ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่ธีร์ เขมจารี วัดมิ่งเมืองพัฒนาราม (วัดภูเวียงวนาราม) ต.ภูเวียง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น อัตโนประวัติ ?พระมงคลวราจารย์? หรือ ?หลวงปู่ธีร์ เขมจารี? พระเกจิอาจารย์ชื่อดังด้านเครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์ แห่งวัดมิ่งเมืองพัฒนาราม (วัดภูเวียงวนาราม) บ้านนาก้านเหลือง ต.ภูเวียง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น
หลวงปู่ธีร์ มีนามเดิมว่า ธีร์ คำใสขาว เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2453 ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ ณ บ้านกระจาย ต.น้ำคำ (ปัจจุบัน ต.หนองหมื่นถ่าน) อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายจันทา และนางบับ คำใสขาว
การศึกษาเบื้องต้น ในช่วงวัยเยาว์ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ก.ข. ที่โรงเรียนบ้านกอก ต่อมาย้ายกลับมาเรียนที่โรงเรียนบ้านกระจาย อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
การบรรพชาและอุปสมบท เมื่ออายุครบ 16 ปี นายธีร์ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ.2469 ณ วัดโพธิ์ศรี บ้านกระจาย อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด โดยมีพระใบฎีกาหล้า เจ้าคณะอำเภอสุวรรณภูมิ เป็นพระอุปัชฌาย์
ด้วยจิตใจที่ฝักใฝ่ในการศึกษาพระปริยัติธรรม จึงย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดราศีไศล บ้านฟ้าเลื่อม ต.หน่อม อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด โดยมีครูบาเฒ่าหรือหลวงปู่ญาครูโส ธมฺมปาโล เป็นพระอาจารย์ใหญ่ และพระอาจารย์เมืองกับพระอาจารย์สอน เป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดวิชาความรู้ สวดมนต์น้อย มนต์กลาง มนต์หลวง และมูลกัจจายน์
กระทั่งอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2472 ณ พัทธสีมาวัดราษีไศล บ้านฟ้าเลื่อม ต.หน่อม อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด โดยมีครูบาเฒ่าหรือหลวงปู่ญาครูโส ธมฺมปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์
การศึกษาพระปริยัติธรรม ภายหลังอุปสมบท ได้ขอย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านพันขาง ต.บ้านเขวา อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อศึกษามูลกัจจายน์
พ.ศ.2475 ศึกษาบาลีไวยากรณ์ ที่วัดบ้านเค็งใหญ่ อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี
พ.ศ.2477 ย้ายไปเรียนนักธรรมบาลี ที่วัดบางกะจะ ต.สำเภาล่ม จ.พระนครศรีอยุธยา
พ.ศ.2478 ย้ายไปอยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม ต.วัดอรุณ อ.บางกอกใหญ่ จ.ธนบุรี
พ.ศ.2479 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค
พ.ศ.2481 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก ที่สำนักเรียนวัดศรีนวล อ.เมือง จ.ขอนแก่น
มาพำนักจำพรรษาที่วัดโพธิ์ศรี อย่างไรก็ตาม เมื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูงไม่สำเร็จตามความตั้งใจไว้แต่เดิม ประจวบกับกลับมาเยี่ยม และรักษาพยาบาลโยมบิดา-โยมมารดาบังเกิดเกล้า
ท่านจึงได้มุ่งความเพียรในการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ได้นำเอาวิชาความรู้แขนงต่างๆ ที่เคยร่ำเรียนออกมาใช้ในทางปฏิบัติ ทั้งการสอน การปกครอง การสาธารณูปการ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งหมดล้วนแต่เป็นงานที่จำเป็นต้องทำและรับผิดชอบมากขึ้น
พ.ศ.2482 ได้รับมอบหมายจากพระราชสารธรรมมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ให้ไปอยู่ที่วัดโพธิ์ศรี บ้านท่อน ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อพัฒนาวัดโพธิ์ศรีให้เจริญรุ่งเรือง
พ.ศ.2485 ได้รับแต่งตั้งเป็นฐานานุกรมของเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น และเป็นกรรมการตรวจสอบประโยคนักธรรมสนามหลวง
งานด้านสาธารณูปการ พ.ศ.2482-2490 บูรณะอุโบสถเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมและสร้างใหม่จนแล้วเสร็จ สร้างกุฏิ และเสนาสนะอื่นๆ ที่วัดโพธิ์ศรี บ้านท่อน ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
พ.ศ.2494-2500 บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ชัย อ.ภูเวียง สร้างกุฏิ 5 หลัง โรงเรียนพระปริยัติธรรม ศาลาการเปรียญและปรับปรุงบริเวณวัด
พ.ศ.2500 หลวงปู่ธีร์ได้มาสร้างวัดแห่งใหม่ในบริเวณป่าไม้ของชุมชนตั้งชื่อว่า วัดภูเวียงวนาราม ต่อมา พ.ศ.2505 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดมิ่งเมืองพัฒนาราม จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ.2520 ได้รับการยกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างจากกรมการศาสนา ได้พัฒนาวัดสร้างถาวรวัตถุ กุฏิ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ อาคารเรียน กำแพงวัด และพิพิธภัณฑสถาน ตามลำดับ
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2482-2491 เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี บ้านท่อน อ.เมืองขอนแก่น
พ.ศ.2491-2493 เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง บ้านกงกลาง อ.หนองเรือ
พ.ศ.2492 เป็นเจ้าคณะตำบลโนนทันเขต 2
พ.ศ.2494 เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะอำเภอภูเวียง
พ.ศ.2500 เป็นเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองพัฒนาราม จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ.2540 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอภูเวียง
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2485 ได้รับแต่งตั้งพระฐานานุกรมของพระราชสารมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ.2495 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท
พ.ศ.2505 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก
พ.ศ.2512 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ
พ.ศ.2544 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ ?พระมงคลวราจารย์?
การสร้างพระเครื่องวัตถุมงคลพระเครื่องวัตถุมงคลของหลวงปู่ธีร์ที่โด่งดัง ท่านได้สร้างตะกรุด นั่งแผ่เมตตาโดยการเขียนลงยันต์ ตะกรุด ในแผ่นทอง ผ้า แผ่นหินหรือกระเบื้อง รวมทั้งการฟั่นปลุกเสกด้ายสายสิญจน์เพื่อผูกแขนและคอ เด็กผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชายทุกวัย หรือนำไปติดเสาติดฝาเรือนชาน ร้านค้า รถยนต์พาหนะ หรือฝังไว้ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันอาถรรพ์ภูตผีปีศาจ
ขณะเดียวกัน หลวงปู่ยังเสกน้ำพระพุทธมนต์มอบให้ผู้เจ็บป่วยเป็นไข้ที่มาพึ่ง บารมีธรรมได้นำไปดื่มกินหรืออาบ เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ในยามว่างของหลวงปู่ธีร์ ท่านมักจะทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งชีวิตในการสะสมพระเครื่อง ทั้งพระรุ่นเก่า พระใหม่ พระบูชา พระพุทธรูปปางต่างๆ โดยจะนั่งพินิจพิเคราะห์และเก็บสะสมไว้จนนับไม่ถ้วน รวมไปถึงของเก่าของโบราณวัตถุต่างๆ มากมาย ที่เป็นมรดกอารยธรรมภูเวียง อาทิ ระฆัง ฆ้อง หม้อ จาน ถ้วย โถ โอ ชาม ขันหมาก ถาด ไหดิน หิน เงินทอง สำริด จนต้องมีการสร้างเก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ในที่สุด
หลวงปู่ธีร์ได้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ ดังเช่น การตื่นเวลาตี 4 ทำวัตรภาวนาสาธยายพุทธมนต์ แผ่เมตตาเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ตี 5 ตีสัญญาณระฆัง ทำวัตรร่วมกับพระภิกษุ-สามเณร ก่อนออกรับบิณฑบาต ดังนี้แล
การมรณภาพ หลวงปู่ธีร์ เขมจารี ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา 24.00 น. ของวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2549 ณ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น หลังเข้ารับการรักษาอาการโรคปอดติดเชื้อ มาตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ.2549
วงการสงฆ์ต้องสูญเสียพระเถระรูปสำคัญผู้บำเพ็ญคุณูปการต่อชาวเมืองขอนแก่นมาอย่างยาวนาน ด้วยความอุตสาหวิริยะ เหลือทิ้งไว้แต่ผลงานอันทรงคุณค่าที่อุทิศให้แด่พระพุทธศาสนา เป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำไว้เบื้องหลัง
ทั้งนี้ ทางวัดและคณะศิษยานุศิษย์ได้จัดงานบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาการเปรียญวัดมิ่งเมืองพัฒนา อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น และตั้งศพให้ญาติโยมทั่วไปได้กราบไหว้ พร้อมทั้งสวดพระอภิธรรมศพ จนครบ 100 วัน ก่อนทำพิธีพระราชทานเพลิงศพต่อไป
ทุกวันนี้แม้สังขารหลวงปู่ธีร์จะดับสูญ แต่คุณงามความดียังคงปรากฏไพศาล