ตำนานพระแก้วเจ้าบุษราคัม เมืองอุบลราชธานี

(1/1)

คนโก้:
ตำนานพระแก้วเจ้าบุษราคัม
วัดศรีอุบลรัตนาราม  เมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย ประเทศราช
รัตนชาติเป็นแร่หินชนิดหนึ่งที่มนุษย์ทั้งปวงนิยมชมชอบและแสวงหามาไว้เป็นสมบัติแห่งตน  โดยเชื่อว่ารัตนชาติเหล่านี้มีอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะบันดาลให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตน  และสกุลแห่งตน  รัตนชาติเหล่านี้เป็นของหายาก เรียกตามภาษาทั่วไปว่าแก้ววิเศษเก้าประการหรือเก้าสี  อันได้แก่  เพชรดี  มณีแดง  เขียวใสแสงมรกต  เหลืองใสสดบุษราคัม  แดงแก่ก่ำโกเมนเอก  สีหมอกเมฆนิลกาฬ  มุกดาหารหมอกมัว  แดงสลัวเพทาย  สังวาลสายไพฑูรย์  
อันว่าถิ่นกำเนิดแห่งแก้วมณีทั้งเก้าประการ  ตามตำนานว่ามีอยู่ในชมพูทวีปแดนไกลโพ้น  ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า เมื่อประมาณปีพุทธศักราชได้ ๕๐๐ พรรษา  นับแต่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน  ยังมีพระมหาเถรอรหันต์เจ้าองค์หนึ่งทรงนามว่า ?พระมหานาคเสนเถรเจ้า? ทรงสถิต  ณ  อโศการาม  ในเมืองปาตลีบุตร  แห่งชมพูทวีป  เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งปฏิสัมภิทาญาณทั้งสี่  มีอภิญญาเชี่ยวชาญแกร่งกล้ายิ่งนัก  และเป็นประธานในหมู่พระสงฆ์เจ้าทั้งปวง  ดำริที่จะสร้างพระพุทธปฏิมากรเป็นอุทิศเจดีย์ต่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  แต่วิตกว่าหากสร้างด้วยเงินก็ดี ด้วยทองคำก็ดี จะเป็นโอกาสให้พวกทุจริตคิดมิชอบนำเอาไปถลุงเสีย  พระพุทธปฎิมานั้นก็จะไม่เสด็จอยู่ยั่งยืนนาน  ไม่ทราบว่าจะสร้างด้วยวัตถุใด ในบัดดลนั้นความดำริอันนี้รู้ไปถึงโสตปราสาท  แห่งท้าวสักกะเทวราชผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทวดาทั้งปวง  มีพระทัยชื่นชมโสมนัสและจะสนองดำริแห่งความประสงค์ของพระมหาเถรนาคเสน  ท้าวสักกะเทวราชจึงตรัสสั่งให้พระวิศวกรรมเทวบุตร  ไปนำเอาแก้วมณีโชติอันมีในภูเขาวิปุละบรรพต  อันเป็นภูเขากั้นเขตแดนประเทศมคธและล้อมรอบกรุงราชคฤท์มหานครอยู่ด้านหนึ่ง  และนอกจากนี้ยังมีภูเขาเวภาระบรรพต  ตะโปวันบรรพต  เสลาคีรีบรรพต  รัตนะคีรีบรรพต  สำหรับภูเขารัตนคีรีบรรพตนี้ สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้เคยเสด็จไปประทับทำความเพียรที่ถ้ำรัตนะคีรีในเขาลูกนี้จนสำเร็จพระโพธิญาณ  อันภูเขาเหล่านี้เป็นที่บำเพ็ญเพียรของเหล่าฤษีชีไพรและเป็นที่อยู่ของทวยเทพ  และอมนุษย์  กุมภัณฑ์ยักษ์ทั้งปวง  และภูเขาลูกนี้เป็นที่กำเนิดแห่งแก้วมณีทั้งปวง  อันมี  แก้วมณีโชติ  แก้วไพฑูรย์  แก้วมรกต  ซึ่งพวกกุมภัณฑ์ยักษ์  เป็นผู้เฝ้ารักษา  ดวงมณีแต่ละดวงก็มีมณีอันเป็นบริวารล้อมรอบดวงแก้วนั้นอยู่มากมาย  แก้วมณีโชติมีบริวารล้อมรอบอยู่ถึง ๓,๐๐๐ ลูก  แก้วไพฑูรย์มีบริวารล้อมรอบอยู่ถึง ๒,๐๐๐ ลูก  และแก้วมรกตมีบริวารล้อมรอบอยู่ถึง ๑,๐๐๐ ลูก
แก้วมรกตมาสู่กรุงปาตลีบุตรและเกิดเป็นองค์พระพุทธปฏิมาแก้วมรกต  เมื่อพระวิศวกรรมเทวบุตรได้รับบัญชาจากท้าวสักกะเทวราชแล้วจึงเหาะไปยังภูเขาวิปุละบรรพต  ตรงไปยังที่สถิตแห่งแก้วมณีโขติ  ทันทีที่เข้าไปเอาดวงแก้วมณีโชตินั้น  นายกุมภัณฑ์ประมุขยักษ์จึงถามว่า  ?ท่านมาที่นี่ประสงค์สิ่งอันใดหรือ?  พระวิศวกรรมเทวบุตรจึงตอบว่า  ?ท้าวสักกะเทวราชให้เรามาขอเอาแก้วมณีโชติจากท่านเพื่อไปถวายพระมหานาคเสนเถรเจ้าที่จะนำไปสร้างเป็นพระพุทธปฏิมากร?  ประมุขแห่งยักษ์จึงตอบว่า ?แก้วมณีโชตินี้เป็นแก้วสำหรับพระยาจักรที่จะมาปราบยุคเข็ญในเมืองมนุษย์  หากท่านเอาไปแล้วโลกมนุษย์นี้จะฉิบหาย เพราะว่าพระยาจักร์จะไม่มีสัตตะรัตนะอันจะเสริมสร้างบารมีในการปราบยุคเข็ญ  ขอให้ท่านไปเอาแก้วมรกตอันเป็นแก้ววิเศษดวงที่สามนั้น  ไปถวายพระนาคเสนเถรเจ้า  เพื่อสร้างเป็นพระพุทธปฏิมานั้นเถิด? ดังนั้นท้าวสักกะเทวราชและพระวิศวกรรมเทวบุตรจึงได้นำเอาแก้วมรกตอันวิเศษนั้น  ไปถวายแก่พระมหาเถรเจ้านาคเสน  แล้วท้าวสักกะเทวราชจึงตรัสสั่งให้พระวิศวกรรมเทวบุตรสร้างพระพุทธปฏิมากรด้วยแก้วมรกต  พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตจึงได้อุบัติขึ้นในโลกเมื่อพุทธศักราชได้ ๕๐๐  พรรษา  พระนาคเสนเถรเจ้าจึงได้อาราธนาอัญเชิญเอาพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าประดิษฐานในองค์พระแก้วนั้นถึง ๗ แห่ง คือที่พระเศียรหนึ่ง  ที่พระนลาฏหนึ่ง ที่พระอุระหนึ่ง ที่พระพาหาทั้งสองข้าง  และที่พระชงค์ทั้งสองข้าง  แล้วทำการฉลองสมโภชเป็นที่เอิกเกริก  แล้วสร้างพระมหามณฑปประดิษฐานไว้เป็นที่กราบใหว้บูชาของเทวดาทั้งปวง  มนุษย์  นาค  ครุฑ  กุมภัณฑ์  คนธรรพ์  สุราสุรินทร์  อินทร์  พรหม  ยม  ยักษ์ ทั้งปวงสืบมาจนทุกวันนี้
พระแก้วมรกตเสด็จสู่บูรพาทิศประเทศ
ต่อมาเมื่อประมาณพุทธศักราช ๑,๐๐๐ ปี  เมื่อกรุงปาตลีบุตรเกิดการจลาจลวุ่นวายรบราฆ่าฟันกันเดือดร้อนทั่วบ้านเมือง  พุทธบริษัทที่เคารพในพระพุทธศาสนาจึงได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตหลบหนียุคเข็ญข้ามไปอยู่ยังลังกาประเทศ พุทธบริษัทชาวลังกาทวีปและพระมหากษัตริย์แห่งลังกาได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ในพระอารามโมฆคีรีมหาวิหาร   มีพระพุทธโฆษาจารย์เถรเป็นประธานสงฆ์  พระแก้วมรกตประทับอยู่ในลังกาทวีปมาจนถึงพุทธศักราช ๑๕๙๕  ณ  ประเทศพม่าได้มีพระมหากษัตริย์เจ้าผู้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งนัก  ทรงพระนามว่า  พระเจ้าอโนระธามังช่อ  แห่งกรุงภุกาม  พระเจ้าอโนระธามังช่อนี้เรียกอีกพระนามหนึ่งว่า  พระเจ้าอนุรุธมหาราชแห่งภุกาม พระองค์เอาใจใส่ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง  ครั้งหนึ่งพระองค์ได้เสด็จไปกรุงลังกาเพื่อที่จะคัดลอกเอาพระไตรปิฎก  ได้รับการต้อนรับจากพระเจ้าลังกิสสราชกษัตริย์แห่งลังกาเป็นอย่างดี เมื่อได้คัดลอกเอาพระไตรปิฎกแล้ว  ก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงภุกาม  พระเจ้าอนุรุธมหาราชได้ขอเอาพระแก้วมรกตจากพระเจ้าลังกิสสราช  พระเจ้าลังกิสสราชก็ทรงยกให้ตามพระประสงค์ของพระเจ้าอนุรุธมหาราช  จึงได้พร้อมกันอัญเชิญเอาพระไตรปิฎกและพระแก้วมรกตลงเรือสำเภา  ออกเดินทางโดยทางทะเลสู่กรุงภุกาม  เมื่ออัญเชิญเอาพระไตรปิฎกลงเรือสำเภาลำหนึ่ง  พระแก้วมรกตอัญเชิญลงเรือสำเภาอีกลำหนึ่ง  เมื่อเรือทั้งสองลอยลำมาถึงกลางทะเลเกิดพายุพัดเอาเรือทั้งสองลำพลัดหลงกัน เรือสำเภาอัญเชิญพระไตรปิฎกนั้นเข้าสู่กรุงภุกาม  แต่เรือสำเภาลำที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตนั้นพลัดไปยังอาณาจักรแห่งพระเจ้าอินทปัตถนคร พระเจ้าอินทปัตถนครจึงยึดเอาเรือสำเภาและพระแก้วมรกตไว้เป็นของพระองค์  เมื่อพระเจ้าอนุรุธมหาราชทรงทราบจึงขอเอาพระแก้วมรกตคืน แต่พระเจ้าอินทปัตถนครไม่ยอมส่งคืนอ้างว่าเป็นลาภของพระองค์แล้ว  พระแก้วมรกตประทับที่กรุงกำโพชอินทปัตถนครอยู่หลายปี  จนเกิดการวุ่นวายขึ้นในกรุงกัมโพช  อันกรุงกำโพชนั้นมีอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาลมาก  ได้แบ่งพระราชอาณาจักรออกเป็นรัฐใหญ่ๆหลายรัฐ  มีเจ้านายแห่งกัมโพชมาปกครองในส่วนทางตะวันตกนี้มีนครรัฐที่ขึ้นแก่กรุงกัมโพชรัฐหนึ่งที่มีพระอุปราชเป็นผู้ปกครอง  รัฐนครนี้คือกรุงละโว้ราชธานี  มีพระเจ้าอาทิตยวงศ์เป็นอุปราชครองกรุงละโว้เมื่อประมาณปีพุทธศักราช ๑๖๔๐  ระยะนั้นทางกรุงอินทปัตถนครเกิดการวุ่นวายเนื่องจากพระเจ้าอินทปัตถนครถึงแก่สวรรคต  พระเจ้าอาทิตยวงศ์จึงยกทัพไปจัดการบ้านเมืองในนครหลวง  เมื่อจัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประทับที่กรุงละโว้
พระแก้วมรกตเสด็จสู่เมืองวชิรปราการกำแพงเพชร  ที่วชิรปราการบุรี  มีเจ้ารามราชเป็นอุปราช พระรามราชองค์นี้เป็นพระสหายกับพระเจ้าอาทิตยวงศ์  ได้มาเห็นพระแก้วมรกตมีความเคารพศรัทธามากจึงขอเอาพระแก้วมรกตจากพระเจ้าอาทิตยวงศ์  พระเจ้าอาทิตยวงศ์ทรงยกให้ตามประสงค์แห่งพระสหาย  เจ้ารามราชจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประทับที่เมืองวชิรปราการบุรี  เมื่อพุทธศักราช ๑๖๐๐ ปีเศษ  ประทับที่เมืองวชิรปราการบุรีได้ไม่นานนักก็ได้อัญเชิญไปประทับที่โยนกนครเชียงแสน  พระเจ้าพรหมมหาราชได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองวชิรปราการไปยังโยนกนครเชียงแสนเมื่อปีพุทธศักราช  ๑๖๖๐  ก่อนที่จะสิ้นรัชกาลของเจ้าพรหมมหาราช  ทรงเห็นว่าพระแก้วมรกตนี้เป็นพระแก้ววิเศษเกรงว่าข้าศึกจะมาแย่งเอาไปได้  จึงทรงให้พอกองค์พระแก้วไว้ด้วยปูนแล้วนำซ่อนไว้ในเจดียสถานแห่งหนึ่งในโยนกนครเชียงแสน  เมื่อในระหว่างเกิดความวุ่นวายจากกองทัพของขอมบ้าง  กองทัพจากไทยเมาของขุนเสือขวัญฟ้าบ้าง  ยกทัพมาตีเมืองโยนกนครเชียงแสนเพื่อมิให้ข้าศึกเอาองค์พระแก้วไปได้  พระราชโอรสของพระเจ้าพรหมมหาราชจึงได้ซ่อนองค์พระแก้วไว้ในเจดีย์จนล่วงกษัตริย์เจ้ามาหลายองค์ถึงรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชครองเมืองนครเชียงใหม่ได้ทราบว่าที่เมืองเชียงรายมีพระแก้วมรกตเกิดขึ้นโดยบังเอิญ  มีผู้ได้พบพระแก้วมรกตในวิหารซึ่งหุ้มด้วยรักปิดทองทั้งองค์  เมื่อปัดกวาดผงธุลีออกเห็นเป็นแก้วมรกตอยู่ภายใน  พระสุวรรณมาตย์เจ้าเมืองจึงให้กะเทาะรักออกทั้งองค์  จนเห็นเป็นเนื้อแก้วมรกตทั้งองค์ ต่างชื่นชมยินดีและให้มีการสมโภช  ชาวเมืองได้พากันหลั่งไหลเข้ากราบไหว้บูชาเป็นที่เลื่องลือ  ความทราบถึงพระเจ้าติโลกราชผู้ยิ่งใหญ่  จึงได้ให้เสนาอามาตย์นำช้างทรงเครื่องไปอัญเชิญพระแก้วมรกตยังเมืองนครเชียงใหม่  แต่คราวนั้นหาสำเร็จไม่  ช้างทรงพระแก้วกลับเดินเข้าสู่เมืองนครลำปาง  พระเจ้าติโลกราชจึงทรงให้ประดิษฐานพระแก้วมรกตอยู่ที่วิหารหลวง วัดพระแก้วในนครลำปางนั้นเสียก่อน  ต่อมาหลายปีพระเจ้าติโลกราชจึงได้ให้ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาสู่เมืองนครเชียงใหม่  แล้วสร้างพระอารามโชติการามให้เป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตสืบไป  เมื่อพระเจ้าติโลกราชสวรรคตแล้ว  มีกษัตริย์เจ้าสืบราชวงศ์ครองนครเชียงใหม่มาอีกหลายพระองค์  จนถึงรัชกาลพระเจ้าชายคำ  โอรสของเจ้าเมืองเกตุเกล้าขึ้นครองนครเชียงใหม่  พระองค์ไม่มีโอรส  เมื่อสิ้นรัชกาลของพระเจ้าชายคำแล้ว  ในปีพุทธศักราช ๒๐๖๓  เสนาอำมาตย์ในนครเชียงใหม่จึงไปอัญเชิญเอาเจ้าชายเชษฐา  พระโอรสของพระเจ้าโพธิสารกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง  ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าเมืองเกตุเกล้า  คือโอรสของพระนางยอดคำทิพย์  พระมเหสีของพระเจ้าโพธิสารแห่งศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวหลวงพระบางนั้นขึ้นมาครองราชย์สมบัติเป็นพระเจ้านครเชียงใหม่  พระนามว่า ?พระเจ้าชัยเชษฐาธิราช?  เมื่อพระเจ้าชัยเชษฐาธิราชมาครองนครเชียงใหม่  เมื่อจะเสด็จกลับไปเยี่ยมพระประยูรญาติที่เมืองนครหลวงพระบาง  ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงใหม่ไปด้วย  เพื่อให้พระประยูรญาติได้นมัสการสิ่งอันเป็นของวิเศษ  พระเจ้าชัยเชษฐาธิราชได้ไปประทับอยู่ที่นครหลวงพระบางหลายปี  จนทางเชียงใหม่ไปอัญเชิญเอาเจ้าเมกุฏีเมืองนาย  ซึ่งเป็นพระราชวงศ์เชียงใหม่อีกองค์หนึ่งมาครองนคร  และต่อมาถูกพม่ายกทัพมาตีเมืองนครเชียงใหม่  เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า พม่าจะยกทัพตีนครหลวงพระบาง  พระเจ้าชัยเชษฐาธิราชจึงย้ายพระนครหลวงลงไปสร้างที่จันทบุรีเป็นนครหลวง  เปลี่ยนนามว่า ?กรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์? แต่นั้นมา  ในครั้งนี้พระเจ้าชัยเชษฐาธิราชได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางลงไปเวียงจันทน์ด้วย  พระแก้วมรกตได้ประทับที่เมืองนครเวียงจันทน์ตลอดมาจนถึงปีพุทธศักราช ๒๓๑๙ ในรัชกาลพระเจ้าสิริบุญสารหรือพระเจ้าธรรมเทววงศ์  เสียความเป็นเอกราชแก่กรุงธนบุรี  เจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาสุรสีห์สองแม่ทัพ  เมื่อได้ชัยชนะกรุงศรีสัตนาคนหุตแล้ว  จึงได้อัญเชิญเอาพระแก้วมรกตและพระบางลงไปกรุงธนบุรี  ถวายแก่พระเจ้ากรุงธนบุรีตากสินมหาราช  พระแก้วมรกตจึงได้เสด็จลงไปสู่สยามประเทศราชอาณาจักรอยุธยาอีก
ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๕  สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (เจ้าพระยาจักรีทองด้วง) เสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี  ทรงสร้างพระนครไหม้ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา  ขนานนามพระนครว่า ?กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ? แล้วสร้างวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่  อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประทับที่วัดพระแก้วและขนานนามวัดว่า  ?วัดพระศรีรัตนศาสดาราม?
บทที่กล่าวมาข้างต้นเป็นต้นกำเนิดแห่งพระแก้วเจ้าทั้งหลาย

อันพระแก้วบุษราคัมแห่งเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชนี้มีความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับองค์พระแก้วมรกตเจ้า  โดยที่เมื่อพระเจ้าพรหมมหาราชแห่งโยนกเชียงแสนนครเงินยางได้พระแก้วมรกตไปไว้ในพระนครแห่งพระองค์แล้ว  เจ้านายในเมืองนครต่างๆโดยรอบต่างก็มากราบไหว้บูชาองค์พระแก้วมรกตและต่างพากันแสวงหาแก้วมณีอันมีค่ามาสร้างเป็นพระพุทธปฏิมากรแก้วมณีประจำพระนครแห่งตนถือว่าได้มหากุศล  และสืบอายุพระศาสนาสมดังที่พระพุทธศาสนาประกอบด้วยแก้วสามประการคือ  พระพุทธะรัตนะ  พระธรรมรัตนะ  พระสังฆรัตนะ  ด้วยเหตุนี้จึงนิยมสร้างพระพุทธปฏิมาด้วยแก้วมณีอันมีค่า  อันดินแดนในเขตสิบสองปันนา  ล้านนา  ล้านช้างตอนบน  ล้วนแล้วแต่มีภูเขาสูงใหญ่มีถ้ำคูหาและลำธาร  อุดมไปด้วยรัตนชาติหลากสีจึงไม่ยากนักที่เจ้านายในนครต่างๆแถบนั้นจะสรรหาแก้วมณีอันมีค่ามาสร้างเป็นพระพุทธปฏิมาได้  เช่นพระเสตังคมณีแห่งนครลำปาง  พระแก้วขาวแห่งนครเชียงใหม่   พระบุษยรัตนจักรพรรษดิ์มณีมัย  เหล่านี้เป็นต้น  รวมทั้งพระแก้วสีเหลืองที่เรียกว่า ?พระแก้วบุษราคัม? นั้นด้วย
พระแก้วบุษราคัมแห่งเมืองอุบลราชธานีนี้  เดิมเป็นสมบัติของเจ้าปางคำ  ผู้มาสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) มาแต่เดิม เข้าใจว่าเมื่อเจ้าปางคำเป็นเจ้านายชั้นสูงของเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า  ได้แตกหนีพวกฮ่อมาจากนครเชียงรุ้ง  เมื่อประมาณ  ๓๐๐ ปีมาแล้ว  ได้มาอาศัยอยู่ที่เวียงจันทน์กับพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (เจ้าสุริยกุมารพระราชโอรถของพระเจ้าต่อนคำ  โดยที่มารดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชนั้นเป็นเจ้าหญิงแห่งนครเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า  เจ้าปางคำจึงเป็นเจ้านาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช  จึงอยู่ในฐานะเจ้าตาหรือพระเจ้าตา  เนื่องจากมีไพร่พลมากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชจึงให้เจ้าปางคำไปสร้างอยู่เมืองหนองบัวลุ่มภู  เพราะมีเมืองอยู่ในที่ล้อมของภูเขา  เมื่อเจ้าปางคำมาสร้างเมืองหนองบัวลุ่มภู  เป็นเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน  จึงได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมของประจำตระกูลมาด้วย  เจ้าปางคำมีโอรส คือ เจ้าพระตา  ได้ครองเมืองแทนพระบิดาจึงได้รับมรดกคือพระแก้วบุษราคัมนี้มาด้วย  ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๑๔ เจ้าพระตาเสียเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานแก่พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์  และถึงแก่อสัญกรรมในสนามรบที่เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลุ่มภู) บุตรชายคือเจ้าพระวอ  ท้าวคำผง  ท้าวฝ่ายหน้า  ท้าวทิดพรหม  ท้าวคำโส  ท้าวคำสู  ท้าวคำขุย  ท้าวก่ำ  ท้าวมุม  ท้าวคำสิงห์  สามคนหลังนี้เป็นหลาน  จึงได้พากันอพยพไพร่พลหนีข้าศึกมาสร้างบ้านสิงห์โคก (ตำบลสิงห์)  บ้านสิงห์ท่า (จังหวัดยโสธร)  บ้านดอนมดแดง (จังหวัดอุบลราชธานี) บ้านดู่  บ้านแก (แขวงเมืองเก่าปากเซประเทศลาว)  เมื่ออยู่ที่บ้านดู่นั้น  พระเจ้าสิริบุญสารให้พญาสุโพนำทัพมาตี  เจ้าพระวอออกรบสู้ข้าศึกเสียทีถูกข้าศึกฆ่า เจ้าพระวอถึงแก่อสัญกรรม  คงเหลือแต่ท้าวคำผง  ท้าวฝ่ายหน้า  ท้าวทิดพรหม  ท้าวก่ำ  นอกนั้นไม่ได้ตามไปอยู่บ้านดู่ บ้านแกด้วย  คงอยู่บ้านสิงห์ท่า  บ้านสิงห์โคก เมื่อมาอยู่บ้านดู่  บ้านแกนั้น ได้รับความอนุเคราะห์จากพระเจ้าไชยกุมารองค์หลวงแห่งนครจำปาศักดิ์  ให้ท้าวคำผงเป็นพระประทุมสุรราช  ผู้ช่วยเจ้าพระวอ  และได้เสกสมรสกับเจ้านางตุ่ยราชนัดดาของพระเจ้าองค์หลวงไชยกุมารเจ้านครจำปาศักดิ์  พระประทุมสุรราช (คำผง)  จึงอยู่ในฐานะหลานเขยของพระเจ้าไชยกุมารองค์หลวงแห่งนครจำปาศักดิ์  เมื่อเจ้าพระวอผู้พี่ชายถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว  พระประทุมสุรราช (คำผง)จึงขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่ม ปกครองพี่ป้าน้าอาสืบไปเพื่อต่อสู้กับข้าศึก  พระประทุมสุรราช (คำผง)  จึงมีใบบอกไปกรุงธนบุรีขอกองทัพมาช่วยตีข้าศึกที่ยกมารบ  พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกกำลังมาช่วยตีข้าศึกแตกกลับไปเวียงจันทน์  เมื่อปราบปรามข้าศึกได้ชัยชนะแล้วพระประทุมสุรราช (คำผง) พร้อมด้วยท้าวฝ่ายหน้า ท้าวทิดพรหม  ท้าวก่ำ  จึงขอกลับมาอยู่ที่บ้านดอนมดแดงตามเดิม  ในการนี้ก็ได้อัญเชิญเอาพระแก้วบุษราคัมติดตามไปด้วยทุกแห่ง  เมื่อมาอยู่ดอนมดแดงแล้วในปีพุทธศักราช ๒๓๑๙  เกิดน้ำท่วมใหญ่  พระประทุมสุรราช (คำผง) จึงพาไพร่ผลหนีน้ำไปอยู่ห้วยแจระแมอันเป็นที่สูง  โค่นป่าถางพงตั้งเป็นเมืองที่ดงใหญ่ริมแม่น้ำมูล  ที่เรียกว่า ?ดงอู่ผึ้ง? สร้างเมืองอยู่สองปีจึงแล้วเสร็จ  มีใบบอกลงไปกราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีขอตั้งเป็นเมืองให้นามว่า ?เมืองอุบล? ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระประทุมสุรราช (คำผง)เป็นเจ้าเมืององค์แรกที่ ?พระประทุมราชวงศา? ให้ท้าวทิดพรหมเป็นพระอุปฮาด  พระประทุมราชวงศาให้สร้างวัดขึ้นในเมืองเป็นวัดแรกของเมือง  คือ วัดหลวง  สร้างวิหารหลวงแบบวัดเชียงทองในนครหลวงพระบาง สร้างพระเจ้าใหญ่ในวิหาร สร้างสิม  หอคำ  หอไตร สร้างหอกลอง  หอโปง  สร้างเจดีย์ใหญ่  สร้างศาลาหอแจก  สร้างกุฏิขวางใหญ่  กุฏิขวางน้อย  สร้างหอพระแก้ว สร้างหอธรรม  ล้วนแล้วแต่วิจิตรงดงามเยี่ยงอย่างนครพระบางทุกอัน  แล้วให้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมไปประดิษฐานในหออันงดงาม  เป็นพระอัญเชิญออกในเวลาถือน้ำพระพิพัฒน์สัตวาปีละสงหน  ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ประดิษฐานพระบรมวงศานุวงศ์  ได้เกณฑ์กำลังเมืองอุบลไปสร้างกำแพงพระนครอยู่หลายปี  ต่อมาในปี ๒๓๓๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสกให้  พระประทุมเป็นเจ้าครองเมืองอุบล  ที่พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง)  เสริมนามเมืองว่า  เมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช  พระแก้วบุษราคัมประดิษฐานอยู่ที่วัดหลวงตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ ปฏิรูปการปกครองให้มีข้าหลวงกำกับข้าราชการ  มาช่วยดูแลปกครองบ้านเมืองช่วยเจ้าเมืองตามแบบเดิม  โดยส่งข้าราชการสำนักออกมาควบคุมการปกครองหัวเมืองทางอีสาน  เมืองอุบลราชธานีในสมัยที่เจ้าราชบุตรหนูคำเป็นเจ้าเมืองนั้น  มีหลวงจินดารักษ์ (ไม่ทราบชื่อและยังไม่ใช้นามสกุล) ขึ้นมาเป็นข้าหลวงและกำกับราชการเมืองอุบลราชธานี  เป็นข้าหลวงกำกับราชการที่สองรองจากพระยามหาอำมาตย์ที่เป็นข้าหลวงกำกับราชการที่เมืองนครจำปาศักดิ์  เจ้านายพื้นเมืองจึงมีความเกรงกลัวในข้าหลวงกำกับราชการเพราะเป็นตัวแทนองค์พระมหากษัตริย์  และเกรงว่าพวกข้าหลวงกำกับราชการเหล่านี้จะแสวงของสำคัญของบ้านเมืองแล้วใช้อำนาจเอาไปเป็นสมบัติของตัวเสีย  ของสำคัญคู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานีก็คือ  พระแก้วบุษราคัม  จึงได้พากันปิดไม่เปิดเผยว่าเมืองอุบลราชธานีมีพระแก้วบุษราคัม  และเอาไปซ่อนเสียที่บ้านวังกางฮุง  โดยนำออกจากวัดหลวงไป  จนกระทั่งเมื่อพระอุปฮาชโท  อุปฮาชเมืองอุบลราชธานีสร้างวัดศรีทองและนิมนต์ญาท่านเทวธัมมี (ม้าว) ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสีทอง  พระอุปฮาชโทจึงได้อัญเชิญเอาพระแก้วบุษราคัมจากบ้านวังกางฮุงมาถวายให้เป็นของประจำวัด  และเป็นของคู่บ้านคู่เมืองสืบไป  พระแก้วบุษราคัมจึงได้คืนสู่เมืองอุบลราชธานีตามเดิม  ญาท่านเทวธัมมี (ม้าว) เจ้าอาวาสวัดสีทองจึงได้ให้  ญาท่านสีทา ซึ่งเป็นช่าง  สร้างหอพระแก้วไว้ประดิษฐานองค์พระแก้วบุษราคัมดังที่เห็นอยู่ในพระอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดสีทอง) จนทุกวันนี้  นอกจากนี้แล้วยังได้สร้างโฮงฮดสรงพระแก้วอีกสองฮาง  ดังที่นำออกสรงน้ำพระแก้วบุษราคัมประจำปีที่เห็นอยู่ทุกวัน
อันหอพระแก้วของเดิมที่อยู่วัดหลวงนั้น  เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ ? ๒๔๗๙ ทางจังหวัดอุบลราชธานีได้เคยขอยืมจากวัดหลวงมาประดิษฐานพานรัฐธรรมนูญในวันฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี  แต่เวลานี้ได้ถูกปลวกกินสูญหายไปแล้ว อันพระแก้วบุษราคัมนี้เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง  เมืองอุบลราชธานีมาแต่โบราณแต่สมัยเจ้าปางคำ  เจ้าพระตา  เจ้าพระวอ  เจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์  เจ้าพระพรหมราชวงศา (พรหม)  เจ้าพระพรหมราชวงศา (กุทอง)  ดังนั้นพอถึงวันสงการนต์ชาวเมืองอุบลราชธานีได้จัดอัญเชิญออกแห่แหนไปรอบๆเมือง  เพื่อเปิดโอกาสให้กราบไหว้และสรงน้ำเป็นประจำปี  

ประวัตินี้เรียบเรียงโดยคุณพ่อบำเพ็ญ  ณ  อุบล  หลักฐานอ้างอิงคือ  ประวัติพระแก้วมรกต  ประวัติเมืองอุบลราชธานี  ประวัติวัดสีทอง  ประวัติคณะธรรมยุติกนิกายเมืองอุบลราชธานี  คำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่จังหวัดอุบลราชธานี  
ข้อความข้างต้นคัดลอกจาก หนังสือประวัติวัดศรีอุบลรัตนาราม  ประวัติพระแก้วบุษราคัม มูลนิวัดศรีอุบลรัตนาราม  พ.ศ.๒๕๓๗

MaiUbon:
ตำนานจริง ๆ  007

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ