ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ห้องพระ => พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ => ข้อความที่เริ่มโดย: บ่หัวซาผีบ้าเดินดิน ที่ 10 สิงหาคม 2556, 21:51:40



หัวข้อ: หลวงพ่อพิบูลย์แห่งมณฑลอุดร
เริ่มหัวข้อโดย: บ่หัวซาผีบ้าเดินดิน ที่ 10 สิงหาคม 2556, 21:51:40
พระพิบูลย์ : ผู้มีบุญหรือนักบุญแห่งอุดรธานี

ประวัติและบทบาทของพระพิบูลย์ถือเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ช่วยสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านศาสนาและสังคมการเมืองของผู้คนที่อยู่ในหัวเมืองอีสาน ที่มีการปะทะกันระหว่างรูปแบบ แนวคิด และเนื้อหาของผู้มาใหม่ (ในฐานะผู้ปกครอง) กับรูปแบบ แนวคิด และเนื้อหาของผู้ที่อยู่มาเดิม (ในฐานะผู้ใต้ปกครอง) เมื่อสยามได้จัดส่งเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นพระสงฆ์เข้าไปดำเนินงานปฏิรูปคณะสงฆ์ในหัวเมืองอีสานภายใต้อำนาจจากพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ซึ่งการเข้ามาบริหารจัดการงานคณะสงฆ์ของรัฐสยามดังกล่าวได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและปั่นป่วนแก่ผู้คนในท้องถิ่นเป็นอันมาก และปรากฏการณ์เช่นว่านี้สามารถศึกษาผ่านเรื่องราวการถูกคุมตัวของพระพิบูลย์ในมณฑลอุดร

กรณีการถูกคุมตัวของพระพิบูลย์คงจะเป็นปัญหาเรื่องอธิกรณ์ระหว่างพระสงฆ์ในมณฑลอุดร เกี่ยวกับการตีความเรื่องวัตรปฏิบัติของสงฆ์ว่าแบบใดคือความเป็นสงฆ์ที่ดี แบบใดคือสงฆ์ที่ปฏิบัติชอบ และสงฆ์แบบใดที่รัฐต้องการและอยากให้เป็น โดยเหตุแห่งอธิกรณ์คือสงฆ์ฝ่ายที่อยู่มาเดิม(พระพิบูลย์) มีวัตรปฏิบัติอย่างพระสงฆ์ท้องถิ่น ?พระครองลาว? และก็เชื่อมั่นในวัตรปฏิบัติของตนว่าเหมาะสมและดีงามแล้ว ขณะที่พระสงฆ์ผู้มาใหม่ (เจ้าคณะมณฑลอุดร) นอกจากจะมาพร้อมกับอำนาจและหน้าที่ที่รัฐมอบให้ ยังได้ถือเอาวัตรปฏิบัติของสงฆ์อย่างกรุงเทพฯ มาเป็นเกณฑ์วัดมาตรฐานความเหมาะสม ความดีงามของสงฆ์ในพื้นที่อีกด้วย และความขัดแย้งในอธิกรณ์ดังกล่าวก็จบลงด้วยการที่พระพิบูลย์ถูกคุมตัวไว้จนมรณภาพ

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของพระพิบูลย์ได้ถูกนำกลับมาฉายซ้ำอีกครั้งอย่างได้ผล โดยไม่ต้องกังวลต่อข้อครหาใดๆ เพราะสำหรับชาวบ้านโดยทั่วไป พระพิบูลย์อยู่ในฐานะทั้ง ?พระนักพัฒนา? และ ?พระนักบุญ? แห่งอำเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญสำหรับเรื่องนี้คือพระครูมัญจาภิรักษ์ ในฐานะผู้สืบปณิธานของพระพิบูลย์สำหรับการพัฒนาพื้นที่แถบวัดพระแท่น และใกล้เคียง จนมีการยกฐานะพื้นที่ตำบลบ้านแดงและพื้นที่ใกล้เคียงอีก ๒ ตำบลขึ้นเป็นอำเภอใหม่ในชื่อ ?อำเภอพิบูลย์รักษ์? ตามชื่อของพระนักพัฒนารุ่นแรกและรุ่นหลังใน พ.ศ. ๒๕๔๐

โดย เชิดชาย บุตดี อาจารย์ประจำหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
จาก ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม ๒๕๕๖
ผ่าน ...มติชน
007