ประวัติพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร เกิดที่บ้านหนองคู ตำบลกระจาย อำเภอลุมพุก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งบัดนี้ได้ขึ้นกับอำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธรแล้วท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวด บิดาชื่อว่า นายหลวงลา มารดาชื่อว่า นางคำ นามสกุล ขันเงิน ภายหลังเพราะเหตุไรไม่อาจทราบได้เปลี่ยนนามสกุลนี้มาเป็น สลับสี ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน ดังนี้
๑. นายอาน สลับสี
๒. พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร (สลับสี)
๓. นายลี สลับสี
๔. นายสุภีย์ สลับสี
๕. นางไพ
๖. นางเงา
๗. นายส่าน ( เวียง ) สลับสี
ปฐมวัยท่านได้เล่าว่าเรียนจบชั้น ป.๔ ที่โรงเรียนบ้านหนองคูนั้นเอง ท่านเป็นคนสมองทึบ แม้จะเรียนจบ ป.๔ ก็เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก แต่ต่อมาเมื่อท่านบรรพชาอุปสมบทได้เล่าเรียนจากครูบาอาจารย์แล้ว ท่านอ่านออกเขียนได้ ทั้งหนังสือไทย หนังสือธรรม กลับเป็นคนละคน คือสมองท่านกลับเป็นผู้จำง่ายขึ้น คงเป็นเพราะอำนาจของสมาธิภาวนานั่นเอง อุปนิสัยของท่านชอบเป็นนายหมู่ ในหมู่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน มีเด็กเป็นฝูงห้อมล้อมท่าน บางทีก็สมมติท่านเป็นพระ แล้วหมู่เด็กทั้งหลายก็กราบท่าน อย่างนี้เป็นต้น
ออกบรรพชาท่านได้เล่าถึงการออกบวชของท่านเมื่ออายุ ๑๓ ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ว่า เป็นเหตุการณ์พิเศษกว่าการออกบวชของท่านผู้อื่น จึงขอเล่าตามที่ท่านเล่าให้ฟังดังนี้
มารดาของท่านเป็นคนใจบุญ เข้าวัดจำศีลฟังธรรมและถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณรที่วัดบ้านหนองคูทุกวัน วันหนึ่งพระอาจารย์ทองสา ที่อยู่ที่วัดนั้นถามถึงเด็กชายวังว่า เขาทำอะไรบอกให้เขามาบวชด้วย หลังจากมารดาของท่านบอกให้ทราบว่า ท่านอาจารย์ที่วัดถามหาขอให้ไปบวชด้วย เท่านั้นเองท่านก็บอกทันทีว่าไม่บวช แม้มารดาบิดาจะขอร้องบอกกล่าวอย่างไร ท่านก็ยืนยันคำเดียวว่าไม่บวชอยู่นั้นเอง หลายวันต่อมา ท่านได้ออกไปเลี้ยงวัวควายกับบรรดาเด็กทั้งหลายเหมือนทุกวันท่านคิดว่า ถึงอย่างไรบิดามารดาคงจะนำเราไปบวชแน่นอน ดังนั้นจะไม่กลับเข้าบ้านอีก ได้ฝากวัวควายที่ไปเลี้ยงไล่กลับบ้านกับเพื่อนฝูง ตัวท่านเองอาศัยนอนที่บนเถียงนา ซึ่งมีฟางข้าวใส่ไว้เกือบเต็ม ท่านก็นอนในระหว่างกองฟางเหล่านั้น เถียงนานี้ห่างจากบ้านประมาณ ๑ กิโลเมตรครึ่ง เมื่อเพื่อนเด็กเลี้ยงควายทั้งหลายออกไปในวันใหม่ ท่านก็ได้อาศัยกินข้าวน้ำจากเด็กเหล่านั้น ท่านอยู่ในสภาพนั้น ๔-๕ คืน
ส่วนทางวัด ท่านอาจารย์ทองสาได้ถามถึงว่า เถียงนานั้นเป็นของใคร อยู่ในที่นาใคร เมื่อท่านทราบแล้ว ภายหลังจากฉันข้าวเสร็จวันหนึ่งได้พาเณรตัวโตๆ ๓ รูปออกไปด้วย เมื่อออกไปถึงเถียงนานั้นแล้ว ท่านจึงบอกให้เณร ๓ รูปยืนเป็นแถวกั้นอยู่ทางบันได แล้วท่านเรียกออกไปว่า ? นายวัง ? ๓-๔ ครั้ง ขณะนั้นท่านนอนอยู่ในนั้น พอได้ยินเสียงเรียกก็เข้าใจทันทีว่าคราวนี้คงมาตามเราไปบวชแน่ จึงคิดจะหนีไปให้พ้น เมื่อรู้ว่ามีเณรยืนอยู่ทางบันได ท่านจึงผลักเถียงนาทางด้านหลัง แล้วกระโจนลงจากเถียงนา วิ่งหนีสุดกำลัง สามเณรทั้ง ๓ รูปจึงวิ่งตามไปจับตัวไว้ กว่าจะทันก็วิ่งผ่านไปหลายไร่นา เมื่อจับได้แล้วจึงเอาผ้าอาบน้ำมัดที่ข้อมือแล้วท่านก็ตามกลับมาโดยดี เมื่อกลับถึงวัดแล้วพระอาจารย์ก็ให้โกนผมทันที แล้วนำไปบวชกับท่านพระครูวิจิตร วิโสธนาจารย์ ที่วัดบ้านหนองคูนั้นเองหลังบวชแล้วท่านก็อยู่จำพรรษาที่นั้น ๑ พรรษา
เรียนคาถาอาคมจากปู่ท่านพระอาจารย์วังเกิดมาในตระกูลหมอปะกำช้าง ปู่ท่านเป็นผู้มีวิชาอาคมขลัง ท่านจึงเรียนรู้คาถาอาคมจากปู่ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เมื่อตอนเป็นสามเณรท่านอยากเห็นวิชาวัวธนูครูหน้าน้อย จึงขอร้องให้ปู่ทำให้ดู ปู่ก็เอาไม้ไผ่มาทำหน้าไม้เล็กๆ เหลาลูกให้พอดี จากนั้นก็พาหลานจัดทำขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ บูชาครู เมื่อถึงกลางคืนจึงนำลูกหน้าไม้ไปทำพิธีลงคาถาใส่ ปู่ท่านทำพิธีอยู่ ๗ คืน เมื่อครบพิธีแล้ว จึงบอกให้หลานมาดู โดยให้คนเอามีดไปทำเครื่องหมายไว้ที่ต้นไม้ใหญ่กลางป่าต้นหนึ่ง จึงยิงหน้าไม้ออกไปโดยยิงทะลุหลังคาบ้านที่มุงด้วยหญ้าคาในตอนกลางคืน ก็บังเกิดเสียงดังสะเทือนเลือนลั่น รุ่งเช้าพระอาจารย์วังก็ได้ไปดูต้นไม้ที่ทำเครื่องหมายไว้ ก็ปรากฏว่าเห็นลูกหน้าไม้เสียบอยู่ตรงนั้นพอดี ซึ่งวิชาวัวธนูครูหน้าน้อยนั้นเป็นวิชาฆ่าคนแพร่หลายในลุ่มแม่น้ำโขง คนโบราณสมัยก่อนชอบเรียนกันมาก
ออกเดินธุดงค์กัมมัฏฐานหลังจากออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์ทองสาได้พาเดินวิเวกหาที่สงบและแสวงหาครูบาอาจารย์ เดินไปเรื่อยๆ แถวจังหวัดอุบลราชธานี นครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี เมืองเลย ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ นิสัยของท่านชอบอยู่ตามภูเขามากเป็นพิเศษ
หลายปีต่อมา ท่านอาจารย์พาเที่ยววิเวกผ่านมาแถวจังหวัดสกลนคร หนองคาย ได้พบกับถิ่นฐานบ้านเมืองแถวนี้ยังมีที่รกร้างว่างเปล่า มีทุ่งว่างป่าดงหนาแน่น ยังเป็นสภาพป่าดงดิบอยู่ตามธรรมชาติเดิมมากมาย ไม่เหมือนกับทางจังหวัดอุบลฯ เป็นทุ่งว่าง แต่แห้งแล้ง มีหมู่ชนหนาแน่น ที่จะทำมาหากินก็คับแคบ จึงเป็นเหตุให้พระอาจารย์ทองสาและพระอาจารย์วัง คิดถึงสภาพความเป็นอยู่ของบิดามารดาและญาติซึ่งอัตคัดขัดสนด้านการครองชีพ จึงคิดจะโยกย้ายครอบครัวของบิดามารดาและญาติๆ ทั้งหลาย ขึ้นไปหาทำเลที่เหมาะกับการทำไร่ทำนาทางนี้
เมื่อได้รับฟังการชักนำชี้ชวนของท่านแล้ว จึงตกลงโยกย้าย ครอบครัวหลายครอบครัวจากบ้านหนองคู โดยเอาข้าวสารและสิ่งของบรรทุกใส่เกวียน ส่วนคนก็เดินตามไปเรื่อยๆ ได้ผ่านหมู่บ้านมาหลายแห่งจนถึงหมู่บ้านศรีชมชื่น ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย เห็นว่าเป็นที่เหมาะสมที่จะตั้งหลักฐานในที่นั้น ชาวบ้านที่นั้นเขาก็ยินดีต้อนรับให้อยู่ด้วย แล้วก็ได้แบ่งปันที่จะสร้างบ้านและที่จะทำไร่ทำนาให้จนเป็นที่พอใจ จึงได้ตั้งใจว่าจะสร้างหลักฐานครอบครัวต่อไปที่หมู่บ้านแห่งนี้
เมื่อถึงหน้าฝน อันมีฝนตกชุก ซึ่งเป็นของปกติของถิ่นนี้ พวกบิดามารดาและพี่น้อง ลูกเล็กเด็กแดง ซึ่งเป็นคนเคยอยู่แต่ที่ว่าง แต่คราวนี้มาอยู่ที่เป็นป่าดงดิบ มีความชุ่มชื้นและไข้ป่าชุกชุม จึงเป็นเหตุให้เป็นไข้ป่ากันเกือบทุกคนแทนที่จะได้ก่อร่างสร้างตัวตามความที่ตั้งใจไว้ กลับพากันเป็นไข้หนักบ้างเบาบ้าง ติดเชื้อไข้ป่าแต่ไม่มีหมอมียาเหมือนสมัยนี้ดังนั้นจึงเป็นไข้เรื้อรังตลอด ในปีต่อมามีคนตายไปก็มี ผู้ไม่ตายก็ไม่มีกำลังแข็งแรงพอที่จะทำนาทำไร่ได้ จึงเป็นเหตุให้คณะที่มาด้วยกันแยกย้ายกันไป คือบางครอบครัวก็กลับไปที่บ้านหนองคูตามเดิม บางครอบครัวอยู่ได้ก็อยู่ไปโดยเฉพาะครอบครัวพระอาจารย์วังไม่ยอมกลับ เมื่ออยู่มาได้สองสามปีบิดาและน้องก็ตาย ยังเหลือมารดาและน้องชาย คือนายส่าน ต่อมาให้เปลี่ยนชื่อว่านายเวียง ให้ชื่อมีตัว ว เช่นเดียวกับชื่อของท่าน เพื่อคิดว่าจะไม่ให้ตายตามกันไป
ต่อมามารดาและน้องสาวน้องชาย ย้ายจากบ้านนั้น ไปอยู่กับหมู่ที่เคยมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งไปอยู่ที่บ้านหนามแท่ง ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ปีต่อมามารดาและน้องสาวก็ได้ตายจากไปอีก ยังเหลือแต่เด็กชายเวียงซึ่งยังเล็กอยู่อายุ ๓-๔ ปี ท่านได้เอาน้องชายมาอยู่วัด ให้พวกแม่ชีช่วยเลี้ยงดูให้ ทำให้ท่านได้รับความกระเทือนใจเกิดความสังเวชสลดใจเป็นอย่างมาก ความหวังว่าจะช่วยเหลือพยุงฐานะการทำมาหากินให้ดีขึ้น จึงได้ย้ายครอบครัวของบิดามารดาญาติพี่น้องมาตั้งที่ใหม่ แต่กลับมาเป็นการโยกย้ายบิดามารดาญาติพี่น้องมาตาย ท่านจึงตั้งใจที่จะปฏิบัติพระธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่งขึ้นไป