้านขุหลุ ได้ตั้งมาแต่ พ.ศ.๒๒๙๐ การปกครองจึงขึ้นอยู่ในปกครองของ นครโคตรบูรณ์
ซึ่งปัจจุบันเป็นจังหวัดนครพนม หัวหน้าผู้ปกครองหมู่บ้าน คือ ท้าวเซียงกู๋ เป็นคนแรก ครั้นกาลนานมาได้วิวัฒนาการ
ไปตามสมัย เรื่อยมาจนถึงสมัยขึ้นอยู่ในปกครองของจังหวัดอุบลราชธานี

            ยกฐานะหมู่บ้านขึ้นเป็นตำบล ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงตราพระราชบัญญัติ ลักษณะ
การปกครองจากส่วนกลาง เป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน หมู่บ้านขุหลุ จึงได้ยกฐานะจากหมู่บ้านเป็นตำบล
เรียกว่าตำบลขุหลุ จนถึงปัจจุบัน มีหมู่บ้านในเขตตำบล ๑๖ หมู่บ้าน (ปัจจุบันเหลือ ๘ หมู่บ้านเนื่องจากแยกเป็นตำบลคำเจริญ)
มีกำนันปกครองมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน รวม ๑๓ คน