ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ วัฒนธรรม ประเพณี พุทธสถานและแหล่งท่องเที่ยวภาคอีสาน => วีรชน 2 ฝั่งโขง => ข้อความที่เริ่มโดย: บ่หัวซาผีบ้าเดินดิน ที่ 09 เมษายน 2562, 15:49:31



หัวข้อ: ตำนาน 4 เสืออีสาน นายจำลอง ดาวเรือง : ขุนพลเมืองมหาสารคาม
เริ่มหัวข้อโดย: บ่หัวซาผีบ้าเดินดิน ที่ 09 เมษายน 2562, 15:49:31

ตำนานชีวิตสี่เสืออีสาน : อุดมการณ์ฝากไว้ในแผ่นดิน (๗)

นายจำลอง ดาวเรือง : ขุนพลเมืองมหาสารคาม







ใกล้จะถึงตอนสุดท้ายแล้วสำหรับตำนานชีวิตสี่เสืออีสาน : อุดมการณ์ฝากไว้ในแผ่นดิน นักสู้เพื่ออุดมการณ์จากที่ราบสูง ขอขอบคุณสำหรับทุกท่านที่เข้ามาทักทายฝากไว้ซึ่งร่องรอยแห่งความทรงจำและมิตรภาพในยามค่ำคืน  หรืออาจเป็นห้วงเวลาหนึ่งที่เร่งรุดในหน้าที่การงาน ขอมิตรภาพนั้นยังอยู่กับเราตลอดไป


สำหรับเรื่องราวที่ผมจะได้กล่าวในตอนนี้ เป็นการสืบค้นจากตำราและเอกสารทางวิชาการที่นักวิชาการรุ่นใหม่ได้รวบรวมไว้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราวเหล่านี้จักได้มีการสืบค้นและรวบรวมไว้อย่างมีหลักการเพื่อนำไปสู่การศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษา  โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานควรได้ให้ความสำคัญกับเรื่องราวความเป็นมาเหล่านี้ มากกว่าการศึกษาจากเรื่องราวความเป็นจากส่วนกลาง



เช่นเดียวกันสำหรับในตอนนี้จะได้กล่าวถึงวิถีชีวิตของอดีตรัฐมนตรีอีสานนามว่าจำลอง ดาวเรือง นักสู้ฝีกล้าแห่งเมืองมหาสารคาม จากเด็กท้องไร่ท้องนาหาญกล้าสู่เวทีการเมืองระดับประเทศ ฝากชื่อเสียงไว้ให้กระเดื่องแผ่นดิน แต่วาระสุดท้ายของชีวิตก็มิแตกต่างกับเพื่อนอดีตรัฐมนตรีแห่งที่ราบสูงอีก 3 คน ชีวิตคนเรานั้นไม่แน่นอนแต่สิ่งที่เป็นความจริงแท้คือคุณงามความดีที่ฝากไว้แด่ชนรุ่นหลัง

นายจำลอง ดาวเรือง : ขุนพลเมืองมหาสารคาม



นายจำลอง ดาวเรือง เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2453 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 6 คน ของนายมา และนางสอน  ดาวเรือง ในครอบครัวชาวนาที่บ้านงัวบา ตำบลงัวบา อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ในวัยเด็กมีชื่อเดิมว่าแขก ดาวเรือง เพราะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายแขก 



แม้ว่านายจำลอง ดาวเรือง จะเกิดในครอบครัวชาวนาแต่ด้วยขยันและอดทนจึงได้บากบั่นด้านการศึกษา ซึ่งหลังจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่  3  จากโรงเรียนประชาบาลวัดบ้านงัวบาแล้ว  ทางครอบครัวไม่มีทุนทรัพย์ในการศึกษาเล่าเรียน จึงมีผู้สนับสนุนให้ได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาคือนายเช็ค เยาวสุด ซึ่งดำรงตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอวาปีปทุมในขณะนั้น ได้ให้การสนับสนุนเข้ามาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสารคามพิทยาคม  ในปี 2464 โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันคือนายบุญถิ่น อัตถากร ในขณะเดียวกันก็ได้เปลี่ยนชื่อจากแขก มาเป็นจำลอง นับตั้งแต่มาเรียนที่โรงเรียนสารคามพิทยาคม



หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นายจำลอง ดาวเรืองได้เรียนต่อที่โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย จังหวัดร้อยเอ็ด จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในปี 2468  แต่ก็ไม่มีทุนในการเรียนต่อเช่นเดียวกัน จึงได้รับการสนับสนุนจากหลวงพิศิษฐ์ เกษมสวัสดิ์ (เจ๊ก หยงนี) เจ้าของบริษัทขนส่งที่จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นผู้อุปการะค่าใช้จ่ายให้มาเรียนต่อด้านช่างกลที่กรุงเทพฯ  จากนั้นจึงกลับเข้ามาทำงานที่บริษัทขนส่งจังหวัดร้อยเอ็ดอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะลาออกเพื่อประกอบอาชีพส่วนตัว



จากร้อยเอ็ดสู่นายท้ายเรือกลางลำน้ำโขง



ชีวิตนี้ยังมีความหวัง หลังลาออกจากบริษัทขนส่งที่จังหวัดร้อยเอ็ดนายจำลอง ดาวเรือง ได้ประกอบอาชีพส่วนตัวได้ระยะหนึ่งก่อนที่จะมุ่งหน้าทำสู่แผ่นดินลาว โดยได้ขายรถยนต์ส่วนตัวที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองเพื่อเป็นทุนในการเลี้ยงชีพต่อไป



ที่นครจำปาศักดิ์แผ่นดินลาวนายจำลอง ดาวเรือง ได้พักอาศัยอยู่กับเพื่อนตระเวนทำงานด้วยวิถีสุจริตชน ในช่วงหนึ่งเคยใช้ชีวิตเป็นนักมวยหาเลี้ยงชีพจนได้รู้จักกับเจ้าราชดนัยน้อยบุตรของเจ้าราชดนัยผู้ครองนครจำปาศักดิ์ จึงได้ชักชวนให้มาทำงานเป็นนายท้ายเรือตามลำน้ำโขงอยู่หลายปี จึงทำให้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาเวียตนามและภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างยิ่ง



ในขณะที่หน้าที่การงานกำลังไปได้สวยแต่ดูเหมือนว่าโชคชะตาจะไม่เข้าข้างเพราะว่าในปี 2476  นายจำลอง ดาวเรืองได้ถูกรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสที่ยึดครองประเทศลาวในขณะนั้นจับกุมและถูกคุมขังในข้อหาทางการเมือง หลังจากได้รับอิสรภาพจึงคืนสู่เมืองไทยเพื่อประกอบอาชีพพอย่างสามัญชนทั่วไป



คืนสู่แผ่นดินเกิดด้วยความหวังอันสดใส


หลังได้รับการปลอดปล่อยให้เป็นอิสรภาพนายจำลอง ดาวเรือง จึงคืนสู่บ้านเกิดโดยได้สมัครเป็นครูประชาบาลสอนที่อำเภอวาปีปทุม ก่อนที่สอบชุดวิชาครูระดับประกาศนียบัตรได้ดั่งใจหวัง จากนั้นจึงเข้ามาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จนสำเร็จการศึกษาธรรมศาสตร์บัณฑิต ในปี 2480  หลังจากคืนสู่บ้านเกิดเพื่อรับราชการตามแนวคิดของชาวอีสานในยุคนั้นมีความต้องการที่จะให้ลูกหลานประกอบอาชีพรับราชการ โดยตำแหน่งสุดท้ายในอาชีพราชการคือเสมียนศึกษาธิการก่อนที่จะจัดตั้งโรงเรียนเป็นของตนเองที่อำเภอวาปีปทุม


นายจำลอง ดาวเรืองโดยจัดตั้งโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของจังหวัดมหาสารคาม  ชื่อโรงเรียนเรืองวิทยา ที่อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม โดยทำหน้าที่เป็นทั้งครูใหญ่และเจ้าของโรงเรียน เปิดทำการสอนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 –  6 โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ใช้สถานที่คือวัดศรีชุมพลเป็นห้องเรียนชั่วคราว มีนักเรียนรุ่นแรก 20 คน



ในปี 2481 โรงเรียนเรืองวิทยาได้รับการจัดตั้งเป็นเอกเทศ ทำให้มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี จึงได้เปิดสาขาที่จังหวัดมหาสารคามในปี 2489 โดยใช้สถานคือบริเวณวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคามในปัจจุบัน มีนายดิลก บุญเสริม เป็นครูใหญ่ นอกจากจะเปิดทำการสอนสำหรับนักเรียนโดยทั่วไปแล้วยังเปิดอบรมครูประชาบาลในท้องถิ่นเพื่อเตรียมสอบชุดวิชาครูอีกทางหนึ่งด้วย แต่บทบาทสำคัญของนายจำลอง ดาวเรืองในยุคนั้นซึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนทั่วไปในนามของนักโต้วาทีมีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดมหาสารคาม อันเป็นฐานเสียงทางการเมืองในยุคต่อมา



จากลูกชาวนาถึงสภาอันทรงเกียรติ



นายจำลอง ดาวเรือง ลงสมัครเลือกตั้งผู้แทนราษฎรที่จังหวัดมหาสารคามครั้งแรกในการเลือกตั้งครั้งที่ 2  ของเมืองไทยในปี 2480 ซึ่งจากประกอบอาชีพครูปฏิบัติตนด้วยความขยัน ซื่อสัตย์ สุจริต อีกทั้งยังเป็นนักโต้วาทีที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวมหาสารคาม อีกทั้งในยุคนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่สำเร็จการศึกษาระดับสูงได้เข้าสู่การเป็นนักการเมืองในระดับชาติ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากนายกว้าง ทองทวี ศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม และหลวงอังคณานุรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามในขณะนั้น จึงทำให้ได้รับความไว้วางใจจากชาวจังหวัดมหาสารคามในฐานะเป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากตัวแทนของชาวไร่ชาวนา



แม้ว่าจะเป็นผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ แต่นายจำลอง ดาวเรือง ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทในสภาผู้แทนราษฎรสูง  มีการรวมกลุ่มกับผู้แทนราษฎรจากภาคอีสานกันอย่างเหนียวแน่นในความเป็นท้องถิ่นนิยม โดยนายจำลอง ดาวเรืองมีแนวคิดในการกระจายอำนาจและบทบาทจากส่วนกลางไปยังชนบทมากขึ้น โดยลดอำนาจของรัฐบาลจากส่วนกลาง ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของผู้แทนราษฎรอีสานในยุคนั้น เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล และนายเตียง ศิริขันธ์ ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวก่อนที่จะลงเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ซึ่งได้มีการจัดตั้งเป็นพรรคสหชีพในเวลาต่อมา






ในระหว่างที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นนายจำลอง ดาวเรืองมีโอกาสเข้าศึกษาต่อด้านกฏหมายจนได้เนติบัณฑิตอีกทางหนึ่ง จึงทำให้มีความรู้ด้านกฎหมายเป็นอย่างดี และได้รับความไว้วางใจจากในการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดมหาสารคามเรื่อยอีก 2 สมัย จากการเลือกตั้งในครั้งที่ 3 และการเลือกตั้งครั้ง 4 ตามลำดับ










ผู้นำเสรีไทยหน่วยมหาสารคาม


ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 จึงเกิดขบวนการเสรีไทยขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในเวลาต่อมานายจำลอง ดาวเรือง ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขยายหน่วยเสรีไทยสายอีสานที่จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับนายเตียง ศิริขันธ์



หน่วยเสรีไทยจังหวัดมหาสารคาม จัดตั้งขึ้นประมาณปี 2487 รับผิดชอบเขตพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการในจังหวัด คือ ขุนไมตรีประชารักษ์ ข้าหลวงประจำจังหวัด นายกว้าง ทองทวี ศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม และนายไสว ถีนานนท์ แขวงการทางจังหวัดมหาสารคาม








 

สภาพของถ้ำเสรีไทยบนเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ที่เคยใช้เป็นฐานที่มั่นและใช้เก็บอาวุธระหว่างปี 2485 - 2488

ในระยะเริ่มแรกในการจัดตั้งค่ายเสรีไทยนายจำลอง ดาวเรือง ดั้กชวนญาติพี่น้อง และเพื่อนสนิท เช่น นายเพ็ง ดาวเรือง นายดิลก บุญเสริม นายดิลก มะลิมาศ  นายมาบ ภูมาศ และคนอื่น ๆ อีกประมาณ 15 คน เป็นกำลังสำคัญ และเดินทางไปรับการฝึกอาวุธประจำหน่วยเสรีไทยจังหวัดมหาสารคาม


ในเวลาต่อมาได้มีการก่อสร้างค่ายเสรีไทยหน่วยมหาสารคามที่บ้านนาคู อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์  โดยลักษณะค่ายบ้านนาคูลักษณะพื้นที่เป็นแนวยาวตามเทือกเขา มีการก่อสร้างบ้านพักมุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก



ในการก่อสร้างค่ายเสรีไทยที่บ้านนาคูใช้เวลาในการก่อสร้าง 20 วัน โดยการเกณฑ์แรงงานราษฎรจากอำเภอกุฉินารายณ์ สหัสขันธ์ กมลาไสย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์  มาร่วมก่อสร้าง มีการนำเกวียนบรรทุกหินเป็นแผ่น ๆ เพื่อใช้เพื่อเป็นรันเวย์และพื้นที่สนามบินจนสามารถใช้เป็นสนามบินที่เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ มาลงที่สนามบินแห่งนี้ นอกจากนั้นยังเป็นจุดรับเสรีไทยไปรับการฝึกอาวุธที่ประเทศอินเดีย มีนายจารุบุตร เรืองสุวรรณ นายเสรี นวลมณี นายแปลง และนายสุรศักดิ์





ภาพถ่ายของเสรีไทยสายอีสานบนภูพาน

ค่ายเสรีไทยบ้านนาคู รอยต่อกาฬสินธุ์ – สกลนคร


ค่ายเสรีไทยบ้านนาคูถือได้ว่าเป็นรอยต่อของสามจังหวัดคือ สกลนคร กาฬสินธุ์ และนครพนม ซึ่งสามารถใช้ม้าเป็นพาหนะในการเดินทางและเดินทางเท้าเป็นหลัก โดยมีสมาชิกเสรีไทยที่ได้รับการคัดเลือกไปเข้ารับการฝึก คือ นายจำลอง ดาวเรืองเป็นผู้ประสานงาน นายดิลก บุญเสริม นายมาบ ภูมาศ จากโรงเรียนฝึกหัดครูมหาสารคาม นายดิลก มะลิมาศ ครูใหญ่โรงเรียนเรืองวิทยา และคณะครูจากอำเภอสหัสขันธ์ จำนวน 15 คน ไปฝึกอาวุธที่ค่ายบ้านโนนหอม จังหวัดสกลนคร ก่อนที่จะนำมาขยายผลที่ค่ายนาคู โดยมีครูฝึกประจำค่ายนาคูจะมีนายสุกัณฑ์ จุลถวิล, นายพรมเทพ ศรีจันซ้าย, นายหยุ่น บุญนาค, นายฝ่าย สิริพรทุม, นายเพ็ง ดาวเรือง โดยมีนายจำลอง ดาวเรือง เป็นผู้ประสานงานกับนายเตียง ศิริขันธ์ หน่วยสกลนคร



สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมจะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับการฝึกอบรมที่หน่วยเสรีไทยจังหวัดสกลนคร โดยมีนายจำลอง ดาวเรือง บรรยายถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งขบวนการเสรีไทย จากนั้นจะแบ่งสมาชิกออกเป็น 10 หมู่ ๆ ละประมาณ 15 คน มีนายทหารอังกฤษมาเป็นผู้ฝึกให้กับเสรีไทย การฝึกระเบียบแถว การออกกำลังกายโดยมีครูพลศึกษาจากโรงเรียนประจำจังหวัดเป็นผู้ฝึกซ้อม



ครูพลศึกษาที่มาเป็นผู้ฝึกสอนในยุคนั้นมีนายรอด จันโทภาส นายบุญชู ภักดีบุตร จากโรงเรียนสารคามพิทยาคม นายสุวรรณ เวชสิทธิ์ นายเลื่อน เจริญชัย จากโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ และนายชัย เจริญชัย จากโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย



ทหารพลเรือน (ท.พ.ร.) สมาชิกเสรีไทยหน่วยมหาสารคาม 



สมาชิกในการฝึกอบรมที่ค่ายนาคูส่วนมากจะเป็นครูประชาบาลในท้องถิ่น เมื่อครบกำหนดจะกลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจะเรียกสมาชิกเหล่านี้ว่า  “ทหารพลเรือน” (ท.พ.ร.) ส่วนหนึ่งจะเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยหน่วยมหาสารคาม โดยก่อนการเดินทางจะรวมพลตอนเช้าที่โรงเรียนผดุงนารี จากนั้นจะเดินทางด้วยเท้าผ่านอำเภอกันทรวิชัย ห้วยผึ้ง กุฉินารายณ์ ถึงค่ายบ้านนาคู มีสมาชิกข้ารับการฝึกอบรมครั้งละประมาณ 300 – 400 คน มีระยะการฝึกอบรม 3 วัน







 

สนามบินชาดนาคู อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ เคยใช้เป็นสนามบินของเสรีไทยในอดีต โดยมีเครื่องบิน Dokota ของฝ่ายสัมพันธมิตรเคยขนอาวุธมาลง 2 ครั้ง

อย่างไรก็ตามยังมีคณะจากจังหวัดมหาสารคามที่จบการศึกษาจากโรงเรียนเรืองวิทยา มีภูมิลำเนาในเขตอำเภอวาปีปทุมเพื่อมาฝึกอาวุธอย่างเข้มที่ค่ายบ้านโพนก้างปลา หน่วยสกลนคร ประกอบด้วย นายเพ็ง ดาวเรือง, นายจันทร์ ประภาสพงศ์, นายดำรง แสนนา, นายบุญเพ็ง ดงภูบาล, นายบุญมา ปาริระนัง, นายสุทธิ์ แสงสุรีย์, นายรณลา น้อยอาสา, นายหยุ่น บุญนาค, นายฝ่าย ศิริพรทุม ใช้เวลาในการฝึก 1 เดือน จากนั้นจึงย้ายไปประจำที่ค่ายบ้านนาคู เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนการฝึกอาวุธให้กับสมาชิกหน่วยมหาสารคาม และภายหลังสมาชิกกลุ่มเสรีไทยกลุ่มดังกล่าวที่ได้รับการเป็นครูสอนในโรงเรียนเรืองวิทยาของนายจำลอง ดาวเรือง คือ นายเพ็ง ดาวเรือง, นายฝ่าย ศิริพรทุม, นายบุญเพ็ง ดงภูบาล, และนายหยุ่น บุญนาค


อย่างไรก็ตามในระยะก่อนที่จะสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีทหารญี่ปุ่นมาที่ค่ายบ้านนาคู โดยมีการจับตัวสารวัตรกำนันเป็นตัวประกัน แต่ไม่มีหลักฐานการดำเนินการจึงปล่อยตัวประกันไป



หลังประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกเมื่อวันที่ 15 สิหาคม 2488 นายจำลอง ดาวเรือง ได้นำพลพรรคเสรีไทยค่ายนาคูเดินทางไปปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นที่มุกดาหาร และถือได้ว่าเป็นการยุติบทบาทและการเคลื่อนไหวขบวนการเสรีไทยทั้งในส่วนกลางและเสรีไทยสายอีสาน



การจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรสันนิบาตเอเชียอาคเนย์



นอกจากบทบาทของเสรีไทยสายอีสานแล้ว นายจำลอง ดาวเรือง ยังบทบาทในการกอบกู้เอกราชรวมกับประเทศเพื่อนบ้านอินโดจีน โดยมีส่วนร่วมกับนายเตียง ศิริขันธ์ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายถวิล อุดล ในช่วงปี 2487 หลังจากที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองเวียงจันทน์ ทำให้กลุ่มแกนนำเสรีไทยสายอีสานสนับสนุนขบวนการกู้ชาติลาว ร่วมกับร่วมกับขบวนญวนอิสระ จัดตั้งเป็นกลุ่มพันธมิตรสันนิบาตเอเชียอาคเนย์ เพื่อต่อต้านการรุกรานของประเทศมหาอำนาจ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ 



ต่อมาภายหลังการรัฐประหารในปี 2490 หน่วยงานลาวอิสระ และเวียตมินต์จึงได้ออกจากเมืองไทยตามคำร้องของฝรั่งเศส จึงทำให้กลุ่มพันธมิตรสันนิบาตเอเซียอาคเนย์ได้ยุติบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเมืองไทยในเวลาต่อมา



จุดจบชีวิตที่ชะตาฟ้าลิขิต



หลังการยึดอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้มีการจับกุมและคุกคามแกนนำนักการเมืองสายเสรีไทยรวมทั้งเสรีไทยสายอีสานคนสำคัญ คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล รวมทั้งนายจำลอง ดาวเรือง อดีตรัฐมนตรีฝีปากกล้าแห่งเมืองมหาสารคาม



ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าจุดจบชีวิตของนายจำลอง ดาวเรือง พร้อมกับเพื่อนร่วมชะตากรรมคือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ซึ่งสืบเนื่องจากเหตุการณ์ “กบฏวังหลวง” โดยนายปรีดี พนมยงค์ ได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ว่ากระทำไม่สำเร็จ จึงมีผลทำให้มีการจับกุมนักการเมืองสายเสรีไทยสายอีสานในเวลาต่อมา ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์การยิงทิ้ง 4 รัฐมนตรี เวลา 03.00 น. ของคืนวันที่ 4 มีนาคม 2492



จึงทำให้วิถีชีวิตทางการเมืองของนายจำลอง ดาวเรืองพร้อมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 3 คน ผู้มีเกียรติและศักดิ์เป็นถึงรัฐมนตรี แต่พรหมลิขิตชีวิตขีดเส้นชะตามาให้เท่านี้

.



มิแตกต่างกับวัฐจักรการเมืองในปัจจุบัน แม้ว่าจะอยู่ในยุคสมัยที่แตกต่างกันแต่คำว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” ยังคงใช้ได้เสมอในทุกยุคทุกสมัย และการเมืองยังเดินหน้าต่อไปรอวันรวมใจเป็นหนึ่งเดียว


รอวันฟ้าสีทองผ่องอำไพ



เช่นเดียวกับการเมืองในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานย่อมได้รับการตรวจสอบโดยถูกต้องทางกฎหมาย  กลุ่มการเมือง กลุ่มบุคคลในระดับต่าง ๆ ทั้งด้วยเจตนาแอบแฝงและเจตนาด้วยความบริสุทธิ์ใจ 


ในฐานะที่เป็นคนไทยย่อมอยากจะเห็นชาติบ้านเมืองอยู่รอดปลอดภัย ภายใต้ความสามัคคีปรองดองของคนไทยทุกฝ่าย เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของชาติบ้านเมือง  อดีตส่องความเป็นมาในปัจจุบัน ปัจจุบันก็คือบทเรียนจากความเป็นแห่งอดีตเช่นเดียวกัน


เรื่องและภาพจาก


ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์.  การเมืองสองฝั่งโขง. กรุงเทพฯ : มติชนการพิมพ์, 2546.

ปรีชา ธรรมวินทร และ สมชาย พรหมโคตร.  จากยอดโดมถึงภูพาน :                       

               บันทึกประวัติศาสตร์ฉบับสามัญชนบนเส้นทางประชาธิปไตย.   

            คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏสกลนคร, 2543.

ประจวบ อัมพะเศวต.  พลิกแผ่นดินประวัติการเมืองไทย มิถุนายน 2475

            14 ตุลาคม 2516.  กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ,  2543.

อรรถ นันทจักร. คนการเมือง : การเมืองภาคประชาชนจากพรรคคอมมิวนิสต์

          แห่งประเทศไทยถึงเสรีไทยสายอีสาน ประวัติศาสตร์แก่งสำนึกบนเทือก

         เขาภูพาน. จากเว็บไซต์  http://phupan.multiply.com/reviews/item/10

.



แนะนำอ่านเพิ่มเติม.

ธีรวัฒน์ ประนัดสุดจ่า.   แนวความคิดทางการเมืองของจำลอง ดาวเรือง.         

         วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์

         มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 2542.



ในตอนต่อไปอ่านตำนานนักสู้อีสาน : อุดมการณ์ฝากไว้ในแผ่นดิน บทสุดท้าย

ว่าด้วย “ครูครอง จันดาวงศ์  : สายเลือดนักสู้จากสว่างแดนดิน”       
 
(http://upic.me/i/az/social2.jpg) (http://upic.me/show/62377661)