"การสวดภาณยักษ์" เป็นคำที่บางคนอาจจะยังไม่เคยได้ยิน แต่สำหรับคนต่างจังหวัดจะคุ้นเคยกับการสวดภาณยักษ์ดี ปัจจุบันในกรุงเทพฯก็มีหลายวัดจัดการสวดภาณยักษ์ขึ้น และมีผู้เข้าร่วมพิธีมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน ในอดีตการสวดภาณยักษ์มีอยู่สองแบบคือ สวดภาณวาร และ สวดภาณยักษ์ ซึ่งการสวดทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันคือ
การสวดภาณวาร เป็นการสวดแบบมีทำนองครุ ลหุ คือมีการเน้นเสียงหนักเบา ใช้น้ำเสียงสวดที่ไพเราะ ไม่กระแทกกระทั้นดุดัน เหมือนการสวดภาณยักษ์
การสวดภาณยักษ์ เป็นการสวดที่มีน้ำเสียงกระแทกกระทั้นดุดัน เกรี้ยวกราดและน่ากลัว จึงได้เรียกว่า สวดแบบภาณยักษ์นั่นเอง ใช้สวดเพื่อขับไล่ยักษ์หรือภูตผีต่างๆ
"ท้าวเวสสุวัณ"
การสวดภาณยักษ์ได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย เข้าใจว่าตั้งแต่ครั้งสมัยของพ่อขุนรามคำแหงทีเดียว ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพระสงฆ์ทางลังกาสายเถรวาท โดยเริ่มเข้ามาทางด้านจังหวัดนครศรีธรรมราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อได้เสด็จเมืองนครศรีธรรมราช จึงได้นำมาจัดเป็นพิธีประจำปี สำหรับพระนคร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พระนคร และแก่พระเจ้าแผ่นดิน
ด้วยความเชื่อที่ว่า บ้านเมืองหนึ่งๆ จะมีผีที่ดีและผีที่ไม่ดีอาศัยอยู่ ผีที่ไม่ดีเรียกว่า ภูติผีปิศาจ ส่วนผีที่ดีเรียกว่า เทพยดา การที่บ้านเมืองมีเหตุเพทภัยต่างๆเกิดขึ้นนั้น ก็เป็นเพราะเกิดจากภูติผีปิศาจ กลั่นแกล้งบันดาลให้เป็นไป ซึ่งก็มักจะแยกกันออกไปว่า เทพเจ้าที่ดี เป็น เทวดา และในทางตรงกันข้าม ที่ดุร้าย คือ ยักษ์ แต่ก็ไม่มีบทสรุปลงไปแบบฟันธง เพราะเทวดาเกเรก็มีมาก ส่วนยักษ์ที่มีคุณธรรมก็มีไม่น้อย อย่างเช่น ท้าวเวสสุวัณ
ดังนั้นเมื่อสิ้นปีหนึ่งไป จึงได้ทำพิธีสวดภาณยักษ์ เพื่อเป็นการขับไล่ภูตผีกันสักครั้ง เพื่อความเป็นสิริมงคล และความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเมือง และแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง
นอกจากนี้ พิธีสวดภาณยักษ์ในสมัยก่อนจะมีการยิงปืนใหญ่ด้วย เป็นปืนโบราณใส่ดินปืนกระทุ้ง แต่ไม่ใส่ลูกปืน เพียงให้มีเสียงดังตูมตามน่ากลัวมากกว่า เพื่อให้ยักษ์กลัว เรียกว่าต้องทำกันทุกวิถีทางเลย เมื่อไม่มั่นใจว่าแค่สวดด้วยน้ำเสียงกระแทกกระทั้นดุดันเกรี้ยวกราด แล้วก็ยังไม่กลัว ก็ตามสำทับด้วยเสียงปืนใหญ่ซ้ำอีก ไม่ใช้ปืนเล็กๆ เช่นปืนสมัยปัจจุบัน
การสวดภาณยักษ์นั้น ที่จริงแล้ว ก็คือ การสวดพระอาฏานาฏิยปริตร โดยพระปริตรนี้ แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ภาคภาณพระ และ ภาคภาณยักษ์
โดยตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากพระมหาบุรุษตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนั้น ท้าวจตุโลกบาลก็มาเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสกล่าวถึงพระพุทธวงศ์ คือพระนามพระพุทธเจ้าที่เคยตรัสรู้มาแล้ว (ภาณพระ) จากนั้นท้าวจตุโลกบาลก็มีดำริว่า บริวารของตนนั้นมีมากมาย ทั้งที่เป็น ยักษ์ กุมภัณฑ์ นาค และคนธรรพ์ ซึ่งมีมากมาย ที่ไม่มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา กลัวว่าจะมารบกวนพระสงฆ์สาวกที่ไม่มีฤทธิ์ ขณะจาริกและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้ได้ความเดือดร้อน จึงถวายพระปริตรนามว่า อาฏานาฏิยปริตร แด่พระพุทธเจ้า เพื่อให้พระสงฆ์นำไปสวดกัน (ภาณยักษ์) โดยในพระปริตรดังกล่าวจะกล่าวถึงพระนามของท้าวจตุโลกบาล ทั้งนี้เมื่อบริวารของท้าวจตุโลกบาล เมื่อได้ยินพระนามท้าวเธอก็ย่อมจะเกรงกลัว และเร้นกายไปไม่มารบกวน
ดังนั้นความเชื่อของชาวพุทธ เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายไม่มีในบ้านเมือง ก็จะนิมนต์ให้พระสงฆ์สวดภาณยักษ์ ดังเช่นในสมัยต้นกรุงฯ ได้เกิดโรคห่า ยุคนั้นก็มีการสวดภาณยักษ์กันมากมาย แต่จริงๆแล้ว พระอาฏานาฏิยปริตร นั้น เวลาเรานิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์เย็น พระท่านก็จะสวดอยู่แล้ว เพราะพระปริตรดังกล่าวนั้นได้รวมอยู่ทั้งในจุลราชปริตร (สวด ๗ ตำนาน) และมหาราชปริตร (สวด ๑๒ ตำนาน) ด้วยแล้ว
การสวดภาณยักษ์นั้น ถือกันว่าเป็น ?พุทธโอสถ? ที่จะช่วยขจัดปัดเป่าอัปมงคลออกไปจากร่างกาย ทำนองเดียวกับการทำบุญสวดบ้านเมื่อมีเรื่องร้าย แต่ต่างกันที่สวดภาณยักษ์ เป็นการชักชวนคนจำนวนมากมาร่วมทำในพิธีคราวเดียวกัน โดยเมื่อเริ่มพิธีกรรม จะมีพระสงฆ์ที่ยกย่องกันว่าเชี่ยวชาญเชิงอาคมและขมังเวทย์จำนวนสี่รูป นั่งบนอาสนะประจำทิศทั้งสี่ ส่วนอีกสี่รูปรวมกันอยู่ด้านหน้าพิธี ท่องบทสวดและผสมเสียงใส่กัน ฟังคล้ายเสียงประกอบหนังสยองขวัญ ลี้ลับดุดันน่าขนลุก และออกจะน่ากลัวสำหรับคนจิตอ่อน
หลังการสวดดำเนินไปสักพักก็ถึงช่วงสำคัญ พระสงฆ์ที่นั่งประจำทิศทั้งสี่เริ่มประพรมน้ำมนต์ ผู้ร่วมพิธีบางคน (ที่เชื่อว่ามีสิ่งของไม่ดีอยู่ในตัว) จะออกอาการแปลกๆ บางคนร้องไห้โฮ บ้างสั่นเหมือนเจ้าเข้า และผู้หญิงบางคนก็ออกท่าทางร่ายรำ โดยคนเหล่านี้ เหมือนว่าไม่รู้สึกตัว หรือควบคุมตนเองไม่ได้ คนเหล่านี้ก็จะได้รับการช่วยเหลือจากหมู่พระสงฆ์เหล่านั้นให้คืนสู่สภาพปกติ การที่มีคนเข้าร่วมพิธีกันมากขึ้นนั้นเพราะเชื่อกันว่า พิธีกรรมเหล่านี้จะสลายสิ่งที่ไม่ดีงามทั้งปวงตามกาลโยค ทุกข์ โศก โรคภัยต่างๆ หรือใคร ถูกคุณไสย ต้องเสน่ห์มนต์ดำ โดนอาถรรพณ์ ฯลฯ ให้มลายสิ้นไป
ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับพิธีนี้ ก็จะมีความคิดเห็นต่างกันไป เช่นนายแพทย์ท่านหนึ่งได้ให้ สัมภาษณ์และวิจารณ์ว่า เสียงสวดที่มีความโหยหวนกระแทกกระทั้นและมีเสียงสูงต่ำ ยิ่งมีการจุดประทัดด้วย จะกระตุ้นระบบประสาท ทำให้เกิดมีอาการชักได้ง่าย การสวดนี้จะเป็นการ กระตุ้นทางกายและใจ คนที่ใจอ่อนอยู่แล้ว จะชักได้ง่าย ยิ่งคนที่ชัก คิดว่ามีผีอยู่ในตัว ก็จะยิ่งมีแนวโน้มจะชักมากขึ้น ความรุนแรงของการดิ้นหรือชักจะแตกต่างกันไป ตั้งแต่พนมมือและสั่น ( ไม่ได้รวมไว้กับอาการดิ้นหรือชัก) ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก อาการรุนแรงอื่นๆได้แก่ ลุกขึ้นชัก กระตุกไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งแรงมาก โดยมีการชกต่อยเกิดขึ้น หรือทำร้ายตัวเอง และหกคะเมนตีลังกา ในทรรศนะของจิตเวชแผนปัจจุบัน อธิบายว่า ได้เกิดมีอาการแตกแยกของจิตใจไปชั่วขณะหนึ่ง ลักษณะต่างๆและพฤติกรรมที่มองเห็น เช่น การกระตุก การสั่น การชักดิ้น เช่นนี้จะเกิดขึ้นชั่วคราว พร้อมกับส่งเสียงร้องกรี๊ดอย่างน่ากลัว ทำให้บุคคลที่ใจอ่อนอยู่แล้ว เกิดมีอาการเอาอย่างขึ้น กับกลุ่มชนที่อยู่ร่วมกันในระหว่างพิธี จะเห็นมีข่าวบ่อยครั้งที่นักเรียนทั้งโรงเรียนมีอาการคล้ายผีเข้าทั้งโรงเรียน เขาก็เรียกว่าเป็นอุปทานหมู่ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ในการเข้าพิธี สวดภาณยักษ์ ถือว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ซึ่งสิงอยู่ในร่างกายเช่น ถูกของ ผีเข้า ผีสิง ฯลฯ กำลังจะออกจากตัว แต่การชักเพราะจิตประสาทนี้ อาจจะทำให้สุขภาพจิต ดีขึ้น ไม่มีผลเสียต่อร่างกายแต่อย่างใด
แต่เนื่องจากมีความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันการสวดภาณยักษ์หลายแห่ง ได้กลายเป็นพุทธพาณิชย์เชิงธุรกิจไปแล้ว โดยมีนายหน้ามาขอเช่าสถานที่ของวัด จัดพิธีสวดฯ กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีหน้าม้า ค้าวัตถุมงคล ผ้ายันต์ สารพัด ซึ่งเป็นธุรกิจที่หากินกับความศรัทธาของชาวพุทธ ที่ยังไม่เข้าใจถึงพระธรรมคำสอน ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง การเข้าร่วมพิธี จึงต้องดูให้ดีด้วย ว่าผู้จัดเป็นใคร เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน
ที่สำคัญคือ เมื่อสวดประจำย่อมสามารถขับไล่ ?ยักษ์ภายใน? คือโลภ โกรธ หลง ออกจากใจได้แน่นอน
ขอขอบคุณ ก้อง กังฟู นสพ.ไทยรัฐ ครับ
เครดิต
http://www.jomvet.com/forum/index.php/topic,388.0.html