ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ชมรมสืบสานตำนานบูรพาจารย์สายสำเร็จลุน => พุทธสถานวัดบูรพาจารย์สายสำเร็จลุน => ข้อความที่เริ่มโดย: คนโก้ ที่ 18 พฤษภาคม 2554, 10:54:58



หัวข้อ: วัดทุ่งศรีเมือง
เริ่มหัวข้อโดย: คนโก้ ที่ 18 พฤษภาคม 2554, 10:54:58
ประวัติวัดทุ่งศรีเมือง
ความเป็นมา
วัดทุ่งศรีเมืองตั้งขึ้นก่อนสมัยเจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช  องค์ที่ ๓  คือ  เจ้าพรหมราชวงศา (กุทอง  สุวรรณกูฏ)  ประมาณปี  พ.ศ. ๒๓๕๖  ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ตามหลักฐานระบุว่า  วัดทุ่งศรีเมืองเป็นวัดที่ก่อตั้งขึ้นโดย  ท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์  ซึ่งท่านเป็นชาวอำเภอเขื่องใน  ได้เข้าไปเรียนหนังสือในกรุงเทพมหานครในยุคแรก  โดยสังกัดเรียนวัดสระเกศฯ  ในสมัยรัชกาลที่ ๒-๓  เป็นผู้มีความรู้ดี  ได้เปรียญ  ๓  ประโยค  สมัยสอบปากเปล่า  รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดปรานไว้เนื้อเชื่อใจมาก  ส่งให้มาอยู่อุบลราชธานี  เป็นพระราชาคณะรูปแรกของภาคอีสาน  พำนักที่วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย)  ได้ออกมาวิเวกปฏิบัติธรรม  เจริญวิปัสสนากรรมฐานบริเวณป่าชายทุ่ง (บริเวณวัดทุ่งศรีเมืองในปัจจุบัน)  ในกาลต่อมาได้มีอุบาสก อุบาสิกา ศิษยานุศิษย์ที่มาอบรมและร่วมปฏิบัติธรรม  ได้ถวายความอุปถัมภ์ให้ท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ฯ  สร้างศาลาการเปรียญ  สร้างหอพระไตรปิฎก  สร้างหอพระพุทธบาท  และเสนาสนะต่างๆตามความจำเป็น  ณ ที่ป่าชายทุ่งแห่งนี้  จึงเรียกว่า  ?วัดทุ่งศรีเมือง? แปลว่าวัดที่เป็นศักดิ์ศรีของเมืองและถือว่าสถานที่แห่งนี้  ในอดีตเป็นทั้งสำนักปฏิบัติธรรม และปริยัติธรรม
ที่ตั้ง
ปัจจุบันวัดทุ่งศรีเมืองเป็นวัดราษฎร์  ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี  ถนนหลวง  ตำบลในเมือง  จังหวัดอุบลราชธานี  มีเนื้อที่  ๑๙  ไร่  ๖๕  ตารางวา  โฉนดเลขที่  ๑๙๓๘
ทิศตะวันออก  จดที่ดินเลขที่ ๗ , ๘ , ๙ , ๑๑  ถนนหลวง
ทิศตะวันตก  จดที่ดินเลขที่  ๕ , ๖ , ๗ , ๘  ถนนนครบาล
ทิศเหนือ  จดที่ดินเลขที่  ๑๑ , ๕  ถนนพโลรังฤทธิ์
ทิศใต้  จดที่ดินเลขที่ ๒ , ๘  ที่ราชพัสดุ (บ้านพักข้าราชการ)
ลำดับเจ้าอาวาส
๑.   พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์
๒.   พระครูวิโรจน์รัตโนบล  (รอด  นันตโร)
๓.   พระครูสีตาภินันท์  (สีดา  โสวันทา)
๔.   พระราชรัตโนบล  (พิมพ์  นารโท)
๕.   พระสิริพัฒนาภรณ์  (สมหมาย  บุญเอื้อ)
ศาสนสถาน ? ศาสนวัตถุ
พระอุโบสถ  (หอพระพุทธบาท) 
ได้สร้างขึ้นระหว่าง  พ.ศ. ๒๓๓๐ ? พ.ศ. ๒๓๙๓  ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๒-๓  โดยการนำของพระอริยวงศาจารย์ฯ  ญาคูช่าง (พระช่างชาวเวียงจันทน์) เป็นช่างในการดำเนินการก่อสร้าง  เพื่อประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง  ซึ่งท่านได้จำลองมาจากวัดศระเกศราชวรมหาวิหาร  ผนังภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม (ฮูปแต้มวัดท่ง)
หอไตรกลางน้ำ
พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลฯ  ได้อำนวยการสร้างขึ้นราว  พ.ศ.๒๓๘๕ ? ๒๓๘๙  โดยมีญาคูช่าง (พระช่างชาวเวียงจันทน์) เป็นช่างผู้ควบคุมการก่อสร้าง  ก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง  ตั้งอยู่กลางสระน้ำ  เป็นการนำสถาปัตยกรรมศิลปะพม่า , ล้านช้าง  และไทยมาผสมผสานกันอย่างกลมกลืน



พระเจ้าใหญ่ศรีเมือง
ประดิษฐานอยู่ในวิหารศรีเมือง  วัดทุ่งศรีเมือง  เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่องค์หนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี  เดิมประดิษฐานอยู่วัดเหนือท่า  ต่อมาวัดเหนือท่าร้าง  ปล่อยให้พระเจ้าใหญ่ศรีเมืองเศร้าหมอง  ตากแดดตากฝนจนเศียรพระชำรุด  ครั้นต่อมาทางราชการต้องการที่ดินจะสร้างเป็นอนามัย ๗  พระครูวิโรจน์รัตโนบล  จึงได้นำพาญาติโยมสัปบุรุษชาวจังหวัดอุบลราชธานี  ไปอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วิหารศรีเมือง  และได้ทำการบูรณะใหม่โดยจำลองให้เหมือนกับพระเหลาเทพนิมิต  ที่วัดพระเหลาเทพนิมิต  อำเภอพนา


คัดลอกจากหนังสือวัดทุ่งศรีเมือง  เนื่องในงานทำบุญคล้ายวันเกิด  พระครูสิริพัฒนาภรณ์ (สมหมาย บุญเอื้อ)  รวบรวมโดย  พระสิริพัฒนาภรณ์ (สมหมาย  บุญเอื้อ)  และพระครูสังฆรักษ์จันดี  สุจันโท


หัวข้อ: Re: วัดทุ่งศรีเมือง
เริ่มหัวข้อโดย: คนโก้ ที่ 19 พฤษภาคม 2554, 19:03:05
หอไตรกลางน้ำ ,รอยพระพุทธบาทจำลอง , ฮูปแต้มวัดท่ง