เรื่องราวทั้งหมดผมนำมาจาก
www.ampoljane.com ผิดถูกประการใดต้องขออภัยท่านผู้รู้ด้วยนะครับ
เรื่องของ ยายชีนวล วัดภูฆ้องคำ
เขียนโดย อำพล เจน
วันพุธที่ 21 มกราคม 2009 เวลา 23:52
ยายชีนวล แสงทอง
วัดภูฆ้องคำ บ.ดงตาหวาน อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี
--------------------------------------------------------------------
บ่ฮู้..บ่จัก.เมื่อถูกซักถามเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครูบาอาจารย์รวมทั้งเรื่องที่ไม่ปรารถนาจะตอบ ยายชีนวลมักตัดบทว่า
?บ่ฮู้-บ่จัก?
เป็นถ้อยเป็นคำที่ออกจากปากยายชีบ่อยที่สุด
รูปศัพท์ง่ายๆตรงๆว่า=ไม่รู้จัก.
แต่จะให้ตรงจริงๆในภาษากลางต้องแฝงดัดจริตคือ-ไม่รู้ไม่ชี้
เมื่อเป็นอีสานทั้งศัพท์สำเนียงความหมายและอารมณ์นั้นกลับจริงจังไม่ดัดจริต
เรื่องนี้วิจารณ์ได้เพียงผิวเผินว่านั่นคือคุณลักษณะของนักปฏิบัติที่กำลังนำตนให้หลุดพ้นวัฏสงสาร(การเวียนว่ายตายเกิด)
ยุติการยึดติดกับสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบันหรือนาคต ไม่ใยดีอาลัยในสังขารตน รวมไปถึงวัตถุสิ่งของภายนอกที่เป็นสมบัติของโลก
ดังนั้นเรื่องเล่าทั้งหมดที่เกี่ยวกับความเป็นยายชีจึงเกิดด้วยความยากลำบาก ไร้ข้อมูลที่ชัดเจน ขาดรายละเอียด ที่จะสร้างอรรถรสให้แก่ผู้อ่าน คงอาศัยจากคำบอกเล่าผู้ใกล้ชิด สานุศิษย์ ลูกหลานของยายชี ซึ่งก็เต็มไปด้วยความแผ่วเบา ขาดน้ำหนัก ด้วยว่าทุกคนล้วนอยู่ในภาวะเดียวกัน ต้องเผชิญกับคำว่า
?บ่ฮู้..บ่จัก?
เสมือนมีดคมบั่นกระบวนการสนทนาจนขาดสะบั้นในทันที
ชาติกำเนิด
เกิดวันศุกร์ ไม่ทราบวันที่และเดือน คงอาศัยเค้าจากปีเกิดหลวงปู่สวน วัดนาอุดม(8 ก.ย. 2453) ด้วยว่าทั้งหลวงปู่สวนและยายชีเกิดปีเดียวกัน ยายชีเป็นน้องแค่เดือน
เป็นลูกสาวคนโตของนายส่วน แสงทองกับนางปี๋ ผลทวี,เป็นพี่สาวของน้องหญิงน้องชายอีก10คน ซึ่งเสียชีวิตเกือบทั้งหมด ยังคงมีชีวิตอยู่เพียงสองท่านคือยายคำ แสงทอง กับ ป้า อนันต์ แสงทอง
เป็นศิษย์สำเร็จลุน แห่ง จำปาศักดิ์จริงหรือ?
เท่าที่ได้เคยสัมผัสและสังเกตเห็นมาโดยตลอด บรรดาผู้ที่เป็นศิษย์สำเร็จลุนอย่างแท้จริง มักไม่นิยมกล่าวถึงครูบาอาจารย์ แม้แต่อวดอ้างเอ่ยชื่อก็ไม่ทำ ทุกคนดำรงตนอย่างเงียบเชียบอยู่ในที่กันดารที่คนเข้าถึงลำบาก โดดเดี่ยวลำพังอย่างนักปฏิบัติพันธ์แท้ ไม่คลุกคลีหมู่คณะ ไม่สะสมวัตถุสมบัติ ไม่ติดอยู่กับที่ ไร้ร่องรอย ไร้เรื่องราว
ถ้าจะมีเรื่องราวปรากฏมักเป็นคำกล่าวขวัญขานถึงอย่างพิสดารโดยมีพื้นฐานจากความเคารพนับถือ ทำให้เกิดภาคอภินิหารใหญ่โตในภายหลัง ส่วนมากก็หลังจากบรรดาท่านเหล่านั้นละสังขารกันไปแล้ว
ชั้นหลังๆได้ยินเสียงอวดอ้างเอ่ยนามสำเร็จลุนบ่อยๆ ทำนองว่าเป็นศิษย์สายเดียวกัน ป่าวประกาศให้รู้ทั่วไปโดยไม่กระดากใจว่าตนเป็นศิษย์สายนี้ บางรูปอ้างถึงกับว่าตนเป็นลูกศิษย์สายตรงที่ไม่ใช่แค่หลานศิษย์ ครั้นสอบสวนเอาความจริงล้วนโกหกทั้งเพ แค่ปีเกิดของศิษย์จอมปลอมก็ยังไม่ทันชีวิตองค์สำเร็จลุน ใยจึงไม่นึกละอายว่าตนกำลังอมคำโกหกคำโตไว้ในปากตลอดเวลา ยากจะเข้าใจว่าทำกันเช่นนั้นเพื่อผลประโยชน์อย่างใด
เคยถามยายชีด้วยตนเองว่าครูบาอาจารย์ของยายเป็นใคร
?บ่ฮู้-บ่จัก?
?ถ้าไม่มีใครเป็นอาจารย์ ก็เรียนเองรู้เอง?
?ไม่ใช่อย่างนั้น ครูบาอาจารย์นั้นมีแน่..แต่ยายบ่จำ?
บ่จำ=ไม่จำ,จำไม่ได้.
มีดคมอีกเล่มที่หั่นประวัติสำนักศึกษาและอาจารย์ท่าน
เรื่องนี้ทราบจากยายคำ แสงทองผู้เป็นน้องหญิงคนที่4ของยายชีว่า สมัยยายชียังเยาว์วัย ป่วยเป็นฝีที่คอ รักษาอย่างไรไม่หาย วันหนึ่งมีหมอธรรมมาชี้แนะว่า มีผู้เดียวที่จะรักษาได้ เป็นพระชื่อว่าครูบาลุน อยู่ภูมะโรง เมืองจำปาศักดิ์ อยากจะหายจงเร่งไปหา ด้วยว่าเวลานั้นท่านชราภาพมากแล้ว อย่านิ่งนอนใจ ช้าไปจะไม่ทันการ
จากตรงนี้นั่นเองจึงเป็นจุดหักเหของชีวิตเด็กหญิงคนหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้ดั้นด้นไปจนถึงภูมะโรง
ว่ากันขณะนั้นยายชีมีอายุได้13ปี บางเสียงว่า18ปี
ถ้าจะวิเคราะห์เอาข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด ประมาณว่ายายชีตอนนั้นควรจะมีอายุระหว่าง9-11ขวบ
ดูที่ปีมรณภาพของสำเร็จลุนซึ่งมีบันทึกปรากฏชัดเจนคือปี2464(ปีระกา เดือน11 เพ็ญขึ้น15ค่ำ เวลาใกล้รุ่ง) เอามาเป็นตัวตั้งแล้วเอาปีเกิดของยายชีคือ2453ลบไปก็จะได้ตัวเลข11ปี
ในขณะที่เดินทางไปภูมะโรงนั้น บิดาของยายชีกำลังอยู่ในเพศสมณมาแล้ว6พรรษา น่าเชื่อได้ว่าพระภิกษุส่วน(บิดายายชี)ควรเป็นผู้นำพายายชีไปด้วยตนเอง หรือไม่ก็อาศัยผู้รู้จักหนทางที่ไว้วางใจได้ฝากฝังยายชีให้เขาคนนั้นนำพาไป
ในการเดินทางไปภูมะโรงคราวโน้นเป็นไปได้ว่าน่าจะมีหลวงปู่สวน ฉนฺทโร วัดนาอุดมร่วมเดินทางไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน (บ้านนาทม ต.คำหว้า อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี)
เมื่อไปถึงภูมะโรงแล้ว ครูบาลุนได้บอกว่าโรคของยายชีจะหายได้ด้วยมโหสถขนานเดียว คือบวชชีรักษาศีลแปดถือพรหมจรรย์ ซึ่งครูบาลุนได้เป็นผู้บวชให้
ยายชีนวลเมื่ออยู่รักษาตัวที่ภูมะโรง ก็เหมือนดังว่าหายสาบสูญ ด้วยไม่เคยมีข่าวส่งไปถึงครอบครัวแม้แต่น้อย
กระทั่งครูบาลุนมรณภาพแล้ว ข่าวคราวของยายชียังคงเงียบหายไปอีกหลายปี จนวันหนึ่งข่าวว่ายายชีถูกงูเหลือมกินก็มาถึงบ้านเกิด ทุกคนที่ทราบข่าวล้วนสลดใจสงสาร พากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตามประเพณี