7. หลวงพ่อชาพิมพ์หัวโน และพิมพ์ธรรมดา (พ.ศ. 2516)
หลวงพ่อชาเนื้อผง พิมพ์หัวโน มีเส้นเกษาอยู่ในเนื้อ (2516)
ระหว่างปี 2514-2515 ก็มีการสร้างพระเครื่องถวายท่านแจกหลายรุ่นหลายพิมพ์ แต่ไม่สามารถจะรวบรวมหรือเรียงตามลำดับก่อนหลังได้ ทราบว่าได้มีการสร้างล็อกเก็ตรูปท่านขึ้น 12 อันในปี 2514 และมีพระพิมพ์แปลก ๆ ปรากฏอยู่หลายพิมพ์บางพิมพ์ หลวงพ่อได้มอบให้พระลูกศิษย์ซึ่งไปรักษาการเป็นเจ้าอาวาสตามวัดสาขาต่าง ๆ แจกแก่ญาติโยม เช่นหลวงพ่อเที่ยง โชติธมฺโม วัดป่าอรัญวาสีก็ได้พระของหลวงพ่อมาแจกอยู่ ระหว่างปี 14-15 หลวงพ่อเที่ยงแจกแล้วไม่ได้บอกว่าอะไร ผู้ได้รับไปเข้าใจว่าเป็นพระเครื่องของหลวงพ่อเที่ยง ภายหลังผู้เขียนได้กราบเรียนถามหลวงพ่อเที่ยง จึงทราบว่าเป็นพระของหลวงพ่อชาให้มาแจก ไม่ใช่พระของท่านแต่อย่างใด
พระสมเด็จหลวงพ่อชา (พ.ศ. 2514-2515)
พระอาจารย์เที่ยง โชติธมฺโม
แจกที่วัดป่าอรัญญวาสี
ครั้นถึงปี 2516 มีชาวนครสวรรค์เข็นพระลูกรังอัดมาเร่ขายที่เมืองอุบลฯ ผ่านมาที่หน้าบ้านคุณชัยสิทธิ เตชะศิริธนะกุล คุณชัยสิทธิได้สนทนาด้วย ทราบว่ามีความสามารถในการแกะบล็อกพระเครื่อง จึงว่าจ้างให้แกะบล็อกพระหลวงพ่อชา โดยตกลงกันว่าต้องทำให้เหมือนพระเครื่องรุ่นแรก คือรุ่นหลังใบไม้
ต่อมาชาวนครสวรรค์นำบล็อกพระที่แกะสำเร็จแล้วมาให้ 2 บล็อก คุณชัยสิทธิ์เห็นว่าแกะได้ไม่เหมือน จึงไม่ยอมรับไว้เพราะถือว่าผิดข้อตกลง
วันหนึ่ง คุณชัยสิทธินั่งสนทนากับหลวงพ่อที่ใต้ถุนกุฏิท่าน ก็แลเห็นชาวนครสวรรค์เดินเข้ามา คุณชัยสิทธิ์ร้อนใจรีบเล่าเรื่องบล็อกถวายหลวงพ่อทราบโดยเร็ว เมื่อชาวนครสวรรค์เข้ามาถึงแล้วก็กราบเรียนฟ้องหลวงพ่อว่า คุณชัยสิทธิจ้างแกะบล็อกแล้วไม่เอา เขาเสียหายมาก เพราะว่าลงทุนไปแล้วไม่ได้คืน
คุณชัยสิทธิเห็นว่าเรื่องจะยืดเยื้อ จึงตัดใจยอมจ่ายเงินให้ไปเพื่อจะได้หมดเรื่องหมดราวเสียที โดยจ่ายเงินไปเป็นจำนวน 500 บาท
เมื่อชาวนครสวรรค์ได้เงินแล้วก็กลับไป คุณชัยสิทธิ์ก็เอาบล็อกขึ้นมาจะทำลายทิ้ง หลวงพ่อซึ่งนั่งฟังและดูเหตุการณ์เงียบ ๆ มาตลอดร้องห้ามว่าอย่าทุบ อย่าทุบ เก็บไว้ เก็บไว้สร้างพระอีก
ตกลงบล็อกทั้งสองก็ได้กดพิมพ์พระขึ้นมาแจกแก่ญาติโยมอีกในปีนั้น
หลวงพ่อชาเนื้อมะพร้าวนรเก พิมพ์หัวโน ไม่มีเส้นเกษา บางองค์แห้งแล้ว หดตัว เล็กลงมาก ขนาดของแต่ลพเนื้อกำหนดมาตรฐานไม่ได้
พระที่พิมพ์ด้วยบล็อกทั้งสองนี้โดยมากเป็นเนื้อที่เรียกกันว่ามะพร้าวนรเก คือหลวงพ่อได้ทุบเอาผงขาวในก้อนหินที่เชื่อกันว่าเป็นหินศักดิ์สิทธิ์ที่ฤๅษีในสมัยก่อนทำเอาไว้ เป็นหินที่ลักษณะขนาดกำปั้น กลมกลึงสวยงาม ซึ่งถ้าทุบแตกแล้วตรงใจกลางจะมีผงขาว ๆ รวมตัวอยู่หลวงพ่อก็ได้เอาผงส่วนนี้มาผสมสร้างพระ จึงเรียกกันว่า?เนื้อมะพร้าวนรเก?
บล็อกพระอันที่หนึ่งเป็นบล็อกธรรมดา อีกบล็อกหนึ่งจะพบว่าที่ศีรษะหลวงพ่อด้านซ้ายจะมีตุ่มกลมเป็นเม็ดติดอยู่ คนจึงเรียกว่าบล็อกหัวโน ที่เกิดเป็นตุ่มขึ้นนี้เนื่องจากว่าในบล็อกเกิดมีฟองอากาศอยู่ตรงนั้นพอดีทั้งสองบล็อกนี้มีลักษณะเดียวกัน เว้นแต่ตุ้มกลมที่ศีรษะหลวงพ่อ เท่านั้น
มีพระเนื้อดอกคะยอมที่กดด้วยบล็อกทั้งสองนี้อยู่รุ่นหนึ่งซึ่งทุกวันนี้หายาก เป็นพระที่ผสมด้วยน้ำมันขี้โล้ สร้างขึ้นจำนวน 50 องค์
มูลเหตุที่สร้างนั้นเกิดขึ้นขณะหลวงพ่อกำลังดูแลเรื่องสร้างโบสถ์ คุณชัยสิทธิเห็นช่างเอาน้ำมันขี้โล้ทาพื้นล่างของโบสถ์ก็ถามหลวงพ่อว่า ทาทำไม
หลวงพ่อว่า ทากันน้ำซึม
หลวงพ่อชาพิมพ์หัวโน เนื้อดอกคะยอมผสมน้ำมันขี้โล้ พระไม่แข็งแรง ชำรุดเสียหายทุกองค์ (2516)
คุณชัยสิทธิได้ยิน เกิดความคิดว่าถ้าเอาน้ำมันขี้โล้มาผสมสร้างพระคงจะดี เพราะว่ากันซึมได้
หลวงพ่อก็ว่า เอางั้นรึ
คุณชัยสิทธิว่า เอา
หลวงพ่อก็อนุญาตให้ลองดู
เมื่อทำพระออกมาได้ 50 องค์ หลวงพ่อให้เลิก เพราะเห็นว่าไม่ได้ผลดีดังที่คุณชัยสิทธิคิด พระชุดนี้ไม่สวย แถมผุพังง่ายไม่แข็งแรง หลายองค์คงพังเป็นฝุ่นไปแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ก็พรุนเป็นรู จึงจัดว่าเป็นพระหายากอีกเนื้อหนึ่ง
พระพิมพ์นี้ที่ทำด้วยเนื้อดอกคะยอม ทำขึ้นเป็นครั้งแรกสำหรับบล็อกทั้งสอง หลังจากนั้นจึงทำเนื้อมะพร้าวนรเกออกมา และมีเนื้ออื่น ๆ อีกหลายเนื้อ
ไม่ว่าจะเป็นเนื้ออะไรก็ตาม หากเป็นพระที่มาจากบล็อกทั้งสองเป็นไว้วางใจได้ เพราะว่าทำขึ้นในวัด ไม่รั่วไหลออกนอกวัด แต่อย่างใด
เป็นพระที่บริสุทธิ์ผุดผ่องในการสร้าง เทียบเท่ากับรุ่นแรกหลังใบไม้ และรุ่นสองหลังเรียบ
บล็อกทั้งสองนี้ได้พิมพ์พระออกมาเรื่อย ๆ หลายครั้ง ไม่สามารถแยกได้ว่าเนื้อไหนก่อนหลัง คงทราบแต่ว่า เนื้อดอกคะยอมผสมน้ำขี้โล้เท่านั้นที่พิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยบล็อกทั้งสอง
(ในปีเดียวกันนี้ทราบว่าได้มีการทำล็อกเก็ตขึ้น 124 อัน แต่ไม่มีภาพให้ดู)