พระพุทธศาสนาในภาคอีสานและล้านช้าง ?>
ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน
The Buddhist Art Conservation Club Of Esan (North Eastern Part Of Thailand)
23 เมษายน 2567, 16:13:45 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

กติกาในการ เช่า-แลกเปลี่ยนพระเครื่อง | พระเครื่องเมืองอุบลราชธานี | แจ้งปัญหาการใช้งาน
แจ้งเรื่องการยืนยันตัวตนสำหรับผู้ที่จะให้เช่าพระเครื่องฯ | วิธีสมัครสมาชิกเว็บ

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธศาสนาในภาคอีสานและล้านช้าง  (อ่าน 13478 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เต้ อุบล
พุทธศาสนิกชน ฅนรักษ์ธรรมะ
Administrator
*****

พลังน้ำใจ : 634
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 982

Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 25 : Exp 44%
HP: 0%



อย่าสุไลเสียถิ้ม พงษ์พันธุ์พี่น้องเก่า อย่าสุละเผ่าเซื้อ ไปย่องผู้อื่นดี

sabayd8861@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: 12 มกราคม 2555, 21:52:46 »

พระพุทธศาสนาในภาคอีสานและล้านช้าง
 
เอกสารประกอบคำบรรยายเรื่อง ?พระพุทธศาสนาลุ่มแม่น้ำโขง? ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการอาจารย์สอนศาสนาและปรัชญา  คณะศาสนาแลปรัชญา  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  ณ โรงแรมซันพาเลซ  อำเภอเมือง  จังหวัดเลย  ระหว่างวันที่  ๙ ? ๑๒  กรกฎราคม  ๒๕๕๑
ศาสตราจารย์ ธวัช  ปุณโณทก
ประธานโครงการสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน


(การเขียนบทความนี้ใช้ข้อมูลที่พบในภาคอีสาน  ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างเป็นระยะเวลายาวนาน  ได้พบศิลาจารึกและหลักฐานที่กษัตริย์ล้านช้างได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจำนวนมาก)
                ภาคอีสานเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  ส่วนในสมัยประวัติศาสตร์น่า จะแบ่งเป็นยุคสมัยได้ดังนี้
๑)      สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕  (ร่วมสมัยทวาราวดี)  พบว่ามีหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่เป็นหลักฐานของพุทธศาสนา  เช่น  เสมาหินขนาดใหญ่  เมืองฟ้าแดดสงยาง  อำเภอกมลาสัย  จังหวัดกาฬสินธุ์  และกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทั้งแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช  นอกจากนี้ยังมีศิลาจารึกอักษรปัลลวะ  (หรืออักษรคฤนถ์)  ใช้ภาษาสันสกฤต  กล่าวถึงเรื่องราวทางพุทธศาสนาอีกด้วย
๒)     สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘  (สมัยขอมพระนคร)  พบปราสาทหินขนาดใหญ่  เช่น  ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง  (จังหวัดบุรีรัมย์)  ปราสาทหินพิมาย  (จังหวัดนครราชสีมา)  และปราสาทหินขนาดกลางและขนาดย่อมกระจัดกระจายทั่วไปในภาคอีสาน  นอกจากนี้ยังพบศิลาจารึกอักษรขอมโบราณบันทึกด้วยภาษาสันสกฤตปะปนภาษาเขมร  จนถึงบันทึกด้วยภาษาเขมรล้วน ๆ เรื่องราวที่บันทึกในศิลาจารึกนั้นกล่าวถึงเทพเจ้าฮินดูและพิธีกรรมอันเนื่องด้วยเทวสถานและเทพเจ้าประจำเทวสถานนั้น ๆ แสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยดังกล่าวศาสนาพราหมณ์ลัทธิเทวราชาได้แพร่กระจายไปทั่วภาคอีสานอยู่ประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ปี
๓)     สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐  เป็นสมัยที่ไม่พบหลักฐานทางด้านโบราณคดี  นั่นคือไม่มีโบราณวัตถุ  โบราณสถาน  และศิลาจารึกที่ได้สร้างขึ้นในสมัยดังกล่าว
๔)     สมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๓  (สมัยอิทธิพลอาณาจักรล้านช้าง)  เป็นสมัยที่อาณาจักรล้านช้างครอบ ครองดินแดนภาคอีสานทั้งหมด  โดยเฉพาะในแอ่งสกลนครและลุ่มแม่น้ำโขง  พบศิลาจารึกจำนวนมากที่กษัตริย์ล้านช้างสร้างไว้ในภาคอีสาน  ตัวอักษรตัวธรรมและอักษรไทยน้อย  ซึ่งเป็นอักษรที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในอาณาจักรล้านช้าง  เนื้อความที่บันทึกเป็นเรื่องราวพุทธศาสนา  ส่วนใหญ่กล่าวถึงการอุทิศที่ดิน  ข้าทาส  และนาจังหัน  ถวายแก่วัดนั้น ๆ
๕)     สมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕  (สมัยอิทธิพลราชธานีไทย)  คือนับตั้งแต่สมัยที่พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ยกกองทัพเข้ายึดอาณาจักรล้านช้างทั้ง ๓ รัฐ คือ หลวงพระบาง  เวียงจันทน์  และนครจำปาศักดิ์  (สมัยดังกล่าวอาณาจักรล้านช้างแยกกันปกครองเป็น ๓ รัฐ)  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๒  และได้หัวเมืองอีสานทั้งหมด
๖)      สมัยรัชกาลที่ ๕?สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕  คือนับตั้งแต่สมัยปฏิรูปการปกครองหัวเมือง (พ.ศ. ๒๔๓๖ ? พ.ศ. ๒๔๕๐)  ที่รัฐบาลกลางได้จัดการปกครองภาคอีสานเป็นจังหวัด  อำเภอ  ลดอำนาจ เจ้าเมืองท้องถิ่น  โดยส่งข้าหลวงกำกับราชการประจำเมืองต่าง ๆ ไปควบคุมนโยบายแทนเจ้าเมืองเดิม  จนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. ๒๔๗๕
                พุทธศาสนาซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาวไทยในภาคอีสาน  ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคมและกระแสการเมืองการปกครอง  ในการอธิบายพุทธศาสนาในภาคอีสานนี้จะเริ่มจากสมัยอิทธิพลอาณาจักรล้านช้างเป็นต้นมา จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ในช่วยระยะเวลาดังกล่าวมีเอกสารประวัติศาสตร์และศิลาจารึก สามารถอธิบาย การเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบของพุทธศาสนาในภาคอีสานได้  ๓  สมัย คือ
(๑)    สมัยอิทธิพลอาณาจักรล้านช้าง  คือสมัยที่ภาคอีสานเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง
(๒)   สมัยอิทธิพลราชธานีไทย  คือสมัยที่ภาคอีสานอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลไทย  นับตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นต้นมา
(๓)   สมัยปัจจุบัน  (สมัยรัชกาลที่ ๕ ? สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕)  คือสมัยที่พัฒนาสังคมภาคอีสานไปสู่สังคมสมัยใหม่  นั่นคือการรวมเป็นรัฐประชาชาติไทย  (สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์หัวเมืองในภาคอีสานมีฐานะเป็นเมืองขึ้น  ส่งส่วยต่อราชธานี)  จัดตั้งโรงเรียนให้เรียนหนังสือไทย  ยกเลิกธรรมเนียมพิธี กรรมทางพุทธศาสนาของท้องถิ่น จนถึงประกาศใช้พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ (พระสังฆาณัติ) พ.ศ. ๒๔๗๕  ซึ่งจัดระบอบการปกครองคณะสงฆ์ทุกภาคเหมือนกัน

thxby7183uthai08
บันทึกการเข้า
เต้ อุบล
พุทธศาสนิกชน ฅนรักษ์ธรรมะ
Administrator
*****

พลังน้ำใจ : 634
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 982

Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 25 : Exp 44%
HP: 0%



อย่าสุไลเสียถิ้ม พงษ์พันธุ์พี่น้องเก่า อย่าสุละเผ่าเซื้อ ไปย่องผู้อื่นดี

sabayd8861@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: 12 มกราคม 2555, 21:55:15 »

๑. พุทธศาสนาภาคอีสานสมัยอิทธิพลอาณาจักรล้านช้าง (พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ? ๒๓)
                ในหลักฐานด้านประวัติศาสตร์  และศิลาจารึกนั้นพบว่า  ภาคอีสานเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง  รัฐบาลไทยสมัยอยุธยาไม่มีอำนาจครอบครองภาคอีสาน  จนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  กรุงศรีอยุธยาได้เริ่มมีอำนาจเหนือที่ราบสูงโคราช  บริเวณเมืองนครราชสีมา  และเมืองใกล้เคียง  (หาได้มีอำนาจปกครองไปถึงชายฝั่งแม่น้ำโขงไม่)
                ฉะนั้นนับตั้งแต่สมัยพระเจ้าฟ้างุ้มมีอำนาจเหนืออาณาจักรล้านช้าง และปกครองเมืองหลวงพระบาง(หรือเมืองเชียงดง  เชียงทอง  หรือเมืองชวา)  ก็แผ่อำนาจปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ตามลุ่มแม่น้ำโขงจนถึงเมืองโคตรบอง หรือ โคตรบูรณ์  (คือบริเวณจังหวัดนครพนมปัจจุบัน)  ในสมัยหลังต่อมาอำนาจอาณาจักรล้านช้างก็ยังครอบครองดินแดนภาคอีสาน โดยเฉพาะบริเวณแอ่งสกลนครนั้น กษัตริย์ล้านช้างได้สร้างศิลาจารึกไว้จำนวน หนึ่ง  ที่กล่าวถึงการทำนุบำรุงพุทธศาสนาในภาคอีสาน
                จากการศึกษาเนื้อหาสาระของศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว  โดยเฉพาะในช่วยสมัยอิทธิพลอาณาจักรล้านช้างนั้น  พบว่าพระพุทธศาสนาในภาคอีสานบริเวณแอ่งสกลนครนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก  พระมหากษัตริย์ทรงใส่ใจในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง  สืบเนื่องมาเกือบทุกรัชสมัย  แม้ว่าบางรัชสมัยไม่พบศิลาจารึกในบริเวณแอ่งสกลนครนั้น  ก็ไม่อาจสรุปได้ว่า  ไม่มีการสร้างศาสนสถาน  หรือพระมหากษัตริย์ไม่ใส่ใจในพุทธศาสนา  เพราะเหตุว่าในบริเวณแอ่งสกลนครนี้เป็นเมืองปลายแดนห่างไกลจากศูนย์กลางทางการเมืองการปกครอง  แต่ก็พอจะเชื่อได้ว่ามีการสร้างศาสนสถานน้อยลง  เพราะน่าจะมีเหตุการณ์บ้านเมืองไม่เอื้อในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  เช่น  ถูกรุกรานจากพม่า  หรือเกิดความวุ่นวายในการสืบราชสมบัติ
                การที่พบว่าศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาวนั้น  ได้ให้ความสำคัญแก่พุทธศาสนาอย่างโดดเด่นมาก  เมื่อเทียบกับกรุงศรีอยุธยาในสมัยเดียวกัน  ฉะนั้นจึงเกิดคำถามว่าเพราะเหตุใดพระมหากษัตริย์แห่งล้านช้างจึงต้องสนพระทัยในพุทธศาสนามากเช่นนั้น  นั่นคือการอุทิศที่ดินสร้างวัด  อุทิศนาจังหัน  และผู้คนในเขตนาจังหัน  ให้เสียส่วยอากรบำรุงวัดแทนการเสียส่วยอากรต่อรัฐ  รวมทั้งการอุทิศคนจำนวนมากเป็นข้าพระโยมสงฆ์ (ข้าโอกาส)  ลักษณะดังกล่าวอาจจะอธิบายได้ว่า  ในอาณาจักรล้านช้างสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ นั้น  พระมหา กษัตริย์ได้ใช้กุศโลบายในการปกครองประชาชน  หรือไพร่บ้านไทยเมืองโดยวิธีใช้สถาบันศาสนาเป็นแกนนำในการควบคุมความประพฤติของประชาชน นั่นคือพระมหากษัตริย์ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา ให้พระเถระพระ ภิกษุสามเณรได้ปฏิบัติธรรมโดยสะดวกตามฐานานุรูป  ซึ่งพระเถระเหล่านั้นเป็นที่เคารพบูชาของประชาคม  ก็ได้ทำหน้าที่ในการสั่งสอนพระธรรมตามหลักปรัชญาของพุทธศาสนา หลักธรรมเหล่านั้นได้ทำหน้าที่เป็นสัญญาประชาคม  ควบคุมความประพฤติชาวบ้านโดยปริยาย  และหลักธรรมเหล่านี้มีคุณค่าต่อความเชื่อของชาวพุทธมากยิ่งกว่ากฎหมายของรัฐ  เนื่องจากชาวพุทธย่อมเชื่อว่าเป็นการแสวงหาเนื้อนาบุญอันเป็นกุศลผลบุญติดตัวไปทั้งชาตินี้และชาติหน้า  ฉะนั้นชาวพุทธจึงยินดีเชื่อฟังด้วยความศรัทธาต่อหลักธรรม  และพร้อมที่จะอุทิศตนเป็นผู้อุปัฏฐากรับใช้พระเถระและพระศาสนา  ฉะนั้นการใช้หลักธรรมในการควบคุมจริยธรรมในสังคมจึงมีประสิทธิภาพมาก  ไม่มีผู้ใดละเมิด  เมื่อบ้านเมืองสงบสุขไม่มีโจรผู้ร้าย  ชาวบ้านย่อมทำกินสะดวกสบายได้ทรัพย์เพื่อเสียส่วยอากรแก่รัฐ  ในขณะเดียวกันรัฐมีกำลังที่จะป้องกันข้าศึกศัตรูภายนอก  ฉะนั้นในการอุปถัมภ์พระศาสนาของพระมหากษัตริย์อาณาจักรล้านช้างในยุคนั้น  ย่อมมีผลดีต่อประชาคมศาสนาและรัฐในที่สุด  ซึ่งอาจจะเขียนเป็นแผนผังได้ดังนี้
                จากการศึกษากฎหมายในอาณาจักรล้านช้าง  ในช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒  พบว่ากฎหมายนั้นยังเป็นแนวหลักธรรมวินัยของศาสนาพุทธอยู่มาก  และไม่ได้ตราเป็นกฎหมายสมบูรณ์แบบเหมือนอาณาจักรอยุธยาในยุคเดียวกัน๑  ซึ่งจะดูรายละเอียดได้ในกฎหมาย  ?โคสารราช? (โฆษาราช)  หรือ  ?กฎหมายโคสาราษฎร์?  หรือ  ?พระธรรมศาสตร์ว่าด้วยลักษณะพิจารณาความเทียบพุทธจักร-อาณาจักร?๒  กฎหมายดังกล่าวเชื่อกันว่า  ได้ตราขึ้นในอาณาจักรล้านช้างก่อนที่จะนำไปใช้ในล้านนาเชียงใหม่สมัยพระไชยเชษฐาธิราช (โอรสพระโพธิสาลราชแห่งล้านช้าง)  ไปครองเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑๓  การตรากฎหมายโคสาราชนั้นยึดแนวหลักธรรมวินัยของพระภิกษุสงฆ์  นั่นคือปรับเอาศีล (คือข้อห้ามประพฤติ) ของพระภิกษุมาใช้ควบคุมสังคม  เช่น  แบ่งเป็น ?ห้องปาณาติบาต?  (คือการฆ่า  ทำร้ายร่างกาย)  ?ห้องมิจฉาจาร?  (คือการกระทำผิดต่อทรัพย์สินผู้อื่น  ผิดลูกผิดเมียผู้อื่น)  เป็นต้น  และการลงโทษก็ใช้เช่นเดียวกับวินัยพระภิกษุ  เช่น  ปาราชิก (ประหารชีวิต)  สังฆาทิเสส  ปาจิตตี  (ปรับไหม)  ทุกกฎ ฯลฯ เป็นต้น  แสดงให้เห็นชัดเจนว่า  สถาบันศาสนามีส่วนช่วยในการควบคุมสังคม  และพระเถระได้มีส่วนช่วยเหลือตราบทบัญญัติอันเป็นสัญญาประชาคม  ให้สถาบันกษัตริย์ประกาศใช้ทั่วพระราชอาณาจักรอีกด้วย
                ฉะนั้นการที่พระมหากษัตริย์แห่งล้านช้างได้ทรงใส่ใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนานั้น  น่าจะเป็นผลดีต่อฝ่ายอาณาจักร  จึงพบว่ากฎหมายโคสาราชได้นำเอาแนวประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุมาปรับใช้กับการควบคุมความประพฤติของบุคคลในสังคม  ซึ่งเป็นบทบัญญัติของสังคมอย่างหลวม ๆ  ไม่เป็นระบบสมบูรณ์แบบเหมือนกฎหมายอยุธยา (กฎหมายตราสามดวง  ได้รวบรวมจากกฎหมายอยุธยา)  และในขณะเดียวกันผลของการควบคุมสังคมโดยใช้กฎหมายพุทธจักร  น่าจะได้ผลดีทางจิตใจมากกว่าอาณาจักร  โดยเฉพาะไม่ต้องมีผู้รักษากฎหมาย (ตำรวจ)  คอยปราบปรามผู้กระทำผิด  อีกประการหนึ่งประชาชนทั่วไปจะมีจิตสำนึกว่าตนนั้นได้ประพฤติตามหลักธรรม  อันเป็นผลให้ได้เนื้อนาบุญติดตัวตามสนองทั้งชาตินี้และชาติหน้า  ฉะนั้นชาวพุทธจึงเชื่อว่าความแร้นแค้นทุกข์เข็ญในชาติปัจจุบันนี้  ก็เพราะวิบากกรรมเมื่อชาติปางก่อน  ชาตินี้จำเป็นต้องประพฤติตามหลัก ธรรมเพื่อจะได้ประสบสุขในชาติหน้า  นั่นคือจะได้เกิดอยู่ในชาติตระกูลชนชั้นสูงหรือร่ำรวย  ตามแนวคิดของพุทธศาสนาแนวประชาชน (Popular Buddhism)  ซึ่งยึดแนวชาตินี้และชาติหน้า  และเน้นเรื่องกฎแห่งกรรมมาก กว่าที่เน้นเรื่องนิพพานตามแนวพุทธศาสนาแบบปรัชญา (Doctrinal Buddhism)  ฉะนั้นประชาชนทั่วไปก็จะหมั่นประพฤติตามหลักธรรมอันเป็นประหนึ่งสัญญาประชาคมนั้น ๆ โดยดุษณีภาพ
 
               ๑.๑  สถานภาพของสถาบันพุทธศาสนาในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ? ๒๓  ในภาคอีสาน และล้านช้าง
                จากการศึกษาเนื้อหาสาระในศิลาจารึกอีสานสมัยอิทธิพลล้านช้าง  พบว่า  สถาบันพุทธศาสนานั้นได้รับอภิสิทธิ์มาก  เนื่องจากสถาบันพุทธศาสนาได้ทำหน้าที่ควบคุมความประพฤติของประชาชนในสังคม  อันเป็นแนวร่วมในจุดหมายเดียวกันกับการสั่งสอนพระธรรมของศาสนา  นั่นคือทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักรได้ร่วมกันประสานผลประโยชน์  ประชาชนก็ยินดีประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมเพื่อหวังเนื้อนาบุญ  ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น จากเหตุผลอันนี้ช่วยให้เราอนุมานได้ว่าสภาพสังคมในสมัยนั้นคงเต็มไปด้วยความสันติสุข นอกจาก นี้เรายังพบว่าสถาบันพุทธศาสนามั่นคง  และมีสถานภาพไม่ด้อยไปกว่าสถาบันกษัตริย์  ซึ่งได้รับอภิสิทธิ์อย่างมากเมื่อเทียบกับสถาบันพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยาสมัยเดียวกัน  โดยเฉพาะมีข้าโอกาส (ข้าพระโยมสงฆ์)  มารับใช้ปรนนิบัติในการบำเพ็ญศีลภาวนาของพระสงฆ์  มีที่ดินที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์บำรุงพระศาสนา  และมีนาจังหันที่เก็บภาษีอากรถวายแก่วัด๔  ฉะนั้นประชากรในวัด (พระเถระ พระภิกษุ สามเณร ศิษย์วัด)  จะมีโภคทรัพย์อาหารอย่างบริบูรณ์  ซึ่งได้จากการเสียภาษีอากรของประชาชนคือข้าโอกาสที่ทำกินอยู่ในเขตนาจังหัน  ซึ่งพระ มหากษัตริย์อุทิศให้เป็นเขตพื้นที่อุปถัมภ์แก่วัด  ในการถวายนาจังหันแก่วัดนี้  พบว่า  พระมหากษัตริย์สมัยหลัง ๆ จะอุทิศนาจังหันเพิ่มเติมมักจะบอกกล่าวให้ทราบแน่ชัดว่าเขตนาจังหันหรือที่ดินที่พระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ ได้อุทิศไว้ก่อนหน้านี้แล้วอีกส่วนหนึ่งด้วย
                เป็นที่น่าสังเกตว่าสถาบันพุทธศาสนานั้นมีอาณาบริเวณ  มีอำนาจเก็บภาษีอากร  มีผู้คนรับใช้เป็นเจ้า หน้าที่  และดูเหมือนว่าจะมีอำนาจบริหารกิจการภายในวัด  ซึ่งทางรัฐหรือกษัตริย์ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องจนดูเหมือนเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ  ที่ซ้อนอยู่ภายในอาณาจักรใหญ่  แต่กระนั้นก็ตามเราก็ยังไม่อาจสรุปได้ว่า  สถาบันพุทธศาสนาคือวัดต่าง ๆ จะมีอภิสิทธิ์มีอำนาจทัดเทียมกับอำนาจฝ่ายอาณาจักรของรัฐทุกอาราม  เพียงแต่เชื่อได้ว่า  พระอารามที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง  ปฏิสังขรณ์  หรือได้ประกาศกัลปนาโดยสร้างศิลาจารึกไว้นั้น  จะเป็นอารามที่มีอำนาจหรือมีอภิสิทธิ์  และมักจะพบว่ามีพระเถระผู้ใหญ่สถิตอยู่ในอารามเหล่านั้น (ปรากฏนามอยู่ในศิลาจารึกนั้น ๆ ด้วย)๕
                ฉะนั้นการศึกษาสถาบันวัดในภาคอีสานสมัยอิทธิพลล้านช้าง  น่าจะอธิบายถึงรูปแบบและบุคลากรที่ประกอบกันเป็นสถาบันได้ดังนี้
                ๑)  บุคลากร  น่าจะประกอบด้วย
                                - พระเถระผู้ใหญ่  (ผู้รับอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์โดยปริยาย)
                                - พระภิกษุสามเณร  (ผู้ทำหน้าที่ศึกษาพระธรรมวินัย  และสั่งสอนประชาชน)
                                - สังฆการี  (ผู้บริหารบุคลากรฝ่ายฆราวาสในวัด)
                                - ข้าโอกาส  (เลกวัดที่พระมหากษัตริย์,  เจ้านายอุทิศให้)
                                - ประชาชนในเขตนาจังหัน  เป็นผู้เสียอากรบำรุงวัด  เรียกว่า  เงินเสียค่าหัว  และข้าวพีชภาค (เรียกตามข้าโอกาสวัดพระธาตุพนมปัจจุบัน)
                ๒)  ทรัพย์สิน  น่าจะประกอบด้วย
                                - รัตนเขต  หรือพุทธเขต  (ที่ดินกัลปนาเป็นเขตวิสุงคามสีมา  คือเขตที่แยกจากหมู่บ้าน  ส่วนใหญ่หมายถึงบริเวณพระอุโบสถ)
                                - คามเขต  (พื้นที่โดยรอบบริเวณวัด)
                                - นาจังหัน  (พื้นที่นารวมทั้งประชาชนในเขตนาจังหัน  ที่เรียกว่าข้าโอกาส)
                นอกจากนี้ยังพบว่าพืชผลอันเกิดอยู่ในเขตพื้นดินที่อุทิศให้แก่วัด  จะเป็นเขตนาจังหันก็ดี  หรือคามเขตก็ดี  ย่อมเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของวัด  ในการเก็บผลนั้นต้องมีคนสังฆการีร่วมด้วย๖
                ฉะนั้นการที่พระมหากษัตริย์ได้อุทิศที่ดิน  นาจังหัน  และผู้คนแก่พระอารามนั้น  ก็เป็นผลดีที่สถาบันวัดสามารถเลี้ยงตัวเองได้  โดยพระมหากษัตริย์ไม่ต้องดูแลเรื่องอัฐบริขารและจตุปัจจัยรวมทั้งภัตตาหารกับพระอารามที่อยู่ห่างไกล  แม้ว่าในบางรัชสมัยจะมีปัญหาเรื่องการเกณฑ์ไพร่พลในกองทัพอยู่บ้าง  สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก็ได้ทรงแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว  โดยยอมให้เกณฑ์ไพร่พลเข้ากองทัพจากเลกวัด (ข้าโอกาส)  และไพร่พลที่อยู่ในเขตนาจังหันได้  โดยอ้างว่าข้าศึกนั้นมาทำลายล้างพระศาสนาด้วย  เช่น  ?(ห้ามเจ้า)บ้านเจ้าเมืองเอาอันหนึ่ง... มาใส่เวียกแก่ข้าฝูงนี้แต่ควรในเมื่อข้าเศิกมาราวีบ้านเมืองสิ่งเดียว เหตุจักสืบ(พระ)ศาสนา...?๗  หรือ  ?...เจ้าบ้านเจ้าเมืองผู้ใดก็ดี  อย่าให้บอกเวียกบ้านเวียกเมืองแก่เขานี้  เศิกมันมายึดเอาหากจักบอก  ผู้ใดม้างพระราชอาชญาเสียให้มันตกมหาอเวจีอย่ารู้ออก...?๘  เป็นต้น
                (อธิบายศัพท์  :  ใส่เวียกกับข้าฝูงนี้ ? ใช้งานกับข้าโอกาสเหล่านี้ / เวียก ? การงาน / ม้าง ? ทำลาย)
 
                ในการสร้างศิลาจารึกประกาศพระบรมราชโองการนี้  ตอนท้ายความมักจะมีคำสาปแช่งไม่ให้กษัตริย์องค์ใหม่มาเพิกถอนสิทธิ์ในเขตดิน  หรือผู้คนที่อุทิศถวายไว้เพื่ออุปถัมภ์พระศาสนา  (ดังความตอนท้ายของตัว อย่างข้างต้น)
 
๑.๒  ข้าโอกาสหรือเลกวัด
                การที่พบว่าในสถาบันวัดในภาคอีสานและล้านช้างนั้น  มีผู้มีใจศรัทธาต่อศาสนาได้อุทิศข้าทาสให้ไปรับใช้พระภิกษุสงฆ์ในวัดที่เรียกว่า ?ข้าโอกาส?  (Temple serf)  หรือ ?ข้าพระโยมสงฆ์? นั้น  คนกลุ่มนี้จะเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดไปโดยตลอด  แม้ว่าสมรสกันมีลูกหลานออกมานั้น  บุตรธิดาก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดเช่น เดิม  และในขณะเดียวกันคนกลุ่มที่เป็นข้าโอกาสนี้ก็จะขาดจากอำนาจของรัฐ  นั่นคือรัฐจะเกณฑ์แรงงานมารับใช้ราชการหรือเจ้านาย (ที่เรียกแบบภาคกลางว่าเข้าเดือนออกเดือน) ไม่ได้เพราะเป็นสมบัติของพระศาสนาแล้ว  ฉะนั้นบางวัดที่มีผู้อุทิศข้าโอกาสไว้กับวัดจำนวนมาก  หรือได้สืบลูกหลานจำนวนมากขึ้นภายหลัง  จึงต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลปกครองกันภายในวัด  และจัดแบ่งหน้าที่กันตามระดับชั้น  ข้อความบางตอนในศิลาจารึกวัดมุจ    ลินทร์ (ข.ก. ๘) ได้ให้ความกระจ่าง  เรื่องการกำหนดหน้าที่ของข้าโอกาสในวัดโดยเฉพาะตอนที่กล่าวถึงนักโทษอาญาแผ่นดินที่หนีภัยเข้ามาพึ่งพระศาสนา  จะงดโทษอาญาทางบ้านเมือง  และยกให้เป็นข้าโอกาส  โดยจัดหน้าที่ตามฐานานุรูป  ดังนี้
                ?...ครั้นใส่สินไหมแล้ว  ข้อยก็ให้หาเวียกข้อย  ไพร่ให้หาเวียกไพร่  คนผู้ใดให้หาเวียกผู้นั้น...?๙
                (เมื่อปรับไหมแล้ว  ถ้าเป็นทาสก็ใช้งานหน้าที่ทาส  ไพร่ก็ใช้งานไพร่  คนชั้นใดก็ใช้งานตามชนชาตินั้น)
                การจัดระบบในสถาบันพุทธศาสนาในสังคมอีสานสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๓ นั้น  (หรืออาจจะสืบ เนื่องมาในสมัยหลังอีก)  ดูเหมือนว่าสถาบันพุทธศาสนานั้นสนใจในโภคทรัพย์มากเกินความจำเป็น  ซึ่งขัดต่อสมณวิสัยตามปรัชญาของพุทธศาสนา  แต่จากการศึกษาเรื่องข้าโอกาสในอาณาจักรไทยส่วนอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกัน  เช่น สุโขทัย  ล้านนาเชียงใหม่  จะใช้ธรรมเนียมเดียวกัน  (ส่วนอยุธยา  ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนจึงไม่อาจจะเชื่อได้ว่าใช้ธรรมเนียมเดียวกัน)  เช่น  ในอาณาจักรสุโขทัย  พบหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๒  (มหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีฯ) พ.ศ. ๑๘๘๔-๑๙๑๐  และศิลาจารึกวัดช้างล้อม หลักที่ ๑๐๖ (พ.ศ. ๑๙๒๗)  และจารึกฐานพระพุทธรูปผ้าขาวทอง (พ.ศ. ๑๙๖๕) ฯลฯ  ดังจะยกตัวอย่างพอสังเขปดังนี้
                ?...แต่งคนเฝ้ารักษาหลายครัวมีทั้งสวนหมากสวนพลู  ไร่นา๑๐...? (พระมหาเถระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีฯ)
                ?...ไว้คนเรือนหนึ่ง  แต่งจังหันพระเจ้า  พาทย์คู่หนึ่ง  ให้ข้าสองเรือนตีบำเรือแก่พระเจ้า  ฆ้องสองอัน  กลองสามอัน  แตร  สังข์  เขาควาย  แต่งให้ไว้ถวายแก่พระเจ้า  แล้วบวชเมียบวชลูก  บวชหลาน  บวชข้า  ข้าแลเมียมักกันให้ขาแก่กันไปเป็นไทให้เลี้ยงแม่ผู้ชาย๑๑ (พ่อนมใสคำ)?
                ?ผ้าขาวทองแต่งข้าพระ  แม่มูบเมีย  ชื่อยงลูก  ไว้เป็นข้า  แม่ลูกเป็นข้าพระนี้แล...๑๒? (ชีผ้าขาวทอง)
                ดังตัวอย่างข้างต้นนี้จะพบว่า  ธรรมเนียมการอุทิศข้าพระโยมสงฆ์  หรือข้าโอกาสแก่พระภิกษุนั้นในสุโขทัยเริ่มนิยมกันแล้ว ตั้งแต่พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีฯ และภายหลังก็มีผู้ศรัทธานิยมถวายทาสโอกาส แก่พระศาสนามากขึ้น  เช่น ศิลาจารึกวัดอโศการาม  หลักที่ ๙๓ (พ.ศ. ๑๙๔๒)  ศิลาจารึกวัดเขมา  หลักที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๐๗๙)๑๓  แต่กระนั้นก็ดีการอุทิศข้าโอกาสเพื่อรับใช้พระเถระ เช่น จัดหาจังหัน  รักษาพยาบาลพระภิกษุ  ดูแลไร่นาจังหันอีกด้วย  จำนวนน้อยพอเหมาะสมที่จะอุปัฏฐากรับใช้พระภิกษุสามเณรในวัด  มิได้มีจำนวน   มาก ๆ ดังปรากฏอยู่ในศิลาจารึกอีสานสมัยอิทธิพลล้านช้าง
                แต่อย่างไรก็ตามจากหลักฐานการอุทิศข้าโอกาสถวายแก่วัดนี้ เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า ในสังคมสุโขทัยนั้นมีทาสบ้างแล้ว  ดังจะเห็นได้ชัดเจนในศิลาจารึกวัดช้างล้อม (พ.ศ. ๑๙๒๗)  และในขณะเดียวกันมักจะพบว่าบุคคลที่นิยมอุทิศให้เป็นข้าโอกาสในสังคมสุโขทัยมักจะเป็นเครือญาติ เช่น ภรรยา ลูกหลาน มากกว่า      ข้าทาส
                ธรรมเนียมการอุทิศข้าโอกาสแก่วัดคงจะเริ่มจากอาณาจักรสุโขทัยก่อน  หรือในระยะเวลาเดียวกับกลุ่มพระภิกษุลังกาวงศ์สายเมืองพัน (ลังกาวงศ์แบบมอญ  ซึ่งมีพระอุทุมพรมหาสวามีเป็นเจ้าสำนัก)  ซึ่งเข้ามาสู่อาณา จักรสุโขทัยในรัชสมัยพระเจ้าลิไทย๑๔  เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๔  มีการต้อนรับโดยขัดข้าวตอกดอกไม้กัลปพฤกษ์บูชาตลอดระยะทางจากเมืองฉอด  เชียงทอง  บางจันทร์  บางพาร  จนถึงเมืองสุโขทัยและพระภิกษุกลุ่มนี้ได้เผยแผ่พระศาสนาไปสู่รัฐไทยต่าง ๆ เช่น พระสุมนเถระขึ้นไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์แบบมอญที่ชียงใหม่ในรัชสมัยพระเจ้ากือนา  ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในศิลาจารึกวัดพระยืน  จังหวัดลำพูน  หลักที่ ๖๓  (พ.ศ. ๑๙๑๓)  และไปสร้างวัดบุปผาราม (วัดสวนดอก)  เมืองเชียงใหม่  ในรัชสมัยพระเจ้ากือนา  (พ.ศ. ๑๙๐๙ ? ๑๙๒๘)
                ธรรมเนียมการอุทิศข้าโอกาสแก่วัดในภาคเหนือนี้  น่าจะเริ่มนับตั้งแต่ศิลาจารึกวัดบางสนุก  หลักที่ ๑๐๗ (ประมาณ พ.ศ. ๑๘๘๒)  จังหวัดแพร่  มีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงเจ้าเมืองตรอกลลอบ (ในเขตเมืองแพร่)  ได้อุทิศข้าโอกาสแก่วัดว่า ?...แลจึงแต่งกระยาทาน.. คนครอกหนึ่งให้ดูพระ  ช้างตัวหนึ่ง  ม้าตัวหนึ่ง  วัวตัวหนึ่ง  ควายตัวหนึ่ง...?๑๕  แสดงให้เห็นว่า  ธรรมเนียมการอุทิศข้าโอกาสได้ใช้พร้อม ๆ กับอาณาจักรสุโขทัย  ซึ่งในสมัยสุโขทัยนั้นพบว่าเมืองแพร่  เมืองพัว (ปัว)  เมืองน่าน  รวมกันเป็นรัฐอิสระชื่อนันทบุรี  ที่มีความสัมพันธ์กับสุโขทัยมากกว่าอาณาจักรล้านนา๑๖  และเมื่อถึงรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ. ๑๙๘๔-๒๐๓๐)  ครองเมืองเชียง ใหม่  อิทธิพลทางด้านการเมือง  และวัฒนธรรมล้านนาก็เข้ามามีอิทธิพลแทนที่ในบริเวณรัฐนันทบุรีโดยเฉพาะวัฒนธรรมการเขียนหนังสือ  จะพบว่าอักษรไทยฝักขามและอักษรตัวเมือง (อักษรยวน)  เข้ามาใช้แทนอักษรสุโขทัยในการบันทึกศิลาจารึกในสมัยหลังต่อมา
                การอุทิศข้าโอกาสแก่วัดในอาณาจักรล้านนาที่เป็นหลักฐานชัดเจนนั้น  น่าจะได้แก่ศิลาจารึกวัดสุวรรณมหาวิหาร  เมืองพะเยา  เลขทะเบียน ลพ.๙ (พ.ศ. ๑๙๕๔)  ได้กล่าวถึงพระมหาเทวีและเจ้าสีหมื่น (เจ้าเมืองพะเยา)  ได้สร้างวัดสุวรรณมหาวิหาร  และอุทิศให้นาจังหันจำนวน ๒๑๖๘๕ เข้า (ข้าว)  บ้านเรือน ๒๔๖ เรือน  และลูกวัด (ข้าโอกาส) ๔๒๑๗  แสดงให้เห็นว่าในภาคเหนือได้พัฒนารูปแบบการอุทิศข้าโอกาส  และนาจังหันรุดหน้าไปมากกว่าธรรมเนียมของสุโขทัย  ธรรมเนียมการอุทิศนาจังหันและข้าโอกาสในภาคเหนือได้พัฒนาเป็นระบบเสมือนสถาบันพุทธศาสนาเป็นอาณาจักรน้อย ๆ อาณาจักรหนึ่งภายในขอบเขตอำนาจของวัด  ซึ่งจะพบศิลาจารึกที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา  นั่นคือมีผู้คนมากมาย เช่น ศิลาจารึกวัดเชียงมั่น  อำเภอเมืองเชียงใหม่  เป็นตัวอย่าง
              
          

thxby7184uthai08
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 มกราคม 2555, 21:59:14 โดย TaeUbon » บันทึกการเข้า
เต้ อุบล
พุทธศาสนิกชน ฅนรักษ์ธรรมะ
Administrator
*****

พลังน้ำใจ : 634
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 982

Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 25 : Exp 44%
HP: 0%



อย่าสุไลเสียถิ้ม พงษ์พันธุ์พี่น้องเก่า อย่าสุละเผ่าเซื้อ ไปย่องผู้อื่นดี

sabayd8861@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: 12 มกราคม 2555, 21:55:55 »

      ๑.๓  นาจังหัน
                นาจังหัน  คือที่ดินสำหรับทำไร่ทำนาที่พระมหากษัตริย์ได้อุทิศถวายไว้เป็นศาสนสมบัติ  เพื่อเก็บผล ประโยชน์สำหรับบำรุงวัด  และพระภิกษุในวัด  ธรรมเนียมการอุทิศนาจังหันถวายวัดนี้  มีความหมายมากกว่าการอุทิศที่ดินถวายวัดในปัจจุบันมาก  นั่นคือทั้งที่ดินและประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินเหล่านั้นจะเป็นสมบัติของวัดด้วย  ขาดจากกรรมสิทธิ์ของฝ่ายอาณาจักรดังกล่าวแล้ว   นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์หยาดน้ำลงแผ่นดินอุทิศให้จนถึง ๕,๐๐๐ พรรษา๑๘  พระมหากษัตริย์รัชกาลที่สืบต่อมาไม่มีสิทธิ์เพิกถอนกรรมสิทธิ์  หากเพิกถอนก็จะต้องคำสาปแช่งตามที่พระมหากษัตริย์องค์ที่อุทิศประกาศไว้ในศิลาจารึก  เช่น  ตกอบายทั้งสี่  ไม่มีโอกาสพบศาสนาพระศรีอารย์เป็นต้น๑๙  ถึงแม้ว่าศิลาจารึกบางหลักจะไม่ปรากฏคำสาปแช่ง  แต่ก็เป็นธรรมเนียมที่จะไม่เพิกถอนคำอุทิศของบูรพกษัตริย์  เนื่องจากเกรงต่อบาปหรือต้องคำสาปแช่ง
                การอุทิศนาจังหันที่พบในศิลาจารึกอีสานและล้านช้างสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ? ๒๒ นั้น  พบว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้อุทิศเกือบทั้งสิ้น  มีบางส่วนที่เจ้าเมืองหรือเจ้าหัวเมืองเป็นผู้อุทิศเฉพาะที่ดิน  ไม่ได้หมาย ถึงนาจังหัน  แต่ก็ยังกล่าวอ้างว่าเป็นที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์เป็นกรรมสิทธิ์แล้ว  เช่น  ในศิลาจารึกวัดแดนเมือง ๑  พระยาปากเจ้า (เจ้าเมืองปากห้วยหลวง)  ได้อุทิศที่ดินสำหรับสร้างวัดแดนเมือง  ถ้าเราพิจารณาแยกกันว่าส่วนที่เป็นบริเวณวัดส่วนหนึ่ง (คือคามเขต และพุทธเขต)  และส่วนที่เป็นนาจังหันอีกส่วนหนึ่ง  จะพบว่าที่ดินที่เป็นนาจังหันนั้น  พระมหากษัตริย์หรือพระญาติวงศ์ผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะมีอาญาสิทธิ์ในการอุทิศ  เพราะนั่นหมายถึงการกำหนดให้ประชาชนที่ทำกินในพื้นที่ดังกล่าวนั้นหลุดพ้นจากพันธะของฝ่ายอาณา จักรด้วย (ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน  ไม่ต้องเข้าเวรรับใช้เจ้าสังกัด  มูลนาย  ไม่ต้องเสียภาษีอากรให้แก่รัฐ)  ฉะนั้นจึงไม่พบว่าท้าวเพี้ยหรือเจ้าเมืองมีอำนาจพอที่จะอุทิศที่นาจังหันให้แก่วัดได้  ธรรมเนียมการอุทิศที่ดินให้เป็นนาจังหันในอาณาจักรล้านช้างนั้น  ยังไม่พบหลักฐานว่าเริ่มต้นในสมัยใด  แต่จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดแดนเมือง ๒ นั้น  พอจะอนุมานได้ว่า  ได้เริ่มต้นนิยมกันก่อนสมัย พ.ศ. ๑๙๙๙ ? ๒๐๒๑ แล้ว  มีข้อความกล่าวว่า  ?...ไร่นา  บ้านเมือง  หมากพลู  พร้าวตาล  ข้อยกับวัดกับพระ  แต่ชายมุยและลุงพระยาจันทร์  ได้หยาดน้ำไว้ว่า ใผยังถอนออกไปหาเจ้าหาขุนให้เอาคืนดังเก่าเวียกบ้านเวียกเมืองอย่าให้เยด (ทำ)?๒๐  แสดงให้เห็นว่าในบริเวณเมืองปากห้วยหลวง (อ.โพนพิสัย  จ.หนองคาย)  ได้มีการอุทิศที่นาจังหันไว้ก่อนหน้ารัชสมัยพระเจ้าโพธิสาลราช (พ.ศ. ๒๐๖๓ ? ๒๐๙๓)  และในรัชสมัยต่อมากษัตริย์แห่งล้านช้างก็ได้ยึดธรรมเนียมการอุทิศที่นาจังหัน (รวมทั้งประชาชนในเขตนาจังหันด้วย)  ให้แก่วัดสืบต่อกันมา  จนถึงรัชสมัยพระมหาพรหมเทโวโพธิสัตว์ (พระสุริย วงศา) พ.ศ. ๒๑๗๖ ? ๒๒๓๓  หลังจากนั้นเราก็ไม่พบศิลาจารึกอุทิศที่นาจังหันให้แก่วัดอีก  น่าจะมีสาเหตุจากกรณีความไม่สงบเรียบร้อยในการสืบราชสมบัติของอาณาจักรล้านช้างในช่วง พ.ศ. ๒๒๓๓ ? ๒๓๒๒  ครั้นถึงสมัยอิทธิพลราชธานีไทย  พบเพียงแห่งเดียวที่มีการอุทิศที่ดินเป็นนาจังหัน คือ ศิลาจารึกวัดป่าใหญ่ (วัดมหาวนาราม)  อำเภอเมือง  จังหวัดอุบลราชธานี  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ (ตรงกับรัชกาลที่ ๑)
                ในการศึกษาธรรมเนียมการอุทิศที่นาจังหันในรัฐไทยอื่น ๆ เช่น  สุโขทัย  ล้านนา  และอยุธยา  พบแต่ในสมัยสุโขทัยและล้านนา  ส่วนอยุธยานั้นมาพบหลักฐานการกัลปนาที่ดินสำหรับวัดในสมัยตอนปลายนั่นคือการกัลปนาที่ดินให้วัดในเมืองพัทลุง (ซึ่งมีเจ้าเมืองนับถือศาสนาอิสลาม)  ส่วนในยุคสมัยอยุธยาตอนต้นไม่พบหลัก ฐานจึงงดกล่าวถึงในที่นี้  หลักฐานการอุทิศนาจังหันในสมัยสุโขทัยนั้นน่าจะเริ่มนับได้ตั้งแต่ใน พ.ศ. ๑๘๘๔ ? ๑๙๐๐ คือศิลาจารึกหลักที่ ๒ (พระมหาสวามีศรีศรัทธาราชจุฬามุนีฯ) ว่า ?...ไว้คน  แต่งเฝ้ารักษาหลายครัวมีทั้งสวนหมากสวนพลู  ไร่นากร...?  แต่กระนั้นก็ตามยังเห็นภาพนาจังหันไม่ชัดเจนว่ามีความหมายเพียงไร่นาหรือหมายรวมทั้งผู้คนที่ทำกินอยู่ในที่ดินเหล่านั้นด้วย  คตินิยมในการอุทิศนาจังหันนั้นจะเห็นได้ชัดเจนในสมัยต่อ มาอีกเล็กน้อย คือ พ.ศ. ๑๙๔๒  ศิลาจารึกวัดอโศการาม  หลักที่ ๙๓๒๑  เป็นพระราชเสาวนีย์ของพระมหาอัครเทวี  มีความตอนหนึ่งว่า  ?...แล้วท่านก็ช่วยประดิษฐาผู้คนอันแต่งกับปิการพยาบาลทั้งหลายห้าสิบเรือน  มีประธานคือนายเชียงจันทร์กับนาสองร้อยล้าน...ก่อนข้าวยี่สิบห้าเกวียนทุกรุ่งปี  ท่านซื้อสวนทั้งหลายห้าล้านเป็นสูป-พยัญชนาการโดยประมาณแลวันแลห้าสิบบาทพาทย์ถ้วนสำรับ  กับแตรสังข์  ทั้งกริยาบูชาทั้งหลาย ฯลฯ ทั้งทักษิณาราม  เสด็จแม่อยู่หัวก็สร้างแก่มหาวันรัตเถระแล้วท่านประดิษฐานาร้อยหนึ่งเป็นข้าวสิบเกวียน  ไพร่สิบเรือนแต่งพยาบาลวัดนั้น ฯลฯ?
                ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยที่สร้างในสมัยใกล้เคียงกัน  หรือสมัยหลังจากวัดอโศการาม  พบว่าได้อุทิศที่ดินเป็นนาจังหันมากขึ้น เช่น ศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ พ.ศ. ๑๙๖๐๒๒  และได้เรียกว่านาจังหันอีกด้วย
                ส่วนในอาณาจักรล้านนาได้เป็นรูปแบบของการอุทิศนาจังหันแก่วัดตั้งแต่  ศิลาจารึกวัดสุวรรณมหาวิหาร  พ.ศ. ๑๙๕๔  ซึ่งอยู่ในสมัยไล่เลี่ยกับสุโขทัย  ถ้าพิจารณาถึงปริมาณที่อุทิศให้แก่วัดนั้นพบว่าเจ้าสี่หมื่น (เจ้าเมืองพะเยา)  ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองเล็กจึงกระทำในนามของเจ้ามหาราช  และมหาเทวีแห่งเชียงใหม่ได้อุทิศทรัพย์สินที่นาจังหันจำนวนมากแก่วัดสุวรรณมหาวิหาร  ดังนี้  ?...เจ้ามหาราชมหาเทวีมีใจใสศรัทธาด้วยเจ้าสี่หมื่นดายกลาย  จึงจะหล่อน้ำสู่เหนืออุทกตกแผ่นดิน  นรินทรมีศรัทธาบ่ขาด  จึงจะอบพกาส (ประกา) ให้แก่พระสุวรรณวิหาร  มีประมาณ ๒๑,๖๘๕ เข้า (ข้าว)  ผิจะนับเข้าเป็นค่าว่าได้ ๔,๖๘๖,๐๐๐ แล  แม้จะนับหมากได้หมื่นล้ำคำ  จะนับบ้าน (หมู่บ้าน) ไซร้ได้ ๑๘๗ บ้าน (หมู่บ้าน)  ย่อมบ้านมีเริน (หมู่บ้านย่อมมีเรือน)  ผิจะนับว่าเรินไซร้ได้ ๒๔๖ เริน (เรือน)  ย่อมเรินสกัด  ผิจะนับลูกวัดไซร้ได้ ๔๒  ย่อมเป็นของเจ้าสี่หมื่นให้สร้างไว้กับพระสุวรรณวิหารแล  แด่บ้านฝูงนี้นา  ฝูงนี้ย่อมมีหินเสมาตราทุกอันแล...?๒๓
                ในอาณาจักรล้านนาจะพบว่ามีการอุทิศที่ดินให้เป็นนาจังหันจำนวนมาก  ซึ่งลักษณะดังกล่าวย่อมขัด แย้งกับหลักปรัชญาของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท  ที่กำหนดให้พระภิกษูเป็นผู้สมถะ  ไม่ยินดีในโภคทรัพย์  แต่เมื่อพบ ว่าธรรมเนียมการอุทิศข้าโอกาส  นาจังหัน  ให้แก่วัดนี้มีจำนวนมากเกินความจำเป็นในการดำรงชีพอย่างสมถะของพระสงฆ์  ต่างไปจากสมัยพระพุทธองค์ยังมีพระชนม์ชีพอยู่  พระมหากษัตริย์แห่งแคว้นต่าง ๆ ของอินเดียได้สร้างอาวาสถวายเป็นที่พักเท่านั้น  หาได้อุทิศที่นาจังหันหรือผู้คนจำนวนมากเช่นที่ปรากฏอยู่ในดิน แดนประเทศไทยสมัยอดีตแต่อย่างไรไม่
                เมื่อศึกษาศาสนาพุทธในลังกาพบว่า ธรรมเนียมการอุทิศที่ดินผู้คนเป็นข้าโอกาสแก่พระอารามนี้  นิยมปฏิบัติกันในประเทศลังกาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗-๘ แล้ว๒๔  เนื่องด้วยพระมหากษัตริย์แห่งลังกาคงเกรงว่าในกาลต่อไปพุทธศาสนาจะขาดผู้คนเอาใจใส่ทะนุบำรุง  และถวายปัจจัยไทยทานแก่พระภิกษุสงฆ์
                เนื่องจากผู้คนศาสนาอื่นเข้ามาแทนที่  ซึ่งดูตัวอย่างจากอินเดียที่พุทธศาสนาเริ่มเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว  และมหาราชในรัฐทางตอนใต้ของอินเดียและประชาชนจำนวนมากเป็นฮินดู  และใส่ใจในพุทธศาสนาน้อยลง  หลังจากนั้นพระมหากษัตริย์แห่งศรีลังกาทุกพระองค์วิตกกังวลว่าพระสงฆ์เถระจะไม่มีผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนในกาลต่อ ไปในอนาคต  จึงอุทิศที่ดินและกำหนดบริเวณพุทธสถานไว้ชัดเจน  ห้ามท้าวพระยาเข้าไปเก็บส่วยอากรโดย เฉพาะรัชสมัยพระเจ้ากัสสปที่ ๔ และ ๕ (King Kassap IV, V)  พุทธศตวรรษที่ ๑๖  ได้อุทิศนาจังหัน  ผู้คนอย่างมากมายกับพระวิหารสำคัญ ๆ๒๕
                ครั้นเมื่อมาพิจารณาหลักฐานที่พบในดินแดนประเทศไทยบ้าง  คติการอุทิศข้าโอกาสและนาจังหันแก่วัดนี้เพิ่งมาปรากฏสมัยสุโขทัย  ก่อนหน้านี้พบแต่คตินิยมของเขมรที่อุทิศที่ดินและข้าทาสสำหรับดูแลเทวสถาน เช่น ศิลาจารึกปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นตัวอย่าง  ถึงแม้ว่าเราจะพบหลักฐานว่าพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑  หรือก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม  แต่เราไม่พบหลักฐานการอุทิศที่นาจังหันแก่พุทธสถานดังกล่าว ศิลาจารึกในประเทศไทยในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ? ๑๕ นั้น  มีข้อความจำนวนมากที่บอกให้ทราบว่า ได้บันทึกเรื่องราวของพุทธศาสนา เช่น คาถาเยธมฺมา เป็นต้น  พบเพียงแห่งเดียวที่บอกถึงการสร้าง ศาสนสถาน  เช่น  อุโบสถ  และจัดเตรียมจังหัน  ภัตตาหาร  แก่พระภิกษุ  พราหมณ์คือ  ศิลาจารึกวัดมเหยงค์๒๖  พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ? ๑๓  จังหวัดนครศรีธรรมราช  แต่ก็ยังไม่เห็นรูปแบบการอุทิศนาจังหันให้แก่วัดตามคติลังกา
                ในการศึกษาพุทธศาสนาจะพบว่า  ในช่วงสมัยสุโขทัย  พระภิกษุไทย (ทั้งสุโขทัย อยุธยา และล้านนาเชียงใหม่)  นิยมเดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยจากลังกาโดยตรง  หรือศึกษาพุทธศาสนาลังกาวงศ์จากเมืองพัน (เมาะตะมะ)  ฉะนั้นคตินิยมเรื่องการสร้างนาจังหันให้แก่วัดเพื่อเป็นการสืบศาสนาไม่ให้เสื่อมในอนาคตกาลนั้น  จึงอยู่ในความคิดของพระภิกษุที่รู้เรื่อง  และเห็นรูปแบบการอุทิศนาจังหันของพระมหากษัตริย์แห่งลังกาเป็นตัว อย่าง  จึงพยายามที่จะเสนอความเห็นนี้แก่พระมหากษัตริย์หรือเจ้าครองนคร  ตามหลักฐานที่ปรากฏนั้นพบอยู่ในตำนานมูลศาสนา  ที่พระสุมนเถระได้ขอนาจังหันจากพระเจ้ากือนากษัตริย์เชียงใหม่  เพื่อบำรุงวัด
                คตินิยมเรื่องการอุทิศนาจังหันเพื่อให้เก็บส่วยสาอากรบำรุงวัด  บำรุงพระธาตุเจดีย์ตลอดจนพระพุทธรูปสำคัญ  ได้นิยมปฏิบัติกันสืบมา  และได้เผยแพร่เข้าสู่อาณาจักรล้านช้างในสมัยต่อมา  หรือในสมัยไล่เลี่ยกันนั้นความวิตกกังวลเรื่องพุทธศาสนาจะเสื่อมโทรมก่อน  ๕,๐๐๐  พรรษานี้  ดูเหมือนชาวพุทธในสมัยสุโขทัยเริ่มวิตกกังวลมาก  เนื่องจากเห็นตัวอย่างความเสื่อมโทรมของพุทธศาสนาในอินเดียอย่างรวดเร็ว  จึงเร่งที่จะฟื้นพุทธศาสนาในดินแดนประเทศไทย  ทั้งสุโขทัย  ล้านนา  และล้านช้าง  ส่วนในอยุธยาก็คงมีความวิตกเช่นเดียวกั้น  จึงพบว่าพระมหากษัตริย์อยุธยาหลายพระองค์ได้ทะนุบำรุงพระศาสนา  โดยการสร้างพระอารามบ้าง  ก่อสร้าง ศาสนสมบัติบ้าง  แต่ก็ไม่พบหลักฐานการอุทิศที่ดินเป็นนาจังหัน๒๗  จนถึงสมัยอยุธยาตอนปลายที่มีการกัลปนาที่ดินแก่พุทธศาสนาที่เมืองพัทลุงดังกล่าวแล้วข้างต้น
 
                ๑.๔  เขตปลอดอาญาแผ่นดิน
                จากการศึกษาเนื้อหาในศิลาจารึกอีสานสมัยไทย ? ลาว   นอกจากจะให้สาระสำคัญเรื่องข้าโอกาส  และนาจังหันแล้ว  ยังพบว่าหลัก (ขก. ๘)  ได้ให้ความรู้เรื่องการประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดิน  การที่พบว่าพระมหากษัตริย์ได้ประกาศเขตวัด (บางวัด) ให้เป็นเขตปลอดอาญาแผ่นดินนั้น  แสดงให้เห็นว่าทรงยกย่องสถาบันพุทธศาสนาสูงมาก  และประกาศให้อาญาสิทธิ์แก่วัด  นั่นคือผู้ที่กระทำผิดพระราชอาญา  ผิดกฎหมาย  ครั้นเมื่อหนีเข้าไปในเขตวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงประกาศให้เป็นเขตปลอดอาญาแผ่นดิน  จะได้รบอภัยโทษทันที  ดังปรากฏอยู่ในศิลาจารึกวัดมุจลินทอาราม ๑  (ขก. ๘)  ตอนหนึ่งว่า
                ?มาตราหนึ่ง  บพิตรเจ้าตนเป็นภูมิบาลปลงประสิทธิ์อาชญาในฉันนี้  บุคคลใดพิบัติในพระราชอาชญา แลผิดขุนผิดนายตัวแล่นเข้ามาในเขตมุจลินทอารามที่นี้  แม่นว่าปาทะหนึ่งเข้าปาทะหนึ่งอยู่นอกก็ดี  ให้อภัยชีวิตแก่บุคคลผู้นั้น  ผิดควรฆ่าควรผูกควรตี  อย่าผูกอย่าตีอย่าฆ่า  เท่าให้มีข้าวตอกดอกไม้เผิ้ง (ผึ้ง) เทียน  คารวะแก่แก้วทั้ง ๓ แล้วให้เอาออกมาพิจารณาตามคองเมือง  ครั้นใส่สินไหมแล้วข้อยให้หาเวียกข้อยไพร่ให้หาเวียกไพร่  คนผู้ใดให้หาเวียกผู้นั้น  พระราชอาญาประสิทธิ์ไว้ดังนี้  เพื่อให้เป็นนรหิตถาวรกับพระศาสนา...ฯลฯ?๒๘
                (สรุปความว่า  พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศว่า  บุคคลใดที่ต้องโทษอาญาแผ่นดินและกระทำผิดต่อมูลนาย  เมื่อวิ่งเข้ามาในเขตวัดมุขลินทอารามที่นี้  แม้ว่าเท้าหนึ่งอยู่ในเขตวัดอีกเท้าหนึ่งอยู่นอกเขตวัดก็ดี  มีพระบรมราชโองการให้อภัยชีวิตแก่บุคคลเหล่านั้น  ความผิดโทษถึงฆ่า  จองจำ  ตีโบย  ก็อย่าได้ฆ่า  จองจำ  ตีโบย  เพียงแต่ให้เอาข้าวตอกดอกไม้  ผึ้งเทียน  คารวะแก่พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  แล้วให้นำมาพิจารณาตามระบิลเมือง  แล้วปรับสินไหม (ตามโทษานุโทษ)  ครั้นเมื่อปรับไหมแล้วให้ใช้การงานตามฐานานุรูป  นั่นคือ  เป็นข้าทาสก็ใช้หน้าที่ทาส  เป็นไพร่ก็ใช้หน้าที่ไพร่  เป็นคนมีฐานันดรก็ตามฐานันดรของผู้นั้น  นี่คือพระบรมราชโองการประกาศไว้เช่นนี้  เพื่อให้เป็นประโยชน์ถาวรแก่พระศาสนา)
                จากเนื้อความในศิลาจารึกวัดมุจลินทอารามที่ยกไว้ข้างต้นนี้  เป็นเนื้อความจากพระบรมราชโองการ  ฉะนั้นจึงมีความหมายมากเท่ากับกฎหมาย  แต่ที่มีความหมายพิเศษกว่าก็คือ  ได้ล้มล้างกฎหมายอาญาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ใช้กฎหมายตามประกาศนี้แทน  (ใช้เฉพาะในเขตปลอดอาญาแผ่นดินเท่านั้น)  จากการศึกษาเนื้อหาในศิลาจารึกอีสานสมัยไทย ? ลาว  พบว่า  ศิลาจารึกวัดบ้านริมท่าวัด  ตำบลดงชน  อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร  สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๙  โดยพระบรมราชโองการสมเด็จพระมหาพรหมเทโวโพธิสัตว์ (พระสุริยวงศ์ธิราช)  มีเนื้อความในทำนองเดียวกันกับการประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดินเช่นกัน  แต่เนื้อความบางตอนได้ขาดหายไปเพราะแผ่นศิลาจารึกชำรุด  คงเหลือแต่ความว่า  ?..(ชำรุด).. ให้อภัยชีวิตแก่สรรพสัตว์  อันมีในน้ำใน (ดิน)...(ชำรุด)...เขตแดนไร่นาย่านน้ำวังผาทั้งป่าอาราริกทั้งปวงฝูงนี้...(ชำรุด)...แต่สมเด็จพระโพธิสาลราชเจ้าเป็นเค้า  สืบต่อมาเท่าสมเด็จพระมหาธรรมิกราชา  วรวงศาธิราชเจ้า...?๒๙  จากเนื้อความที่เหลืออยู่พอจะอนุมานได้ว่า  บริเวณริมฝั่งหนองหานด้านไหลลงสู่น้ำก่ำ  ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสกลนครเก่าในสมัยนั้น  เป็นเขตปลอดอาญาแผ่นดินตามประกาศในศิลาจารึกหลักนี้  และที่สำคัญก็คือเรียกวัดบริเวณนั้นว่า  ?วัดกลาง  เมืองเชียงใหม่หนองหาน?  ซึ่งเป็นหลักฐานว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเมือง  จึงมีวัดกลาง (คือกลางเมือง)  และเรียกว่า  เมืองเชียงใหม่หนองหานอีกด้วย
                นอกจากนี้ในการสอบถามท่านเจ้าคุณพระเทพรัตนโมลี (มรณภาพ พ.ศ. ๒๕๓๗)  เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ และเจ้าคณะจังหวัดนครพนม  ท่านยังยืนยันว่า  ในสมัยอดีตนั้น  ในบริเวณวัดพระธาตุพนมน่าจะมีการประกาศเป็นเขตปลอดอาญาแผ่นดินเช่นกัน  แต่ศิลาจารึกคงจะชำรุดเสียหายไป  เพราะเหตุว่าในการปฏิบัติก็ยังถือกันว่าในบริเวณวัดนี้ไม่มีใครเป็นกรรมสิทธิ์สิ่งของทรัพย์สมบัติเพราะถือว่าเป็นศาสนสมบัติทั้งสิ้น  ?แม้แต่วัวลากหวายความลากเชือก? เข้ามาในวัด  ชาวบ้านก็ไม่กล้านำกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของตน  มักจะถวายเป็นสมบัติขององค์พระธาตุพนมทั้งสิ้น
                ในการศึกษาธรรมเนียมการประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดินในอาณาจักรล้านช้างนั้น  ไม่สามารถจะตรวจสอบหลักฐานด้านศิลาจารึกในเวียงจันทน์และหลวงพระบางได้  ในขณะนี้จึงใช้พงศาวดารลาว  ฉบับกระชวงสึกสาทิกานลาว พ.ศ. ๒๕๐๐  เป็นคู่มือในการศึกษาเรื่องดังกล่าว  พบว่าธรรมเนียมการประกาศเขตวัดสำคัญ ๆ เป็นเขตปลอดอาญาแผ่นดินนั้นนิยมปฏิบัติสืบกันมาจนเป็นราชประเพณีตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าสามแสนไทย (พ.ศ. ๑๙๑๗ ? ๑๙๕๙)  และส่วนใหญ่มักจะประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดินเนื่องในการเถลิงราชสมบัติ  หรือเนื่องในการฉลองพระอารามหลวงที่สร้างเป็นอนุสรณ์ประจำรัชกาล เช่น ในสมัยพระเจ้าสามแสนไทยได้สร้างพระอารามาหลวงชื่อว่า ?วัดแก้ว?  เสร็จบริบูรณ์แล้วก็พระราชทานครัวชาวเขมรให้เป็นคนอุปัฏฐากวัด (ข้าโอกาส)  และทรงประกาศพระราชโองการประทานอภัยโทษแก่คนผู้กระทำผิดพระราชอาญา  ซึ่งหนีเข้ามาอยู่ในวัดแก้วนั้นไม่ต้องรับโทษอาญาแผ่นดินเพียงมีแต่ดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมาต่อสมเด็จพระมหาสวามีเจ้า (สังฆ ราช)๓๐  ส่วนในสมัยพระเจ้าไชยจักรพรรดิแผ่นแผ้ว (พ.ศ. ๑๙๙๙ ? ๒๐๒๑)  ได้ประกาศให้วัดมโนรมย์และวัดโบสถ์กลางเมืองเป็นเขตปลอดอาญาแผ่นดิน  ซึ่งทั้งสองวัดนี้เป็นที่สถิตของพระสมุทโฆส๓๑  และพระมหาญาณคัมภีร์ตามลำดับ  หลังจากนั้นก็มักจะพบว่ามีการประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดินเกือบทุกรัชกาล  จนเป็นเสมือนราชประเพณีสืบต่อมา
                ฉะนั้นการที่พบว่า  พระมหากษัตริย์แห่งล้านช้างได้สร้างศิลาจารึกประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดินที่พบในภาคอีสานนั้น  แสดงว่าเป็นราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันต่อมา  โดยพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นได้ศรัทธาต่อพระเถระที่สถิตอยู่ในวัดสำคัญ ๆ มักจะประกาศพระบรมราชโองการให้วัดเหล่านั้นเป็นเขตปลอดอาญาแผ่นดิน  ดังศิลาจารึกวัดมุจลินทอาราม ๑ (ขก. ๘)  และศิลาจารึกวัดบ้านริมท่าวัด  ดังกล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่าง
                การที่พระมหากษัตริย์ล้านช้างมีพระบรมราชโองการประกาศเขตวัดสำคัญ ๆ เป็นเขตปลอดอาญาแผ่น ดินนั้น  แสดงให้เห็นอำนาจของสถาบันศาสนาทัดเทียมกับฝ่ายอาณาจักรหรือเหนือกว่าเนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง  น่าจะเชื่อได้ว่าฝ่ายพุทธจักรนั้นได้กระทำประโยชน์ต่อฝ่ายอาณา จักรมาก  รวมทั้งน่าจะมีพลังอำนาจในการเสนอความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติอยู่ด้วย  ดังตัวอย่างเช่น พระเจ้าฟ้างุ้มมีจริยวัตรไม่ถูกต้องตามคลองธรรม  พวกเสนาอมาตย์ก็พร้อมใจกันบังคับให้พระองค์สละราชสมบัติ๓๒  ฉะนั้นน่าจะเชื่อว่ากลุ่มพระเถระสำคัญ ๆ มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังในการสืบราชสมบัติและควบคุมจริยวัตรของพระมหากษัตริย์แห่งล้านช้างไม่มากก็น้อย
                การประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดินนี้  ถ้าพิจารณาในเชิงจิตวิทยาแล้ว  น่าจะเชื่อได้ว่าเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่ปวงชนประการหนึ่ง  อีกประการหนึ่งให้ปวงประชาเห็นความสำคัญของสถาบันศาสนา  เป็นการสร้างบุญคุณทั้งฝ่ายพระเถระและพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่ต้องพระราชอาญา  ซึ่งบุคคลดังกล่าวนี้เสมือนชุบชีวิตขึ้นมาใหม่  ฉะนั้นบุคคลที่ต้องวิบัติในกฎหมายบ้านเมืองโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม  ย่อมมีโอกาสแก้ตัวใหม่อีกครั้งหนึ่ง  โดยไม่ต้องรับโทษทัณฑ์เหมือนสังคมอื่น ๆ
                มีปัญหาว่า  จารีตการประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดินที่นิยมกระทำกันในล้านช้างจนเป็นราชประเพณีนี้  ได้แนวความคิดมาจากไหน  เนื่องจากในรัฐไทยอื่น ๆ (สุโขทัย  อยุธยา  ล้านนา) ในยุคสมัยเดียวกันก็ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน (ซึ่งอาจจะไม่มีจารีตเดียวกันนี้ก็ได้)  ถึงแม้ว่าจะพบรัฐไทยอื่น ๆ มีคตินิยมในการถวายข้าโอกาสและนาจังหันให้แก่พระอารามสำคัญ ๆ บ้างตามที่กล่าวแล้วข้างต้น  แต่กระนั้นก็ตามยังไม่พบหลักฐานพอที่จะเชื่อได้ว่ามีการประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดินไว้ชัดเจนว่า  ส่วนในอาณาจักรล้านช้าง  เราพบหลักฐานจำนวนมากจนเชื่อได้ว่าการประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดินนั้นเป็นจารีตที่พระมหากษัตริย์พึงปฏิบัติทุกพระองค์  ฉะนั้นเพื่อตอบปัญหานี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น  จึงศึกษาจารีตของพระมหากษัตริย์แห่งศรีลังกา  อันเป็นต้นแบบธรรมเนียมต่าง ๆ ของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่แพร่เข้าสู่ดินแดนเอเชียอาคเนย์  จากการตรวจสอบประชุมศิลาจารึกลังกาพบว่า  ธรรมเนียมการประกาศเขตปลอดอาญาแผ่นดินในเขตวัดสำคัญ ๆ นั้น  ได้ปรากฏหลักฐานชัดเจนในรัชสมัยพระเจ้ากัสสปที่ ๕ (พ.ศ. ๑๕๒๒ ? ๑๕๓๓)  ซึ่งประกาศไว้ในศิลาจารึกอยิวิเควาวะ (Ayiviqevava  Pillar-inscription)  พบอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองอนุราธปุระไป  ๒๕ ไมล์  มีความตอนท้ายกล่าวถึง ?ทรัพย์สิ่งของ  วัว  ควาย  สรรพสัตว์  ผู้คนในบริเวณนี้ห้ามถือกรรมสิทธิ์และผู้ร้ายที่หนีเข้ามาอยู่ในเขตพุทธสถานนี้ห้ามจับกุม  ประกาศนี้ให้ความคุ้มครองสรรพสิ่งข้างต้นทั้งมวล?๓๓  หลังจากนั้นก็พบศิลาจารึกในศรีลังกาที่มีใจความให้ความคุ้มครองผู้ร้ายที่หนีเข้าไปในเขตธรณีสงฆ์ที่พระมหากษัตริย์ได้อุทิศให้เป็นเขตอารามทุกสมัย  จนถึงสมัยที่พระมหากษัตริย์หมดอำนาจ  เมื่ออังกฤษเข้ามายึดครองเป็นเมืองขึ้น

thxby7185uthai08
บันทึกการเข้า
เต้ อุบล
พุทธศาสนิกชน ฅนรักษ์ธรรมะ
Administrator
*****

พลังน้ำใจ : 634
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 982

Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 25 : Exp 44%
HP: 0%



อย่าสุไลเสียถิ้ม พงษ์พันธุ์พี่น้องเก่า อย่าสุละเผ่าเซื้อ ไปย่องผู้อื่นดี

sabayd8861@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: 12 มกราคม 2555, 21:57:12 »

๒. พุทธศาสนาภาคอีสานสมัยอิทธิพลราชธานีไทย
                ภาคอีสานทั้งหมดตกอยู่ใต้การปกครองพระราชอาณาจักรไทย  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๒  คือเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขยายพระราชอาณาเขตไปยังภาคอีสานและลาว  ได้ส่งกองทัพโดยมีเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมาได้ครองราชย์สมบัติ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ ๑) เป็นแม่ทัพ  ในครั้งนั้นได้อาณาจักรล้านช้าง (หลวงพระบาง  เวียงจันทน์  และนครจำปาศักดิ์)  และดินแดนในภาคอีสานทั้งหมด๓๔
                ความจริงแล้ว  อาณาจักรล้านช้างเริ่มมีความขัดแย้งกันระหว่างเจ้านายและช่วงชิงกันสืบราชสมบัติ  หลังจากสิ้นรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศา (พ.ศ. ๒๑๗๖ ? ๒๒๓๓) จนกระทั่งแยกเป็น ๓ รัฐดังกล่าวแล้ว  แต่กระนั้นก็ตามยังมีเจ้านายบางกลุ่มได้อพยพไพร่พลมาตั้งชุมชนในพื้นที่ภาคอีสานรวมกับชาวท้องถิ่นเดิม  ดังจะเห็นได้จากกลุ่มพระวอพระตา (ตั้งเมืองอุบลราชธานีและเมืองยโสธร)  กลุ่มท้าวสมพมิต (ตั้งเมืองกาฬสินธุ์)  กลุ่มอาจารย์แก้วหรือเจ้าแก้วมงคล (ตั้งเมืองสุวรรณภูมิ  ร้อยเอ็ด  และเมืองใกล้เคียง)  กลุ่มท้าวแล (ตั้งเมืองชัยภูมิ)  เมืองดังกล่าวนั้นเริ่มเข้ามาสมัยกรุงธนบุรี  และขอตั้งเป็นเมืองสมัยรัชกาลที่ ๑ ในฐานะเมืองขึ้นของราชธานีไทย  (ยกเว้นเมืองชัยภูมิ  ที่ขอตั้งเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๒)  หัวเมืองดังกล่าวได้เพิ่มชุมชนต่อมา  และขอตั้งเมืองบริวารในสมัยรัชกาลที่ ๒  และรัชกาลที่ ๓  อีกจำนวนหนึ่ง   แสดงว่าเจ้านายล้านช้างได้อพยพไพร่พลมาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานรวมกับชาวพื้นเมืองเดิมที่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างก่อนแล้ว  ฉะนั้นขนบะรรมเนียมประเพณีรวมทั้งพุทธศาสนาก็สืบทอดโดยตรงมาจากล้านช้างนั่นเอง  หาได้เปลี่ยนแปลงธรรมเนียมสงฆ์ตามราชธานีไทยไม่
                ส่วนหัวเมืองภาคอีสานตอนล่างที่พระราชพงศาวดารเรียกว่า  หัวเมืองเขมรป่าดง  ได้แก่  เมืองขุขันธ์ (ศีรสะเกษ)  เมืองสังขะ  เมืองรัตนบุรี  เมืองสุรินทร์  และเมืองบุรีรัมย์  ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตไทยตั้งแต่สมัยพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ)  โดยเป็นเมืองบริวารของเมืองพิมายและเมืองนครราชสีมา
 
                ๒.๑  การทะนุบำรุงพุทธศาสนาของเจ้าเมืองท้องถิ่น
                ท้าวเพี้ยที่เป็นหัวหน้าพาไพร่พลอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในภาคอีสานนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองนั้น ๆ และมีอำนาจปกครองไพร่บ้านไทยเมืองตามธรรมเนียมที่ได้มาจากอาณาจักรล้านช้างที่เรียกว่า  ระบบอาญาสี่  คือ เจ้าเมือง  อุปฮาด (อุปราช)  ราชวงศ์  ราชบุตร  ท้าวเพี้ย  ตามลำดับ  คณะกรรมการเมืองมีหน้าที่จัดหาทรัพย์สินโภคทรัพย์เป็นค่าส่วยตามที่ราชธานีต้อง การก็เป็นการเพียงพอแล้ว  และเดินทางไปส่งเครื่องราชบรรณาการ (ส่งส่วย) พร้อมกับดื่มน้ำสาบานประจำปี หรือปีละสองครั้งตามที่ราชธานีบัญชาไป
                ฉะนั้นเรื่องความสงบเรียบร้อยภายในหัวเมืองนั้น  คณะกรมการเมืองมีอำนาจที่จะจัดการกันเอง  เฉพาะการทะนุบำรุงพุทธศาสนานั้น  เจ้าเมืองมักจะให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาดังที่เคยปฏิบัติมาตามธรรมเนียมของล้านช้าง  เพื่อใช้สถาบันศาสนาเป็นแหล่งกลางในการสั่งสอนอบรมให้ประชาชนยึดมั่นในศีลธรรม  เพื่อให้บ้าน เมืองเกินสันติสุข  คณะกรมการเมืองซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอยู่แล้วจึงได้ใส่ใจยิ่งขึ้น
                จากการศึกษาพระพุทธศาสนาในภาคอีสานสมัยอิทธิพลราชธานีไทย  จึงไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยอิทธิพลอาณาจักรล้านช้าง (พุทธศตวรรษที่ ๒๐ ? ๒๓) มากนัก  ดังนี้
                การอุทิศที่ดินนาจังหัน  ข้าพระโยมสงฆ์  พบว่าการอุทิศที่ดินให้เป็นวิสุงคามสีมายังปรากฏอยู่โดยสม่ำ เสมอ  เพราะเหตุว่าพระสงฆ์เถระมีความต้องการสถานที่ที่จะประกอบพิธีสังฆกรรม  ซึ่งต้องเป็นสถานที่ที่อยู่นอกเขตอาณาจักร  นั่นคือเจ้าเมืองต้องอุทิศสถานที่ไว้โดยชัดเจนให้เป็นธรณีสงฆ์  ที่เรียกว่า  เขตวิสุงคามสีมา (เขตนอกหมู่บ้าน)  จึงใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสังฆกรรมได้
                ส่วนการอุทิศนาจังหันและข้าพระโยมสงฆ์นั้น  พบว่าเจ้าเมืองท้องถิ่นได้กระทำกันอยู่บ้างแต่ไม่ได้สร้างศิลาจารึกประกาศไว้ชัดแจ้งเหมือนสมัยล้านช้าง  ที่พบอยู่บ้างได้แก่ ?ศิลาจารึกวัดป่าใหญ่?  ได้กล่าวถึงการอุทิศนาจังหัน  บรรทัดที่ ๒๑-๒๔  ว่า  ?...พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ได้สร้างวิหารอารามให้เป็นที่สถิตแก่พระพุทธรูปเจ้า  จึงมีคำใส  จึงประสาทให้ดินนาคือ  ท่งเบื้องท้ายวัดนั้นเป็นทานแก่พระพุทธรูปเจ้าทางรีสุดท่ง  ทางกว้างจุแดนดง  คนผู้ใดผู้หนึ่งมาเฮ็ดนาในดินโอกาสที่นี้  ผิให้เกวียนหนึ่ง  ให้เก็บค่าดินถังหนึ่ง  สองเกวียนสองถัง  ให้เก็บขึ้นตามคำสัญญาดังหลังนั้นเทอญ?๓๕
                (อธิบายศัพท์  คำใส  ?  ความเลื่อมใส  ท่ง ? ทุ่งนา  ทางรี ? ด้านยาว  จุ ? ถึง  ดินโอกาส ? พื้นดินที่อุทิศ  เอ็ดนา ? ทำนา)
                ในศิลาจารึกหลักเดียวกันนี้ได้มีการอุทิศข้าโอกาส  (ข้าโอกาสคือคนรบใช้ประจำอาราม)  ถวายแก่พระ พุทธรูปถึง  ๒๓  คน  มีทั้งชายหญิง  และยังได้กล่าวห้ามเจ้าเมืองที่จะมาปกครองเมืองอุบลฯ ในอนาคต  ห้ามใช้งานข้าโอกาสของพระพุทธรูปเหล่านี้  ?...พระยาตนใดมากินบ้านกินเมืองที่นี้  บ่ใช้เวียกบ้านเมืองแก่ข้าโอกาส  ฝูงนี้ได้ชื่อว่าคบรบพระเจ้านัยหนึ่ง  ชื่อว่าประกอบชอบธรรม  พระยาตนใดมานั่งเมืองอันนี้  มาดูศิลาเลกอันนี้  รู้ว่าพุทธรูปมีข้อยโอกาสจึงบ่ใช้เวียกบ้านการเมือง...?๓๖
                (อธิบายศัพท์  เวียก ? การงาน  ข้าโอกาส ? ข้าพระโยมสงฆ์  หรือทาสวัด  คบรบ ? เคารพ  ศิสาเลก ? ศิลาจารึก  ข้อย ? ข้าทาส  เวียกบ้าน ? งานบ้านงานเมือง)
                แม้ว่าจะพบหลักฐานการอุทิศที่ดิน  นาจังหัน  และข้าโอกาสแก่วัด  จำนวนน้อยเมืองเทียบกับศิลาจารึกที่พบในภาคอีสานที่สร้างสมัยอิทธิพลอาณาจักรล้านช้าง  แต่ก็เป็นหลักฐานแสดงว่าเจ้าเมืองยังเป็นองค์ศาสนูป-ถัมภกต่อสถาบันศาสนาเหมือนสมัยอดีต  แต่อาจจะลดหย่อนลงไปบ้างเพราะสภาพฐานะทางเศรษฐกิจไม่อำนวย  เพราะต้องจัดหาโภคทรัพย์เพื่อส่งเป็นค่าส่วยต่อราชธานีไทยประการหนึ่ง  อีกประการหนึ่งสภาพสังคมไม่ใหญ่ โตมากนักจึงไม่มีทรัพย์สินจำนวนมากที่จะอุปถัมภ์วัดก็เป็นได้
 
                ๒.๒  การเลื่อนสมณศักดิ์พระภิกษุสงฆ์
                การจัดตำแหน่งสมณศักดิ์พระภิกษุสงฆ์ของชาวอีสานสมัยอิทธิพลราชธานีไทยนั้น  ไม่ได้จัดทำเนียบตำแหน่งสมณศักดิ์ตามแบบพระสงฆ์ส่วนกลาง  นั่นคือยังใช้สมณศักดิ์ตามแบบของอาณาจักรล้านช้างที่จัดทำเนียบสมณศักดิ์ไว้ดังนี้
(๑)    สำเร็จ  คือพระภิกษุหรือสามเณร  ที่ได้รับเถราภิเษกฮดสรง  ครั้งที่ ๑
(๒)   ซา  คือพระภิกษุหรือสามเณร  ที่ได้รับเถราภิเษกฮดสรง  ครั้งที่ ๒
(๓)   คู (ครู)  คือพระภิกษุหรือสามเณร  ที่ได้รับเถราภิเษกฮดสรง  ครั้งที่ ๓
(๔)   คูหลักคำ  หรือหัวครูหลักคำ  คือพระภิกษุที่ได้รับเถราภิเษกฮดสรง  ครั้งที่ ๔
(๕)   คูลูกแก้ว  หรือหัวคูลูกแก้ว  คือพระภิกษุที่ได้รับเถราภิเษกฮดสรง  ครั้งที่ ๕
(๖)    คูยอดแก้ว  หรือหัวคูยอดแก้ว  คือพระภิกษุที่ได้รับเถราภิเษกฮดสรง  ครั้งที่ ๖
เมื่อพระภิกษุสามเณรบวชเรียนไปได้ระยะหนึ่งจนสามารถท่องมนต์เจ็ดตำนาน  สวดพระปาติโมกข์  เรียนภาษาบาลีถึงขั้นตอนหนึ่ง ๆ  ชาวบ้านมัคนายกวัด  เจ้าบ้านผ่านเมือง  ก็จะจัดพิธีฮดสรงให้พระภิกษุสามเณรรูปนั้น ๆ เพื่อที่จะเลื่อนสมณศักดิ์ไปอีกระดับหนึ่ง  แต่กระนั้นก็ตามพระสงฆ์สามเณรที่จะได้รับพิธีเถราภิเษกฮดสรงนั้น  ต้องมีจริยวัตรอันดีงาม  ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา  และต้องขยันหมั่นเพียรศึกษาพระธรรมวินัยและศึกษาคัมภีร์ได้ตามลำดับที่กำหนดไว้  จึงจะได้รับเลื่อนสมณศักดิ์
                ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าสังคมจะควบคุมจริยวัตรของพระภิกษุสงฆ์ด้วย  เพราะชาวบ้านมีความใกล้ชิดกับวัดจึงรู้ว่าพระภิกษุรูปใดมีจริยวัตรดีงาม  และขยันหมั่นเพียรในการศึกษาพระธรรมวินัย  สมควรแก่การเถราภิเษก  ส่วนพระภิกษุที่นอกคอกประพฤติผิดพระวินัยเป็นอาจิณ  ชาวบ้านจะรู้กันทั่วไปในสังคมเล็ก ๆ นั้น  ฉะนั้นพระ ภิกษุรูปดังกล่าวจึงไม่ได้รับเถราภิเษกฮดสรงเพื่อเลื่อสมณศักดิ์  (ต่างกับปัจจุบัน  ที่ส่วนกลางมีอำนาจเลื่อนสมณศักดิ์  แต่ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ชิดวัดรู้เห็นพฤติกรรมของพระสงฆ์อย่างดีไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการเลื่อนสมณศักดิ์  จึงพบว่ามีการผิดพลาดกันอยู่เนือง ๆ)
                ธรรมเนียมการเลื่อนสมณศักดิ์ของพระสงฆ์  โดยชาวบ้านมีส่วนรู้เห็นในการเถราภิเษกฮดสรงได้กระทำกันมาโดยต่อเนื่อง  นับตั้งแต่สมัยอิทธิพลอาณาจักรล้านช้างและสมัยอิทธิพลราชธานีไทย  จนถึงเมื่อสมัยปฏิรูปการปกครองหัวเมือง  และได้ส่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลไปกำกับราชการตามหัวเมืองในภาคอีสาน  ประกอบกับพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายได้แพร่เข้าไปยังมณฑลอุบลราชธานี  สร้างวัดสุปัฏนารามเป็นอารามของพระ สงฆ์ธรรมยุติกนิกายที่จังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนั้น  จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๖  พระราชมุนี (อ้วน  ติสฺโส  ซึ่งภายหลังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์)  ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี  เห็นว่าการเลื่อนสมณศักดิ์แบบธรรมเนียมภาคอีสานเริ่มฟั่นเฝือกันใหญ่  ชาวบ้านก็สามารถเลื่อนสมณศักดิ์พระภิกษุได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด
                เมื่อครั้งพระยาวิเศษสิงหนาท (ปิ๋ว  บุนนาค)  ผู้รั้งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบาลราชธานี  ฝ่ายคณะสงฆ์และฝ่ายกรรมการมณฑล  ได้ประชุมปรึกษาเรื่องการบริหารและทำนุบำรุงกิจการพระศาสนาในมณฑลอุบลราช ธานี  เมื่อวันที่  ๙  เมษายน  พ.ศ. ๒๔๕๖  ณ ศาลากลางมณฑล  สรุปว่า
                        ?ตามข้อประกาศนี้ (ประกาศเถราภิเษกฮดสรง)  ได้ความว่าเป็นของครั้งเจ้าผู้ครองเวียงจันทน์ทำขึ้นไว้สำหรับเป็นประเพณีแต่งตั้งสมณศักดิ์และพร้อมด้วยเจ้าครองเวียงจันทน์รู้เห็นด้วย  แต่ชาวเราไปเก็บเอามาใช้จนฟั่นเฝือ  ถึงราษฎรโดยมากก็แต่งตั้งสมณศักดิ์ได้โดยความเข้าใจผิด  ที่คิดห้ามเสียคราวนี้  ก็เป็นการสมควรมาก?๓๗
                นับแต่นั้นมาธรรมเนียมเถราภิเษกเลื่อนสมณศักดิ์แบบล้านช้างก็เลิกไป  และมณฑลอื่น ๆ ในภาคอีสานก็ใช้ประกาศของมณฑลอุบลราชธานี  ยกเลิกตำแหน่งสมณศักดิ์แบบจารีต  และการแต่งตั้งสมณศักดิ์จากส่วนกลางก็ได้นำไปในภาคอีสานสืบต่อมา

thxby7186คนโก้, uthai08
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 มกราคม 2555, 21:59:37 โดย TaeUbon » บันทึกการเข้า
เต้ อุบล
พุทธศาสนิกชน ฅนรักษ์ธรรมะ
Administrator
*****

พลังน้ำใจ : 634
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 982

Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 25 : Exp 44%
HP: 0%



อย่าสุไลเสียถิ้ม พงษ์พันธุ์พี่น้องเก่า อย่าสุละเผ่าเซื้อ ไปย่องผู้อื่นดี

sabayd8861@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: 12 มกราคม 2555, 21:57:46 »

๓. พุทธศาสนาภาคอีสานสมัยรัชกาลที่ ๕ ? สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕
                ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา  ประเทศไทยได้พัฒนาสังคมเข้าสู่สมัยใหม่  มีการเลิกจารีตดั้งเดิมที่ล้าสมัย เช่น การเลิกทาส  การจัดระบบการปกครองเป็นกระทรวง  ทบวง  กรม  และมีการจัดตั้งโรงเรียนสมัยใหม่  ซึ่งแต่เดิมนั้นคนไทยเรียนหนังสือจากวัด  ไม่มีหลักสูตร  นั่นคือต่างสำนักต่างสอน  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้จัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรให้บุตรหลานชาวบ้านได้เล่าเรียนตามหลักสูตรสมัยใหม่ที่โรงเรียนวัดมหรรณพารามเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นต้นมา  และได้ตั้งกรมศึกษาธิการมีหน้าที่จัดการ ศึกษาระบบโรงเรียนใน พ.ศ. ๒๔๓๐ เป็นต้นมา  และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมศึกษาธิการ  ท่านได้พยายามที่จะขยายโรงเรียนสมัยใหม่ไปสู่ภูมิภาค  ในครั้งนั้นมณฑลอุบลราชธานี  ซึ่งมีพระเถระได้ไปศึกษาหนังสือไทยที่กรุงเทพฯ จำนวนหนึ่ง (แต่เดิมพระสงฆ์ภาคอีสานจะใช้อักษรตัวธรรมในการจดบันทึกพระธรรมคัมภีร์  และใช้อักษรไทยน้อยจดบันทึกเรื่องราวทั่วไป)  จึงโปรดเกล้าฯ ให้มาตั้งโรงเรียนหนังสือไทยโดยใช้หลักสูตรของมหามกุฏราชวิทยาลัย  ซึ่งเรียนทั้งภาษาบาลีและเรียนหนังสือไทย  และแต่งตั้งให้พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์  สิริจันโท)  เป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษาหนังสือไทยตลอดมณฑลอุบลราชธานีเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑  ในครั้งนั้นได้ตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคมในวัดสุปัฏนาราม  และโรงเรียนอุดมวิทยากรที่อำเภอพนา  ถือว่าทั้งสองโรงเรียนได้เป็นแหล่งสอนหนังสือไทยในภาคอีสานครั้งแรก  การได้เรียนหนังสือไทยเป็นหนทางก้าวหน้ารับราชการได้  และได้เรียนภาษาบาลี  หากเป็นพระภิกษุสามเณรจะได้ประโยคเปรียญธรรม (ปธ. ๓ ? ปธ. ๙)  จึงเป็นแนวทางที่จะได้ก้าวหน้าในอนาคต  บรรดาพระภิกษุสามเณรก็มักจะเลิกเรียนอักษรท้องถิ่น (อักษรตัวธรรม  และอักษรไทยน้อย)  มาเรียนอักษรไทยมากขึ้น  ภายหลังโรงเรียนอักษรไทยก็ขยายไปทั่วทุกหัวเมือง  กุลบุตรลูกหลานชาวบ้านและเจ้านายรวมทั้งพระภิกษุสามเณรนิยมเรียนโรงเรียนหนังสือไทยมากขึ้นตามลำดับ
                นอกจากนี้  พระภิกษุสามเณรที่เรียนหนังสือไทยจบประโยคต้นในท้องถิ่นแล้ว  มักจะเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยต่อในสำนักเรียนที่กรุงเทพฯ ฉะนั้นธรรมเนียมสงฆ์ท้องถิ่นจึงถูกละเลยที่จะประพฤติปฏิบัติ กันโดยปริยาย  และนำธรรมเนียมสงฆ์ส่วนกลางไปปฏิบัติกันทั่วไป  ตามทัศนะที่เห็นว่าเป็นเรื่องทันสมัยเหมาะสมกับยุคสมัย  นอกจากนี้ทางราชการก็สนับสนุนพระสงฆ์ที่เรียนรู้หนังสือไทยได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์ในระดับสูง ๆ  การตื่นตัวของพระสงฆ์ในภาคอีสานที่เล่าเรียนหนังสือไทยในสมัยนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมสงฆ์ท้องถิ่น  ประกอบกับเจ้านาย  ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ถูกส่งไปจากราชธานีให้ปกครองตามหัวเมืองภาคอีสานมากขึ้น  พระสงฆ์ที่เรียนรู้หนังสือไทยได้รับความเคารพนับถือจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และชาวบ้านโดยทั่วไป  ฉะนั้นธรรมเนียมสงฆ์ท้องถิ่นจึงถูกละเลยโดยปริยาย  ครั้งเมื่อพระราชมุนี (อ้วน  ติสฺโส  ภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์)  เป็นเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี  และได้พยายามเสนอให้ พระยาวิเศษสิงหนาท (ปิ๋ว  บุนนาค) ผู้รั้งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานี  ได้ประกาศยกเลิกธรรมเนียมสมณศักดิ์ท้องถิ่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ดังกล่าวแล้ว
                ฉะนั้น พระสงฆ์ในภาคอีสานจึงยอมรับการเปลี่ยนธรรมเนียมสงฆ์ตามระบบสงฆ์ส่วนกลางแบบค่อยเป็นค่อยไปเสมอมา  จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ สมเด็จพระสังฆราช  โดยมติของสังฆมนตรีได้ตราสังฆาณัติและระเบียบพระคณาธิการ  ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ (ระเบียบการปกครองสงฆ์)  การประกาศใช้สังฆาณัติครั้งนี้เป็นการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ทั่วประเทศ ให้อยู่ในระบบเดียวกัน

thxby7187คนโก้, uthai08
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 มกราคม 2555, 21:59:56 โดย TaeUbon » บันทึกการเข้า
เต้ อุบล
พุทธศาสนิกชน ฅนรักษ์ธรรมะ
Administrator
*****

พลังน้ำใจ : 634
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 982

Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 25 : Exp 44%
HP: 0%



อย่าสุไลเสียถิ้ม พงษ์พันธุ์พี่น้องเก่า อย่าสุละเผ่าเซื้อ ไปย่องผู้อื่นดี

sabayd8861@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: 12 มกราคม 2555, 21:58:24 »

เอกสารอ้างอิง

๑   กฎหมายอยุธยาบางฉบับตราเมื่อเริ่มตั้งอยุธยา หรือก่อน เช่น กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๔ กฎหมายลักษณะลักพา ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๙ (กฎหมายตราสามดวง (ฉบับโรงพิมพ์คุรุสภา) เล่ม ๓ หน้า ๙๔-๑๘๓ และหน้า ๑-๓๐ ตามลำดับ)
๒ เลขที่ ๓๙-๒ (อักษรลาว)  ตู้ ๑๐๘ ชั้น ๑/๔ มัด ๙๒ (งานหนังสือตัวเขียนหอสมุดแห่งชาติ)  มีเนื้อความเหมือนกับกฎหมายโคสาราช (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๒๖)
๓  ดูรายละเอียดใน อรุณรัตน์  วิเชียรเขียว.  การวิเคราะห์สังคมเชียงใหม่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นตามฉบับใบลานภาคเหนือ.  (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๑๙)  หน้า ๔๓.  ถิ่น รัตกนก, (ถอดความ) กฎหมายโคสารราษฎร์ (สถาบันวิจัยสังคมฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๑๖  หน้าคำนำ)
๔       ประชาชนที่อยู่ในเขตนาจังหันที่พระมหากษัตริย์อุทิศให้แก่วัดนั้น  ไม่ต้องเสียภาษีอากรให้แก่รัฐ  แต่เสียภาษีอากรให้แก่วัดแทน  ดังอย่างศิลาจารึกวัดสรศักดิ์  หลักที่ ๙ ก.  นายสรศักดิ์ได้ขอพระราชทานอากรจากนา (จังหัน) เพื่อถวายวัด  ดูรายละเอียดในจารึกสมัยสุโขทัย (กรมศิลปากร, พิมพ์เนื่องในงานฉลอง ๗๐๐ ปี ลายสือไทย ๒๕๒๖)  หน้า ๑๒๘-๑๓๔.
๕       เป็นตำแหน่งผู้ดูแลกิจการของวัด  ในจารึกวัดสรศักดิ์ (หลักที่ ๙)  เรียกว่า  ?นายสังฆการี?  ซึ่งมีหน้าที่รับสนองพระราชโองการด้วย (ดูจารึกสมัยสุโขทัย, กรมศิลปากร, ๒๕๒๖, หน้า ๑๓๐.)
๖  ในจารึกวัดแดนเมือง ๒ ว่า ?ในการเก็บพืชผลในเขตวัด  ให้สังฆการีร่วมกับคนเมืองเก็บ  และสิบกกให้เก็บไว้กับพระภิกษุกกหนึ่ง?  ส่วนจารึกวัดจอมมณีว่า  ?นากับอารามเป็นข้าวร้อยหนึ่งเอาหน่วยหนึ่ง?
๗       ศิลาจารึกวัดจอมมณี  บรรทัดที่ ๑๕-๑๗
๘        ศิลาจารึกวัดศรีเมือง  บรรทัดที่ ๒๘-๓๐
๙  ศิลาจารึกวัดมุจลินทร์ (ข.ก. ๘) ด้านที่ ๒  บรรทัดที่ ๗-๘
๑๐   ดูรายละเอียดใน จารึกสมัยสุโขทัย, (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลอง ๗๐๐ ปีลายสือไทย ๒๕๒๖)  หน้า ๗๒ ? ๗๓.
๑๑   เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๑๓ ? ๑๑๔.  ข้อสังเกตข้าโอกาสแต่งงานจะได้เป็นไทยและมีหน้าที่เลี้ยงดูแม่ฝ่ายชาย
๑๒ เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๔๓
๑๓ ศิลาจารึกวัดอโศการาม  พระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์ฯ (ชายาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช)  ได้อุทิศข้าโอกาส ๕๐ เรือน  นาข้าวที่ได้ข้าวปีละ ๒๕ เกวียนแก่วัดอโศการาม  ส่วนศิลาจารึกวัดเขมานั้น  พระยาศรีธรรมาโศกราช  อุทิศนา ๒๐ ไร่  และบาผ้าขาวเทพอุทิศอำแดงยอด (เมีย)  อำแดงยศ (น้อง)  และอีบุนรัก (ลูก)  ไว้เป็นข้าโอกาสปรนนิบัติพระสงฆ์
๑๔ ดูรายละเอียดในการสร้างวัดป่ามะม่วงต้อนรับพระมหาสวามีสังฆราช  จากนครพัน (ศิลาจารึกหลักที่ ๔)  จารึกสมัยสุโขทัย, ๒๕๒๖, หน้า ๒๒๒ ? ๒๓๕.
๑๕ เรื่องเดียวกัน  หน้า ๒๔ ? ๒๕.
๑๖   ดูรายละเอียดใน ศิลาจารึกคำปู่สบถ (หลักที่ ๖๔)  และศิลาจารึกปู่ขุนจิตขุนจอด (หลักที่ ๔๕)  พ.ศ. ๑๙๓๕  จะเห็นว่าเจ้าเมืองนันทบุรี (น่าน)  และกษัตริย์สุโขทัย  เป็นเครือญาติกัน
๑๗ ดูรายละเอียดใน ?ศิลาจารึกกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ลพ.๙?  ในวารสารศิลปากร ปีที่ ๒๔ เล่มที่ ๒ เดือนพฤษภาคม ๒๕๒๓ หน้า ๔๒ ? ๕๑.
๑๘ ธรรมเนียมของประเทศลังกาจะอุทิศจนกว่าพระอาทิตย์พระจันทร์ไม่ส่องแสง  ดูในประชุมศิลาจารึกศรีลังกา Epigraphia  Zeylanica Vol.1 (Reprited by Aitken Spence Co., Ltd., Colombo, 1976) PP. 192 ? 200.
๑๙   ในลังกาไม่เพียงแต่จะสาปแช่งให้ตกนรกอเวจีแล้ว  ยังสาปแช่งให้เกิดเป็นหมาเป็นกา  ดูเรื่องเดียวกัน หน้า ๑๙๒ ? ๒๐๐.
๒๐ เจ้าชายมุย  เจ้าเมืองปากห้วยหลวง  และได้ไปปกครองเมืองเวียงจันทน์ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญรองจากเมืองหลวงพระบาง พ.ศ. ๑๙๙๙ ? ๒๐๒๑.
๒๑ จารึกสมัยสุโขทัย (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลอง ๗๐๐ ปีลายสือไทย ๒๕๒๖), หน้า ๓๑๙ ? ๓๓๔.
๒๒   เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๒๘ ? ๑๓๔. ในศิลาจารึกวัดสรศักดิ์ ได้ให้รายละเอียดไว้ว่า นากับมหาเจดีย์บ้าง นากับมหาวิหารบ้าง นาจังหันบ้าง นากับหอพระบ้าง นากับพระเจ้าหย่อยตีน (พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ปางป่าเลไลย์) นากับเจ้าจงกรมในจาริก (พระพุทธรูปปางลีลา) บ้าง แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนของภาษีที่จะใช้บำรุงศาสนสถานแลศาสนวัตถุซึ่งเจ้าศรัทธาได้จัดสัดส่วนไว้แล้ว
๒๓    ประสาน  บุญประคออง  และเทิม  มีเต็ม  ?ศิลาจารึกกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ลพ.๙?  วารสารศิลปากร, ปีที่ ๒๔ เล่มที่ ๒ เดือนพฤษภาคม ๒๕๒๓, หน้า ๔๒ ? ๕๑.
๒๔    ศิลาจารึกคชพาหุ  พ.ศ. ๗๒๐ ? ๗๔๔  กล่าวถึงกษัตริย์ ?คชพาหุ  คามณีอภัย?  สร้างสระน้ำและให้ที่ดินแก่ชุมชนสงฆ์  ดุประชุมศิลาจารึกศรีลังกา  Vol. 1  (เรื่องเดียวกัน)  หน้า ๒๑๑.
๒๕    ความเห็นของ Prof. Rohana  Deera  มหาวิทยาลัยชัยวัฒนปุระ  แห่งประเทศศรีลังกา  สัมภาษณ์เมื่อวันที่  ๔ - ๕  กรกฎาคม  ๒๕๒๙
๒๖ กรมศิลปากร, ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๒ (โครงการส่งเสริมหนังสือตามแนวพระราชดำริ, ๒๕๒๖)  หน้า  ๑๖ ? ๑๗.
๒๗    การอุทิศนาจังหันให้วัดของกษัตริย์อยุธยาจะทำให้ยากมาก  เพราะขัดกับระบบศักดินาของอยุธยาที่กำหนดให้ไพร่ทุกคนสังกัดมูลนาย  ซึ่งกฎหมายนี้ใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
๒๘    ดูรายละเอียดใน ?ศิลาจารึกวัดมุจลินทอาราม?  ใน ธวัช  ปุณโณทก.  ศิลาจารึกอีสานาสมัยไทย ? ลาว  :  การศึกษาด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์.  (โรงพิมพ์คุณพินอักษรกิจ, ๒๕๓๑)  หน้า ๒๘๙ ? ๒๙๐.
๒๙  ดูรายละเอียดในศิลาจารึกวัดบ้านริมท่าวัด  ตำบลดงชน  อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร  เรื่องเดียวกัน  หน้า ๓๑๗ ? ๓๒๐.
๓๐ พงศาวดารลาว  ฉบับกระทรวงศึกษาธิการลาว (ไม่ปรากฏโรงพิมพ์, ๒๕๐๐)  หน้า ๗๙.
๓๑ พระสมุทโฆส  เป็นพระเถระสำคัญที่ประพันธ์เรื่องขุนบรม  (ตอนต้น)
๓๒    เรื่องเดียวกัน  หน้า ๗๖.
๓๓    ดูรายละเอียดในประชุมศิลาจารึกศรีลังกา (Epigraphia  Zeylanica, Vol. 2 Oxford University Press, 1928) pp. 38.
๓๔    พงศาวดารย่อเมืองเวียงจันทน์ว่า ?ศักราช ๑๔๑ (พ.ศ. ๒๓๒๒)  ปีกัดไค้ (ปีกุน)  เดือน ๑๑  แรม ๓ ค่ำ  วันจันทร์  แตกเศิกไทยวันนั้น?  (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๐. โรงพิมพ์พระจันทร์. พ.ศ. ๒๔๘๔. หน้า ๑๘๙.)
๓๕    ศิลาจารึกวัดป่าใหญ่ ๒  ในธวัช  ปุณโณทก,  ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย ? ลาว  :  การศึกษาทางด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์อีสาน.  (โรงพิมพ์คุณพินอักษรกิจ.  พ.ศ. ๒๕๓๑)  หน้า ๓๗๔ ? ๓๗๕.
๓๖ เรื่องเดียวกัน  หน้า ๓๗๔
๓๗    เติม  วิภาคย์พจนกิจ.  ประวัติศาสตร์อีสาน.  สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.  พ.ศ. ๒๕๓๐,  หน้า ๕๙๑.



ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://blog.eduzones.com/tambralinga/15424

thxby7188คนโก้, uthai08
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 มกราคม 2555, 22:00:50 โดย TaeUbon » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.19 | SMF © 2006-2009, Simple Machines Valid XHTML 1.0! Valid CSS!