ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ วัฒนธรรม ประเพณี พุทธสถานและแหล่งท่องเที่ยวภาคอีสาน => ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ท้องถิ่น => ข้อความที่เริ่มโดย: คนโก้ ที่ 03 กันยายน 2556, 08:24:36



หัวข้อ: วัฒนธรรมการกินหมากของชาวอุษาคเนย์
เริ่มหัวข้อโดย: คนโก้ ที่ 03 กันยายน 2556, 08:24:36
วัฒนธรรมใน ?หมาก-พลู? ของชาวอุษาคเนย์
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2554

วัฒนธรรมใน ?หมาก-พลู? ของชาวอุษาคเนย์

แม้ปัจจุบันจะมีการถกเถียงกันทางการแพทย์ถึงการกินหมากเป็นผลให้เกิดมะเร็งในช่องปาก แต่ในยุคดั้งเดิมเป็นที่ทราบกันดีว่า ประชาชนในดินแดนสยามเคี้ยวหมากกันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมต่างๆที่มีหมากพลูเข้าไปเกี่ยวข้อง

นอกจากในดินแดนที่เรียกว่า สยาม หรือ ประเทศไทย แล้ว การกินหมากยังเป็นวัฒนธรรมร่วมและพืชพื้นเมืองที่แพร่หลายมายาวนานในภูมิภาคเอเชีย ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก โดยเฉพาะที่ไต้หวัน จีนตอนใต้ เอเชียใต้ เช่น อินเดียใต้ ปากีสถาน ศรีลังกา รวมไปถึงหลายหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

ในผลหมากมีสารแอลคาลอยด์ (Alkaloids) ได้แก่ Arecoline, Arecain and Guvacine เป็น ซึ่งเชื่อว่า ช่วยกระตุ้นให้ผู้เคี้ยวรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เป็นยาบรรเทาความเครียด  และเป็นสารเสพติดอ่อนๆ

จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ หรือการพบรอยคราบสีแดง(ผลจากการทำปฏิกิริยาของหมาก พลู และปูน)ที่ติดกับฟันมนุษย์โบราณ พบที่สาธารณรัฐปาเลา ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่แสดงว่ามนุษย์ในแถบนี้ได้มีการนำหมากพลูมาใช้ตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย

ต้นกำเนิดของหมากพลูนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่น่าเชื่อว่าอาจมีแหล่งอยู่ในแถบเอเชียนี้เอง การกินหมากที่แพร่หลายในอินเดียใต้และจีนตอนใต้ ตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 ถูกนำเข้ามาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยเฉพาะบริเวณชวาและสุมาตราดูจะเป็นแหล่งผลิตและตลาดรายใหญ่มาแต่โบราณ มีหลักฐานของจีนกล่าวว่า การกินหมากพลูแพร่เข้ามาทางตอนใต้ของจีน ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 12 เอกสารชิ้นหนึ่งในปลายสมัยราชวงศ์ถัง ได้กล่าวถึงการนำเข้าหมากมาจากพม่า

ในบันทึกต่างๆของชาวตะวันตกตั้งแต่ราว กลาง พ.ศ. 1800 เป็นต้นมา มักจะกล่าวถึง วัฒนธรรมการกินหมากเป็นปกติของชาวเอเชีย รวมถึงวิธีการและประเพณีบางอย่างที่พวกเขาได้พบเห็น

ศ. แอนโทนี รีด (Anthony Reid) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า หมากพลูมีสถานะเหมือนกับกาแฟ ชา เหล้า และบุหรี่ในสมัยนั้น เมื่อไปเยี่ยมเยือนกันหรือแม้แต่หยุดพูดคุยกันตามถนน ชายหญิงจะแลกเปลี่ยนหมากพลูให้แก่กันเพื่อเคี้ยวขณะสนทนา

อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการกินหมาก จะค่อยๆพัฒนาการประดิษฐ์ให้ประณีตมากขึ้นตามแต่ละวัฒนธรรมนั้นๆ จนกลายมาเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคม เช่น ชุดกินหมาก ที่เรียกว่า พานพระขันหมาก หรือ พานพระศรี เป็นหนึ่งในเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์มาแล้วอย่างน้อยในสมัยอยุธยา โดยมีการพระราชทานหีบหมากเป็นเครื่องยศแก่ข้าราชการซึ่งทำด้วยวัสดุแตกต่างกันตามบรรดาศักดิ์ รวมถึงการมีผู้ติดตามคอยถือหีบหมากแก่ผู้มีฐานะ เจ้านาย และขุนนางต่างๆ

ศ. รีด ยัง อธิบายอีกว่า เนื่องด้วยการให้หมากพลูเป็นหัวใจของความสุภาพและการต้อนรับ ดังนั้นวิญญาณของบรรพบุรุษก็ต้องได้รับด้วยทุกครั้งที่มีงานพิธีสำคัญๆ การกินหมาก หรือการถวายผลหมากและใบพลู ทั้งด้วยกันหรือแยกกัน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พิธีต่างๆสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การตาย หรือการรักษาโรค

ตามความเห็นของ ดร.นอร์แมน มอสลีย์ เพนเซอร์ (Norman Mosley Penzer) หมากพลูยังมีความสำคัญเป็นพิเศษในการเกี้ยวพาราสีและการแต่งงาน เนื่องด้วยการกินหมากทำให้ลมหายใจหอมและจิตใจผ่อนคลาย จึงถือว่าเป็นสิ่งปรกติที่ต้องปฏิบัติก่อนการแสดงความรัก ที่สอดคล้องกับบันทึกของ โทเม ปิเรส (Tome Pires) ชาวโปรตุเกสที่เข้ามายังมะละกา และชวา-สุมาตรา ในปี พ.ศ. 2055 ? 2058

ศ. เกรกอรี แอล. ฟอร์ท (Gregory L. Forth) จากภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยอัลเบอต้า แคนาดา ให้ความเห็นว่า ส่วนผสมหลักสองอย่าง ได้แก่ หมาก และ พลู ซึ่งใช้คู่กันมีฤทธิ์เสริมกันและกัน ถูกมองว่า เป็นสัญลักษณ์ของการร่วมรักโดยที่ ?ความร้อน? ของหมากจะถูกถ่วงดุลด้วย ?ความเย็น? ของใบพลู วัฒนธรรมการกินหมากในอินโดนีเซียตะวันออก ช่วยให้เห็นสัญลักษณ์ทางเพศได้ชัดเจนมากขึ้น เนื่องด้วยฝักของต้นพลูพื้นเมืองซึ่งชาวชวาใช้แทนใบ มีความเป็นชายที่เข้าคู่กับความโค้งของหญิงในผลหมาก

?การป้ายปูน วางชิ้นหมาก และส่วนผสมอื่นๆ ในใบพลูที่ม้วนอย่างบรรจง เป็นงานเฉพาะตัวอย่างหนึ่งที่หญิงสาวสามารถทำให้ชายหนุ่มได้ ดังนั้นหมากพลูจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการแต่งงานหรือการหมั้นหมายในวัฒนธรรมหนึ่ง และเชื้อเชิญให้รักในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง? ศ.รีด กล่าว

บ่อยครั้งเราจึงพบวัฒนธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นจากธรรมเนียม พฤติกรรมการกินหมาก สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิต ประเพณี พิธีกรรม และศิลปกรรม ของชุมชนเหล่านั้น ที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน