การกำเนิดของพระธุดงคกรรมฐานสายอีสาน ?>
ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน
The Buddhist Art Conservation Club Of Esan (North Eastern Part Of Thailand)
24 เมษายน 2567, 20:55:09 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  

กติกาในการ เช่า-แลกเปลี่ยนพระเครื่อง | พระเครื่องเมืองอุบลราชธานี | แจ้งปัญหาการใช้งาน
แจ้งเรื่องการยืนยันตัวตนสำหรับผู้ที่จะให้เช่าพระเครื่องฯ | วิธีสมัครสมาชิกเว็บ

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การกำเนิดของพระธุดงคกรรมฐานสายอีสาน  (อ่าน 11695 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เต้ อุบล
พุทธศาสนิกชน ฅนรักษ์ธรรมะ
Administrator
*****

พลังน้ำใจ : 634
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 982

Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 25 : Exp 44%
HP: 0%



อย่าสุไลเสียถิ้ม พงษ์พันธุ์พี่น้องเก่า อย่าสุละเผ่าเซื้อ ไปย่องผู้อื่นดี

sabayd8861@hotmail.com
ดูรายละเอียด อีเมล์
« เมื่อ: 06 พฤศจิกายน 2554, 08:51:31 »

การกำเนิดของพระธุดงคกรรมฐานสายอีสาน
พระธุดงคกรรมฐานสายอีสาน ภายใต้การนำของพระอาจาย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ๒ พระกรรมฐานจากจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้ชื่อว่าเป็นตักศิลาธรรมะแห่งภาคอีสาน ที่ได้บุกเบิกกองทัพธรรมแห่งอีสาน วางรากฐานแนวการปฎิบัติให้หยั่งรากแก้วมั่งคงในผืนแผ่นดินไทย ถือว่ามีอิทธิพลต่อประชาชนค่อนข้างมาก รวมทั้งเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ที่ได้ติดตามครูอาจารย์ออกธุดงค์ ก่อนที่จะหักเหชีวิตทางธรรมจากกรรมฐานสู่พระปริยัติธรรม

การกำเนิดของพระธุดงคกรรมฐานสายอีสาน กล่าวกันว่า มาจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ เงื่อนไขทางการเมือง เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์และเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรม

กล่าวคือมีความเชื่อกันว่า สังคมชาวนาอีสาน นั้น มีความใฝ่ฝัน และความเชื่อ ที่จะถึงซึ่งสังคมพระศรีอาริย์ หรือ สังคมอุดมทิพย์และสังคมอุดมธรรม ที่ปราศจากความอดอยากและแร้นแค้น ทางกายและทางใจ

ดังคำกล่าวโบราณของชาวอีสานที่ว่า ?ใจบ่ศรัทธาแล้วแสนสิออยกะปานด่า ใจบ่ศรัทธานำเฮ็ดดีกะปานฮ้าย? หมายความว่า สังคมอีสานให้ความสำคัญกับใจเป็นใหญ่และว่าการที่ชาวนาจะถึงซึ่งสังคมพระศรีอาริย์ได้จะต้องฟังเทศน์อย่างน้อย ๑,๐๐๐ คาถา ใน ๑ วัน

พระมหาไกรวุฒิ มะโนรัตน์ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล เขียนไว้ในงานวิจัยของท่านว่า การโหยหาถึงสังคมอุดมคติ แบบสังคมพระศรีอาริย์ เกิดจากการที่มนุษย์ไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่ของตนเองในปัจจุบัน ทั้งจากสภาพแวดล้อมทางการเมือง เช่น รัฐ การปกครองรัฐ กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การสงคราม และเกิดจากความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ ที่คนมีฐานะทางการเงินแตกต่างกันมาก ในขณะที่คนหนึ่งมีกินมีใช้อย่างฟุ่มเฟือย มีความสุขเลิศลอย แต่อีกคนหนึ่งอดอยาก มีทุกขเวทนา ในสังคมที่อยู่ในสภาพเงื่อนไขเช่นนี้ ก่อให้เกิดความไม่พอใจในสภาพความเป็นอยู่ จึงพยายามสร้างรูปแบบหรือโครงสร้างขึ้นมาใหม่

ในสังคมพระศรีอาริย์ ชาวนาอีสานเชื่อว่า เมื่อพุทธศาสนาของพระโคดมล่วงถึง ๕,๐๐๐ ปี โลกจะมีแต่ความเลวร้ายที่สั่งสมกันมาเป็นเวลานาน ผู้คนระส่ำระสายบ้านเมืองอยู่ในยุคมิคสัญญี ต่อมาจะมีผู้มีบุญมาปราบทุกเข็ญ คือ พระศรีอาริย์ ซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาพุทธองค์ใหม่ ยุคพระศรีอาริย์ เป็นยุคที่มีแต่ความสุข เป็นยุคที่มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับในคัมภีร์อนาคตวงศ์ กล่าวว่า สังคมอุดมคติในยุคพระศรีอาริย์ที่จะมาถึง จะมีความอุดมสมบูรณ์ทุกประการ แผ่นดินในสกลชมพูทวีป ได้ราบเรียบเสมอกันดังหน้ากลองชัย มีข้าวหอมมะลิเกิดขึ้น มหาชนไม่ได้ค้าขาย ไม่ได้ไถนา ก็มีอาหารบริบูรณ์ มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ฝนจะตกทุกๆ ๑๕ วัน สัตว์ ทั้งหลายไม่ยอมแก่ คนทั้งหลายมีอายุยืน ๘๐,๐๐๐ ปี ผู้คนมีรูปร่างสวยงาม มีเสรีภาพและภราดรภาพ มนุษย์ทุกคนมีคุณธรรมความดี ตั้งมั่นในทาน ศีล ภาวนา เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ มีทรัพย์สินเป็นของกลาง มนุษย์ทุกคนไม่เบียดเบียนกัน เพราะรักษาศีล ๕

ฉะนั้นคนอีสานจึงใฝ่ฝันและรอคอยสังคมอุดมคติ เพราะสังคมดังกล่าว ถือว่าเป็นสังคมที่ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ดังสามารถมองผ่านวรรณกรรมหรือเรื่องเล่าทางวัฒนธรรมของอีสานหลากหลายเรื่อง เช่น ในกาพย์หลานสอนปู่ กาพย์วิฑูรบัณฑิต คอกลอยสอนโลก และตำนานพญาอินทร์โปรดโลก ที่มักจะมีเรื่องราว ?สังคมพระ ศรีอาริย์? อันถือว่าเป็นความหวังของชาวนาอีสานเสมอ แม้นในความเป็นจริงพวกเขาเพียงแค่ปรารถนาในสังคมอยู่ดีกินดี ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบและได้ทำบุญก็พอ

การเกิดขึ้นของพระธุดงคกรรมฐานสายอีสานภายใต้การนำของพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และ พระอาจารย์ มั่น ภูริทตฺโต แม้จะมีอิทธิพลอย่างยิ่งจากพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบธรรมยุต แต่การเกิดของพระธุดงค์จากอุบลราชธานีในขณะนั้น ก็อยู่ในช่วงเงื่อนไขหรือบริบทของความเร้นแค้นของภาคอีสาน เช่น เดียวกับบริบทแห่งการเกิดกบฏชาวนาอีสานในการต่อต้านอำนาจรัฐ ในราวปี พ.ศ.๒๔๔๒ ? ๒๔๔๕ ที่อาศัยอุดมการณ์พระศรีอาริย์ ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยความยากลำบากของชีวิตชาวนา

บริบทและเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมอีสานเช่นนั้นน่าจะมีอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นและการแสวงหาสังคมอุดมคติหรือสังคมอุดมธรรมของกลุ่มชาวนาอีสานให้เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน มากกว่าที่จะรอการมาถึงซึ่งผู้มีบุญหรือพระโพธิสัตว์ที่จะมาประกาศศาสนาใหม่ ?พระศรีอาริยเมตไตย? อันเป็นระบบความเชื่อสำคัญของชาวนาอีสาน หรือ การสร้างสังคมอุดมธรรมด้วยการต่อสู้กับรัฐหรือชนชั้นปกครองด้วยขบวนการอนาธิปัตย์ แม้ว่าพุทธศาสนาในเมืองไทยจะประดิษฐานทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่ที่มีความชัดเจนและตั้งใจในการประพฤติปฎิบัติให้ถึงซึ่งจุดสูงสุดของพระพุทธศาสนา น่าจะมีความชัดเจน มีแบบแผนหรืออุดมการณ์ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ ในภาคอีสาน โดยเฉพาะในกลุ่มพระธุดงคกรรมฐานสายพระอาจารย์ มั่น ภูริทตฺโต หรือที่เรียกกันว่าพระป่าหรือพระกรรมฐานที่ถือ ธุดงควัตร ๑๓ และให้ความสำคัญในการอยู่ป่าเป็นวัตร

ดังจะเห็นว่าในระหว่างที่พระอาจารย์มั่น ได้จำพรรษาที่ป่าแถบจังหวัดเชียงใหม่ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี หรือ พระราชนิโรธรังสี ผู้เป็นศิษย์ ได้กล่าวกับพระอาจารย์มั่น เกี่ยวกับการจะตั้งสำนักภาคเหนือว่า ?แล้วเราจึงปรารถถึงคนภาคอีสานว่า เหมาะสมแก่การปฎิบัติธรรมมากกว่าทุกๆ ภาค โดยเฉพาะภาคเหนือแล้วได้ผลน้อย เราได้ชี้ให้ท่านเห็นว่า ดูแต่ท่านอาจารย์อยู่ทางนี้ได้ ๗-๘ ปีแล้วมีใครบ้างที่ออกปฎิบัติตาม หมู่ที่ตามๆ ท่านอาจารย์มานี้ล้วนแต่ลูกศิษย์เก่าคนภาคอีสานทั้งนั้น บัดนี้คนภาคอีสานไม่ว่าจะเป็นพระ ฆราวาส มีเจ้าคุณธรรมเจดีย์ เป็นต้น ต่างพากันบ่นถึงท่านอาจารย์?

คณะพระธุดงคกรรมฐานสานอีสานเริ่มออกธุดงค์ไปตามป่าริมฝั่งแม่น้ำโขงครั้งแรกๆ ประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๔๕ ตามหัวไร่ปลายนา ตามผืนป่า และผ่านหมู่บ้านชาวนา และได้ชาวนาในหมู่บ้านภาคอีสาน เป็นลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก เช่น พระอาจารย์ สิงห์ ขนตฺยาคโม พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม พระอาจารย์ลี ธมฺมโร พระอาจารย์ แหวน สุจิณฺโณ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ขาว อนาลโย พระอาจารย์ชอบ ฐานสโม พระอาจารย์เทส เทสรังสี พระอาจารย์จันทร์ เขมิโย พระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พระอาจารย์ชา สุภทฺโท พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นต้น และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างพระธุดงคกรรมฐานสายอีสานและสร้างความมั่นคงของพุทธศาสนาในภาคอีสานและทั่วประเทศไทย

แม้ตัวพระอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นลูกชาวนาในสกุลแก่นแก้ว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี จะมีความสำคัญ จนกระทั่งมีการอุปมาอุปมัยความสำคัญของพระอาจารย์มั่น ว่าเหมือนกับพระพุทธเจ้าในสังคมชาวนาอีสาน เพราะเป็นผู้ถากถางเส้นทางของมรรคผลนิพพานหรือเส้นทางอริยะ หรือการสร้างสังคมอุดมทิพย์อุดมธรรมในประวัติศาสตร์อีสาน แต่คณะศิษยานุศิษย์ของท่านก็มีความสำคัญยิ่งในการสร้างพระพุทธศาสนาที่สามารถก่อให้เกิดสังคมอุดมธรรมขั้นสูงสุดในยุคปัจจุบันที่ไม่มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย หรือ การแร้นแค้น ทุกข์ยาก เช่นที่มีในสังคมชาวนาอีสานต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนชาวนาอีสานที่อาศัยอยู่ตามบ้านป่า ชายป่าชายเขา อย่างหมู่บ้านหนองผือ ในจังหวัดสกลนคร บ้านสามผง ในจังหวัดนครพนม บ้านห้วยทราย ในจังหวัดมุกดาหาร ฯลฯ ที่มีพื้นฐานของการใฝ่หาสังคมแห่งความผาสุก ที่สนับสนุนอุปัฏฐากพระธุดงคกรรมฐานตลอดมา

ปรัชญาหรือแนวคิดของพระธุดงคกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น เชื่อว่าความแร้นแค้น ความอดอยาก ความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นความทุกข์ ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาปรับปรุงจนมีความบริบูรณ์พูนสุขด้วยวัตถุและความสะดวกสบาย หรือความเชื่อของปรัชญาสังคมอุดมธรรมแบบคอมมิวนิสต์หรือแนวใดก็ตาม แต่มนุษย์ยังจะต้องเผชิญกับความยากลำบากของการเจ็บ การแก่และการตาย จากกฎธรรมชาติ

ฉะนั้นคณะพระธุดงคกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น เห็นว่า สังคมอุดมคติหรือสังคมอุดมธรรมที่แท้จริงคือสังคมแห่งอริยะ นั่นหมายถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเองและหมู่พวกให้ถึงซึ่งอริยะ โดยการวางสังคมอุดมคติในเชิงรูปแบบด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา(ไตรสิกขา) หรือ มรรค ๘ รวมทั้งธุดงค์วัตร ๑๓ ซึ่งเป็นสังคมไม่มีชนชั้น ทุกคนเสมอภาคกันด้วยศีล ด้วยพรรษา และพยายามเผยแพร่แนวคิดหลักปฎิบัติดังกล่าวให้กับกลุ่มชน ชาวนาตามหมู่บ้านชนบทภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ของไทย สร้างสังคมอุดมทิพย์ อุดมธรรม ทั้งในระดับต้นโดยการไม่เบียดเบียน การไม่ลักขโมย การเผยแผ่ การอยู่รวมกันในสังคมชาวนาด้วยศีล ๕ หรือในระดับสูงสุดในการเจริญภาวนา

การเปลี่ยนเปลวจากเถ้ากระดูกกลายเป็นพระธาตุบริสุทธิ์ของคณะพระธุดงคกรรมฐานสายอีสานหลังการมรณภาพ เช่น พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์ตื้อ พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์ขาว พระอาจารย์แหวน พระอาจารย์จันทร์ พระอาจารย์พรหม พระอาจารย์หลุย พระอาจารย์คำดี พระอาจารย์ชอบ พระอาจารย์หล้า พระอาจารย์จวน พระอาจารย์วัน ฯลฯ ซึ่งเป็นพระชาวนาอีสาน ตอกย้ำให้ผู้คนในสังคมชาวนาเห็นว่า การใฝ่ฝันหาสังคมอุดมธรรม มิได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องที่รอคอยชาติหน้า หรือ รอคอยการมาถึงพระศรีอาริย์เสียอย่างเดียว

พระอาจารย์มั่น เป็นเสมือนผู้มีบุญ ที่ได้มาสร้างสังคมอุดมธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมชาวนา ทั้งสังคมอุดมธรรมที่เป็นเนื้อหาและรูปแบบในหมู่พระกรรมฐาน และการสร้างสังคมอุดมธรรมในหมู่ชาวนา โดยการนำพาการต่อสู้ทางชนชั้นในหัวใจหรือการศึกษาเพื่อพัฒนาสติปัญญาด้วยวิธีการต่างๆ อย่างเข้มข้น เช่น การรักษาศีล เจริญภาวนา เพื่อให้ได้เสรีภาพทางจิตวิญญาณ อันเป็นเสรีภาพจากการไม่เบียดเบียน ความโลภ การเอารัดเอาเปรียบหรือการขูดรีด หรือที่เรียกกันว่า เผด็จการทางชนชั้นที่แท้จริง ทั้งระดับต้น คือผู้ไม่เบียดเบียนและระดับสูงคือหลุดพ้นเป็นอริยะ ดำรงชีวิตด้วยความเมตตากรุณาเป็นปรกติ ก่อให้เกิดความร่มเย็นในหมู่สังคมชาวนาและสังคมเมือง

thxby4401vasan, deknoy
บันทึกการเข้า
คนภูเขาร่มเงาธรรมมะ
มองอย่างอินทรีแต่อย่าผยองเหมือนอินทรี
Verified Member
*

พลังน้ำใจ : 62
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 287

Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 13 : Exp 71%
HP: 0%



อินทรีย่อมบินเหนือกว่าขุนเขา ไม่มีสิ่งใดที่จะรอดจากสายตามหาอินทร


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 11 พฤศจิกายน 2554, 06:26:26 »

พระภิกษุฝ่ายนี้ว่า ฝ่ายอรัญวาสี หรือพระป่า หรือพระธุดงค์
            ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุทุกรูปจะเป็นพระป่า พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำชับให้ภิกษุสาวกของพระองค์ ให้ออกไปสู่โคนไม้ คูหาหรือเรือนร้าง เพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนา
            พระพุทธเจ้าประสูติในป่า คือที่ป่าลุมพินีวัน ณ เขตติดต่อแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ตรัสรู้ที่ใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ในป่าริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เขตกรุงสาวัตถี แคว้นมคธ ทรงแสดงพระปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงกรุงพาราณสี และเข้าสู่ปรินิพพานที่ป่าในเขตกรุงกุสินาราย ตลอดระยะเวลา ๕๑ ปี พระพุทธเจ้าได้ทรงจาริกไปสั่งสอนเวไนยสัตว์ และเสด็จประทับอยู่ในป่า เมื่อมีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาสร้างวัดถวายก็จะสร้างวัดในป่า เช่น เชตวัน เวฬุวัน อัมพวัน ลัฏฐิวัน ชีวกัมพวัน มัททกุจฉิมฤคทายวัน อันธวัน และนันทวัน เป็นต้น คำว่าวันแปลว่าป่า พระพุทธองค์จะประทับอยู่ในวัดดังกล่าวตอนช่วงพรรษา ปีหนึ่งไม่เกินสี่เดือน นอกจากนั้นจะเสด็จจาริกนอนตามโคนไม้ตามป่า
พระป่าของไทย
            พระป่าของไทย หมายถึงพระที่อยู่ตามธรรมชาติเช่นเดียวกับ พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นผู้ที่บรรพชาอุปสมบทถูกต้องครบถ้วนตามพระธรรมวินัย ไม่ผิดกฏหมายของบ้านเมือง บวชด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นและบริสุทธิ์ใจในบวรพุทธศาสนา  เมื่อบวชแล้วก็มุ่งมั่นบำเพ็ญเพียร ตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้บรรลุธรรม อันนำไปสู่การพ้นจากวัฏสงสาร ทำให้พ้นจากกองทุกข์ อันเป็นจุดหมายอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา
            ในสมัยสุโขทัยต่อเนื่องมายังสมัยอยุธยา เรามีพระภิกษุฝ่ายคามวาสี เน้นทางด้านคันถธุระ และฝ่ายอรัญวาสีเน้นทางด้านวิปัสสนาธุระ ดังจะเห็นได้ในประวัติศาสตร์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งที่กระทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแม่ทัพพม่า ได้ชัยชนะ แต่แม่ทัพนายกองหลายคนกระทำการบกพร่องได้รับการพิจารณาโทษ สมเด็จพระนพรัตน์แห่งวัดป่าแก้วและคณะ ได้เสด็จมาแสดงธรรมเพื่อให้ทรงยกโทษประหารแก่ แม่ทัพนายกองเหล่านั้น โดยยกเอาเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์ผจญพญามาร ในคืนวันที่ จะทรงตรัสรู้มาเป็นอุทาหรณ์  สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงปิติโสมนัส ซาบซึ้งในพระธรรมที่สมเด็จพระนพรัตน์วัดป่าแก้ว ทรงแสดงยิ่งนักตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ควรหนักหนา" และได้ทรงพระราชทานอภัยโทษประหารแก่แม่ทัพนายกองเหล่านั้น
            จะเห็นว่าสมเด็จพระนพรัตน์วัดป่าแก้ว เป็นพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี จึงได้ชื่อนี้ และอยู่ที่วัดป่า แต่ก็มิได้ตัดขาดจากโลกภายนอก เมื่อมีเหตุการณ์สำคัญที่ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์สมควรที่จะออกมาสงเคราะห์ฝ่ายบ้านเมือง หรืออาจจะกล่าวโดยรวมว่า ฝ่ายศาสนจักรสงเคราะห์ฝ่ายอาณาจักร ท่านก็สามารถกระทำกิจนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างผู้ที่แตกฉานในพระไตรปิฎก ดังนั้น พระภิกษุสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีผู้ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ จะต้องมีความรู้ทางคันถธุระเป็นอย่างดีมาก่อน จะได้ปฏิบัติวิปัสสนาธุระได้อย่างถูกต้องตรงทาง คุณสมบัติข้อนี้ได้มีตัวอย่างมาแล้วแต่โบราณกาล
            ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีพระภิกษุที่เป็นแบบอย่างของพระป่าในปัจจุบัน เป็นที่รู้จักกันดีคือ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท  จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพ ฯ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งสามท่านมีกิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือ ในดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทั้งในประเทศไทย ประเทศลาว และประเทศพม่า สำหรับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นพระภิกษุที่มีศิษย์เป็นพระป่ามากที่สุดสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ท่านได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ และมรณภาพ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๙๖ นับจากปี พ.ศ.๒๔๖๐ จนมรณภาพท่านได้ออกสั่งสอนศิษย์เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุด โดยเน้นภาคปฏิบัติที่เป็นจิตภาวนาล้วน ๆ ตามแนวทางพระอริยมรรคมีองค์แปด เมื่อกล่าวโดยย่อได้แก่ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ปัจจัยสี่ของพระป่า
            ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อให้พอเหมาะแก่การดำรงชีวิตอยู่สำหรับการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้สี่อย่าง พระป่าของไทยได้นำมาประพฤติปฏิบัติจนถือเป็นนิสัยคือ
            ๑.  การออกเที่ยวบิณฑบาตมาเลี้ยงชีพตลอดชีวิต  การบิณฑบาตเป็นงานสำคัญประจำชีวิต ในอนุศาศน์ท่านสั่งสอนไว้มีทั้งข้อรุกขมูลเสนาสนะ และข้อบิณฑบาต การออกบิณฑบาต พระผู้มีพระภาคทรงถือเป็นกิจจำเป็นประจำพระองค์ ทรงถือปฏิบัติเพื่อโปรดเวไนยสัตว์อย่างสม่ำเสมอตลอดมาถึงวันปรินิพพาน
            การบิณฑบาต เป็นกิจวัตรที่อำนวยประโยชน์แก่ผู้บำเพ็ญเป็นเอนกปริยาย กล่าวคือ เวลาเดินบิณฑบาตไปในละแวกบ้าน ก็เป็นการบำเพ็ญเพียรไปในตัวตลอดเวลาที่เดิน เช่นเดียวกับเดินจงกรมอยู่ในสถานที่พักประการหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถในเวลานั้นประการหนึ่ง ผู้ที่บำเพ็ญทางปัญญาโดยสม่ำเสมอ เมื่อเวลาเดินบิณฑบาต เมื่อได้เห็นหรือได้ยินสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาสัมผัสทางทวารย่อมเป็นเครื่องเสริมสติปัญญา และถือเอาประโยชน์จากสิ่งนั้น ๆ ได้โดยลำดับประการหนึ่ง เพื่อตัดความเกียจคร้านของตนที่ชอบแต่ผลอย่างเดียว แต่ขี้เกียจทำเหตุที่คู่ควรแก่กันประการหนึ่ง และเพื่อตัดทิฏฐิมานะถือตน รังเกียจต่อการโคจรบิณฑบาต อันเป็นลักษณะของการเป็นผู้ขอ
            เมื่อได้อะไรมาจากบิณฑบาตก็ฉันอย่างนั้น พอยังอัตภาพให้เป็นไป ไม่พอกพูนส่งเสริมกายให้มาก อันจะเป็นข้าศึกต่อความเพียรทางใจให้ก้าวหน้าไปได้ยาก การฉันหนเดียวในหนึ่งวันก็ควรฉันเถิดแต่พอประมาณ ไม่ให้มากเกินไป และยังต้องสังเกตด้วยว่าอาหารชนิดใดเป็นคุณแก่ร่างกาย และเป็นคุณแก่จิต เพื่อให้สามารถปฏิบัติสมาธิภาวนาได้ด้วยดี
            ๒.  การถือผ้าบังสุกุลจีวรตลอดชีวิต ในสมัยพุทธกาล พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญพระมหากัสสปะว่า เป็นผู้เลิศในการทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
            ผ้าบังสุกุล คือผ้าที่ถูกทอดทิ้วไว้ตามป่าช้า เช่นผ้าห่อศพ หรือผ้าที่ทิ้งไว้ตามกองขยะ ซึ่งเป็นของเศษเดนทั้งหลาย ไม่มีใครหวงแหน พระภิกษุเอามาเย็บติดต่อกันตามขนาดของผ้าที่จะทำเป็นสบง จีวร สังฆาฏิ ได้ประมาณแปดนิ้วจัดเป็นผ้ามหาบังสุกุล ผ้าบังสุกุลอีกประเภทหนึ่งที่เป็นรองลงมา ผู้ที่มีจิตศรัทธานำผ้าที่ตนได้มาด้วยความบริสุทธิ์ไปวางไว้ในสถานที่พระภิกษุเดินจงกรมบ้าง ที่กุฏิบ้าง หรือทางที่ท่านเดินผ่านไปมา แล้วหักกิ่งไม้วางไว้ที่ผ้า หรือจะจุดธูปเทียนไว้ พอให้ท่านรู้ว่าเป็นผ้าถวายเพื่อบังสุกุลเท่านั้น
            ๓.  รุกขมูลเสนาสนัง  ถือการอยู่โคนไม้ในป่าเป็นที่อยู่อาศัย มหาบุรุษโพธิสัตว์ก่อนทรงตรัสรู้ในระหว่างที่แสวงหาโมกขธรรมอยู่หกปี ก็ได้มีความเป็นอยู่อย่างนี้มาโดยตลอด ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำพระสาวกให้เน้นการอยู่ป่าเป็นส่วนใหญ่ จำทำให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้ากว่าการอยู่ที่อื่น
            ๔. การฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่าตลอดชีวิต  เป็นการฉันยาตามมีตามได้ หรือเที่ยวแสวงหายาตามป่าเขา อันเกิดตามธรรมชาติเพื่อบรรเทาเวทนาของโรคทางกายเท่านั้น
กิจวัตรของพระป่า
            กิจวัตรที่สำคัญในพระพุทธศาสนา เป็นแนวปฏิบัติของพระป่า ที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำมีอยู่สิบประการคือ
            ๑.  ลงพระอุโบสถในอาวาสหรือที่ใด ๆ มีพระภิกษุตั้งแต่สี่รูปขึ้นไป ต้องประชุมกันลงฟังพระปาฏิโมกข์ ทุก ๑๕ วัน (ครึ่งเดือน)
            ๒.  บิณฑบาตเลี้ยงชีพตลอดชีวิต
            ๓.  ทำวัตรสวดมนต์ เช้า - เย็นทุกวัน เว้นแต่เจ็บไข้อาการหนัก พระป่าจะทำวัตรสวดมนต์เอง ไม่ได้ประชุมรวมกันทำวัตรสวดมนต์เหมือนพระบ้าน
            ๔.  กวาดเสนาสนะ อาวาส ลานพระเจดีย์ ลานวัด และบริเวณใต้ต้นมหาโพธิ ถือเป็นกิจวัตรสำคัญ เป็นเครื่องมือขจัดความเกียจคร้านมักง่ายได้เป็นอย่างดี พระวินัยได้แสดงอานิสงส์ไว้ ห้าประการ คือ หนึ่งในห้าประการนั้นคือ
            ผู้กวาดชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินตามคำสั่งสอนของพระศาสดา เบื้องหน้าแต่ตายเพราะทำลายขันธ์ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
            ๕.  รักษาผู้ไตรครองคือ สังฆาฏิ จีวร และสบง
            ๖.  อยู่ปริวาสกรรม
            ๗.  ปลงผม โกนหนวด ตัดเล็บ
            ๘.  ศึกษาสิกขาบท และปฏิบัติอาจารย์
            ๙.  แสดงอาบัติคือ การเปิดเผยโทษที่ตนทำผิดพระวินัยที่เป็นลหุโทษ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งให้ทราบ และสัญญาว่าจะสำรวมระวังมิให้เกิดทำผิดเช่นนั้นอีก
            ๑๐.  พิจารณาปัจจเวกขณะทั้งสี่ ด้วยความไม่ประมาท คือ พิจารณาสังขาร ร่างกาย จิตใจ ให้เป็นของไม่เที่ยงถาวรที่ดีงามได้ยาก ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพื่อเป็นอุบายทางปัญญาอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
ธุดงควัตรของพระป่า
            ธุดงค์ที่พระผู้มีพระภาคให้ปฏิบัติเพื่อขจัดกิเลสที่ฝังอยู่ภายใจจิตใจของปุถุชน มีอยู่ ๑๓ ข้อ ดังนี้
            ๑.  ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
            ๒.  เตจีวริกังคะ ถือใช้ผ้าเพียงสามผืนเป็นวัตร
            ๓.  ปิณฑปาติกังคะ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
            ๔.  สปทานจาริกังคะ ถือการเที่ยวบิณฑบาตไปตามแถวเป็นวัตร เพื่อเป็นความงามในเพศสมณะในทางมรรยาท สำรวมระวังอยู่ในหลักธรรม หลักวินัย
            ๕.  เอกาสนิกังคะ ถือการฉันมื้อเดียวเป็นวัตร เพื่อตัดกังวลในเรื่องการฉันอาหารให้พอเหมาะกับเพศสมณะให้เป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่รบกวนคนอื่นให้ลำบาก
            ๖.  ปัตตปิณฑิกังคะ คือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ฉันเฉพาะในบาตร เพื่อขจัดความเพลิดเพลินในรสอาหาร
            ๗.  ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือการห้ามฉันภัตอันนำมาถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร
            ๘.  อารัญญิกังคะ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
            ๙.  รุกขมูลิกังคะ ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร ข้อนี้ตามแต่กาลเวลาและโอกาสจะอำนวยให้
            ๑๐.  อัพโภกาลิกังคะ ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ข้อนี้ก็คงตามแต่โอกาส และเวลาจะอำนวยให้
            ๑๑.  โสสานิกังคะ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติให้เหมาะกับเวลาและโอกาส
            ๑๒.  ยถาสันถติกังคะ ถือการอยู่เสนาสนะแล้วแต่เข้าจัดให้ มีความยินดีเท่าที่มีอยู่ไม่รบกวนผู้อื่น อยู่ไปพอได้บำเพ็ญสมณธรรม
            ๑๓.  เนสัชชิกังคะ ถือการ ยืน เดิน นั่ง อย่างเดียว ไม่นอนเป็นวัตร โดยกำหนดเป็นคืน ๆ ไป
เครื่องบริขารของพระป่า
            เครื่องบริขารของพระป่า ตามพระวินัยกล่าวไว้มีสองชนิด คือ บาตรดินเผา และบาตรเหล็ก ปัจจุบันใช้บาตรเหล็กที่ระบมด้วยไฟ เพื่อป้องกันสนิม
            สบงหรือผ้านุ่ง จีวรหรือผ้าห่ม และสังฆาฏิ เป็นบริขารที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุ ผ้าเหล่านี้พระป่าจะทำกันเองตั้งแต่การตัดเย็บ ย้อมด้วยน้ำแก่นขนุนเรียกว่า ย้อมด้วยน้ำฝาด
            บริขารอื่นนอกจากบริขารแปดแล้ว ก็มีกลดพร้อมมุ้งกลด ในฤดูฝนสามารถใช้แทนร่มในเวลาออกบิณฑบาต นอกจากนี้ก็มีผ้าอาบน้ำฝนใช้นุ่งอาบน้ำ ผ้าอาบน้ำฝนนี้จะใช้หินแดงที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาฝนเป็นสีสำหรับย้อม ผ้าที่ย้อมด้วยหินแดงนี้ จะมีสีแดงเป็นส่วนใหญ่ หินแดงนี้ยังใช้ผสมกับสีแก่นขนุนเพื่อย้อมสบงจีวร และสังฆาฏิได้อีก นอกจากนี้ผ้าปูที่นอน ผ้านิสีทนะสำหรับใช้ปูนั่ง ผ้าอังสะ ผ้าเช็ดหน้าเช็ดปาก ย่ามสำหรับใส่ของ เมื่อถึงเวลาออกเที่ยววิเวกตามป่า ตามเขา ตามถ้ำ ท่านจะซักย้อมผ้าของท่านเพื่อให้สีทนทาน บางทีไปนานสองสามเดือน ก็จะเคี่ยวแก่นขนุนเก็บติดตัวไปด้วย
การเข้าเป็นพระป่า
            การเริ่มต้นชีวิตแบบพระป่าอาจทำได้สองวิธีคือ วิธีที่หนึ่ง บวชเป็นพระภิกษุเสียก่อนในที่อื่นแล้วขอไปพำนักในวัดป่า วิธีนี้เป็นวิธีที่พระภิกษุส่วนมากผ่านเข้าสู่วัดป่า ทั้งนี้เพราะสมภารวัดป่าส่วนมาก ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นพระอุปัชฌาย์
            วิธีที่สองคือ วิธีผ้าขาวคือ เป็นผู้ที่ปวารณาตัวเป็นอุบาสก ถือศีลแปด และอาศัยอยู่ในวัดทำหน้าที่เป็นลูกศิษย์พระ และฝึกปฏิบัติไปด้วย ต้องทำหน้าที่ให้เรียบร้อยเป็นที่พอใจของสมภารหรืออาจารย์ที่เป็นผู้ปกครอง จึงจะได้รับอนุญาตให้บวช บางคนเป็นผ้าขาวอยู่สองสามเดือนก็ได้บวช แต่บางคนก็อยู่เป็นปี บางคนเริ่มด้วยเป็นผ้าขาวน้อยตั้งแต่อายุยังน้อยสิบหรือสิบเอ็ดขวบ พอรู้เรื่องวัดดีก็บวชเป็นเณรเมื่ออายุครบก็บวชเป็นพระภิกษุ
            เป็นที่น่าสังเกตว่าวัดป่ามักไม่ใคร่มีลูกศิษย์พระ ทั้งนี้เพราะลูกศิษย์ถือแค่ศีลห้า และบางทีก็ทำได้ไม่ครบถ้วน มักจะรบกวนการปฏิบัติของพระด้วยประการต่าง ๆ พระป่าจึงไม่ใคร่นิยม
การอยู่วัดป่า
            วัดป่าไม่เหมือนวัดบ้าน ความรู้สึกที่ได้รับเมื่อเข้าสู่เขตวัดป่าคือ ความร่มรื่น ซึ่งเกิดจากต้นไม้น้อยใหญ่ที่เป็นสวนป่าในวัด ประการต่อมาคือความสะอาด และมีระเบียบ ถนนและทางเดินจะเตียนโล่งไม่มีเศษกิ่งไม้ใบไม้ร่วงหล่นเกลื่อนกลาด ทั้งที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นโดยรอบ ประการต่อมาคือความเงียบ บางเวลาเงียบมากจนได้ยินเสียงใบไม้ตกได้อย่างชัดเจน เสียงคนพูดคุยกันดัง ๆ แบบที่ได้ยินกันตามบ้านจะไม่มีเลย เวลาที่พระป่าจะคุยกันก็มีเฉพาะเวลาเตรียมฉันจังหัน เวลานัดดื่มน้ำเวลาบ่าย และเวลาพร้อมกันปัดกวาดถนนหนทางและลานวัด พระภิกษุทุกท่านจะพูดกันด้วยเสียงค่อยมาก จะไม่พบว่ามีการตะโกนคุยกันสนุกสนานเฮฮา เลย

thxby4518deknoy
บันทึกการเข้า
vasan
VIP Member
*****

พลังน้ำใจ : 36
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 27

Level and Hp mod by the DtTvB :: version 1.02 :: Made for Zone-IT.com Level 4 : Exp 21%
HP: 0%



ดูรายละเอียด อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: 08 ตุลาคม 2556, 15:58:13 »

อ่านแล้วใด้ความรู้มากเลยครับ

thxby15045deknoy
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.19 | SMF © 2006-2009, Simple Machines Valid XHTML 1.0! Valid CSS!