ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน

ห้องพระ => พระคณาจารย์อริยสงฆ์ทั่วประเทศ => ข้อความที่เริ่มโดย: PN3 ที่ 13 พฤษภาคม 2554, 20:47:37



หัวข้อ: เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์ เนื้ออัลปาก้า ปี 2507 ส.หางสั้น หน้าเล็ก
เริ่มหัวข้อโดย: PN3 ที่ 13 พฤษภาคม 2554, 20:47:37
ประวัติการสร้างเหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อมุม  วัดปราสาทเยอร์  

          คุณวรวัฒน์ รุ่งแสง ร่วมกับศิษย์ดำเนินการจัดสร้าง ด้านหน้าออกแบบ เป็นรูปเหมือนครึ่งองค์ของหลวงพ่อ ข้างบนเหรียญเขียนว่า "วัดปราสาทเยอร์" ในปัจจุบันชื่อวัดเป็นทางการ คือ "วัดปราสาทเยอเหนือ"ข้างล่างมีคำว่า "พระครูประสาธน์ขันธคุณ" ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ หลวงพ่อมุม ด้านหลังของเหรียญเรียบ แต่จะมี รอยจาร ที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษ พบเห็นที่ไหนก็ทราบได้ทันทีว่าเป็นลายมือของหลวงพ่อ   มีด้วยกัน 2 พิมพ์ คือ

1.พิมพ์ ส.ติดขอบ หรือ ส.หางยาว โดยสังเกตที่ตัวอักษร "ส"ของคำว่า "วัดปราสาทเยอร์" หาง "ส" ยาวจดขอบเหรียญ
2.พิมพ์ ส. ไม่ติดขอบ หรือ ส. หางสั้น พบ อยู่ 2 บล็อค คือ
     2.1 บล็อคหน้าใหญ่
     2.2 บล๊อคหน้าเล็ก
โดยสังเกตง่ายๆ  ที่ตรงตัว"ส" เช่นกัน แต่หางตัว "ส" จะยาวไม่ถึงขอบเหรียญ

                                                        (ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณน้อย-ขุนหาญ  มา ณ ที่นี้ครับ)
                                                      


หัวข้อ: Re: เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์ เนื้ออัลปาก้า ปี 2507 ส.หางสั้น หน้าเล็ก
เริ่มหัวข้อโดย: PN3 ที่ 24 พฤษภาคม 2554, 18:49:30
เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์ ส.หางสั้น หน้าเล็ก เนื้ออัลปาก้า ปี 2507


จุดสังเกต : เส้นขนแมวแนวตั้งทั่วเหรียญ/focus ให้เห็นชัดๆ สำหรับท่านที่ต้องการศึกษา

ความพิเศษ  : พระองค์นี้หลวงพ่อบรรจงจารอย่างละเอียด ตัวอักขระเล็กมาก จำนวนตัวอักขระมีมากที่สุดเท่าที่พบมา
                    (ดังภาพข้างล่าง)

                                                         (ถ่ายภาพโดยร้านนำกิจ)


หัวข้อ: Re: เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์ เนื้ออัลปาก้า ปี 2507 ส.หางสั้น หน้าเล็ก
เริ่มหัวข้อโดย: บ่หัวซาผีบ้าเดินดิน ที่ 25 พฤษภาคม 2554, 13:58:22
สุดยอดแห่งความงดงามครับอาจารย์ นอกจากได้ดูพระแท้สวยๆแล้วยังได้ความรู้เรื่องประวัติของท่านอีก ยอดมากๆเลยครับ 007 007


หัวข้อ: Re: เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์ เนื้ออัลปาก้า ปี 2507 ส.หางสั้น หน้าเล็ก
เริ่มหัวข้อโดย: noi_vintage ที่ 25 พฤษภาคม 2554, 15:56:24
เห็นแล้วอยากได้  007


หัวข้อ: Re: เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์ เนื้ออัลปาก้า ปี 2507 ส.หางสั้น หน้าเล็ก
เริ่มหัวข้อโดย: PN3 ที่ 29 พฤษภาคม 2554, 14:24:36
 เหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อมุม ส.หางสั้น หน้าเล็ก เลี่ยมทอง


หัวข้อ: Re: เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์ เนื้ออัลปาก้า ปี 2507 ส.หางสั้น หน้าเล็ก
เริ่มหัวข้อโดย: MaiUbon ที่ 29 พฤษภาคม 2554, 20:11:32
 รอยจารของท่านมีเอกลักษ์จริงๆครับ  018


หัวข้อ: Re: เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์ เนื้ออัลปาก้า ปี 2507 ส.หางสั้น หน้าเล็ก
เริ่มหัวข้อโดย: PN3 ที่ 11 มิถุนายน 2554, 19:10:48
ประวัติหลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์  

         ศรีสะเกษ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานตอนล่างที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เคยเป็นชุมชนที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองมานับพันปี นับตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ และมีชนเผ่าต่างๆ อพยพมาตั้งรกรากในบริเวณนี้ ได้แก่ พวกส่วย ลาว เขมร และเยอ ศรีสะเกษเดิมเรียกกันว่า"เมืองขุขันธ์" เมืองเก่าตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน ตำบลดวนใหญ่ อำเภอวังหิน ในปัจจุบันได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองเมื่อปีพ.ศ.2302 สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีหลวงแก้วสุวรรณซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกรภักดีเป็นเจ้าเมืองคนแรก ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านเมืองเก่า ต.เมืองเหนือ อ.เมืองศรีสะเกษ ในปัจจุบัน แต่ยังคงใช้ชื่อว่าเมืองขุขันธ์จนถึงปีพ.ศ.2481 จึงเปลี่ยนเป็น "จังหวัดศรีสะเกษ"

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดนี้ นอกจากวัดวาเก่าแก่แล้ว ยังเต็มไปด้วยปราสาทที่สวยงามหลายแห่ง เช่น ปราสาทพระวิหาร ที่กลายเป็นข่าวเด่นประเด็นร้อน

ส่วนพระสงฆ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเกจิอาจารย์ดังของศรีสะเกษในอดีตนั้น มีอยู่หลายท่านด้วยกัน อันดับหนึ่งคือหลวงพ่อฉิม ธัมมรัตโน วัดทุ่งไชย เจ้าของเหรียญเก่าราคาแพง ปี 2482 รองลงมาคือ หลวงพ่อศรี ฐิตธัมโม วัดหลวงสุมังคลาราม มีเหรียญดังสร้างปี 2484 ทรงหยดน้ำหรือทรงพัดยศ ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อศรีผีย่าน"

ไล่เรียงลงมาอีกยุคหนึ่งก็มี หลวงพ่อมุม อินทปัญโญ อดีตเจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ พระเกจิอาคมขลังที่มีเหรียญและพระเครื่องศักดิ์สิทธิ์มาก มีอภินิหารในด้านต่างๆ เป็นที่นับถือยกย่องของชาวบ้านมาช้านาน และเป็นหนึ่งในจำนวนพระเกจิอาจารย์นับพันที่ร่วมปลุกเสกและจารแผ่นโลหะในการสร้างพระเครื่องของวัดกัลยาณ์ เมื่อปีพ.ศ.2497

"วัดปราสาทเยอ" ตั้งอยู่ในกิ่งอ.ไพรบึง มีด้วยกัน 2 วัดคือ วัดเหนือและวัดใต้ อายุประมาณ 200 กว่าปี สร้างขึ้นโดยชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเยอที่ได้รับอารยธรรมทางขอมมา ดังนั้น สิ่งก่อสร้างในวัดจึงคล้ายคลึงศิลปะแบบขอมโบราณผสมสมัยใหม่ วัดมีความเจริญมากในสมัยที่หลวงพ่อมุมปกครองดูแล เพราะศรัทธาในวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย มักน้อย สันโดษ พูดน้อย แต่มีเมตตาสูงมาก แม้ว่าการเดินทางไปวัดปราสาทเยอเหนือจะยากลำบากเพียงใด แต่ผู้คนต่างไม่หวั่นไหวหวาดกลัว เพราะรู้ว่าท่านสามารถช่วยปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ในสมัยที่สหรัฐมาตั้งฐานทัพแถบอีสานใต้ กิตติศัพท์ของท่านร่ำลือไปถึงหมู่ทหารจีไอ จนต้องเดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์และรับวัตถุมงคลจากท่านไปคุ้มครองป้องกันภัย โดยต่างเรียกท่านว่า "Dad" และในคอส่วนใหญ่ห้อยเหรียญของท่าน ท่านเกิดในตระกูล "บุญโญ" ตรงกับวันพฤหัสบดีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีพ.ศ.2429 บิดามารดาเป็นชาวนาชาวไร่ ชีวิตวัยเด็กคลุกคลีอยู่ที่วัดเป็นส่วนใหญ่ โดยได้เรียนหนังสือไทย ขอมไทย ขอมลาว และเขมรกับพระอาจารย์พิมพ์ จนอายุ 12 ขวบ จึงบรรพชาเป็นสามเณร ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนหนังสือ สวดมนต์จนคล่อง ทั้งเช้าและเย็นต้องทำวัตรไม่ขาด เป็นสามเณรที่ขยันมาก ไม่เคยถูกดุด่าว่ากล่าวแม้แต่ครั้งเดียว

พออายุครบ 20 ปี ได้บวชเป็นพระที่วัดปราสาทเยอเหนือ ได้ฉายาว่า "อินทปัญโญ" โดยมีหลวงพ่อปริม เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านมีความรอบรู้เชี่ยวชาญในพระคัมภีร์ทั้งทางด้านกรรมฐานภาวนาและคาถาอาคมขลังทางลงเลขยันต์ ลงนะต่างๆ โดยวิชาเหล่านี้ท่านได้รับการถ่ายทอดไว้จนหมดสิ้น จากนั้นได้ออกธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมภาวนาตามสถานที่ต่างๆ เริ่มจากเมืองขุขันธ์เรื่อยไปจนถึง จ.ปราจีนบุรี เข้าฝากตัวกับพระอุปัชฌาย์โท วัดโคกมอญ และอยู่ช่วยก่อสร้างศาลาการเปรียญจนสำเร็จใช้เวลาที่อยู่วัดนี้ 3 ปี แล้วเดินทางกลับวัดปราสาทเยอ

2ปีต่อมา "หลวงพ่อมุม อินทปัญโญ" อดีตเจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ จ.ศรีสะเกษ จึงออกธุดงค์ไปทางเมืองลังเก จ.พระตะบองฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชากับพระมหาบัวทองพระสงฆ์ชาวเขมร และติดตามเข้าไปจนถึงเมืองพนมเปญ ก่อนจะผ่านมาทางกบินทร์บุรีข้ามภูเขาสองพี่น้องอันเป็นทิวเขาดงพญาไฟ (ปัจจุบันคือดงพญาเย็น) จนกระทั่งมาถึงบ้านหวาย อยู่ศึกษาวิชาอาคมกับ "หลวงพ่อโฮม" ซึ่งเก่งทางว่านยาสมุนไพร แก้อาถรรพณ์ แก้คุณไสยต่างๆ ต่อจากนั้น จึงเดินทางไปยังจ.สระบุรีเพื่อกราบสักการะรอยพระพุทธบาท พระพุทธฉายแล้วล่องมาจนถึงจ.พระนครศรีอยุธยา เข้าจำพรรษาอยู่หลายวัด แล้วต่อไปยังจ.สุพรรณบุรี เข้าสู่อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ผ่านไปทาง จ.เพชรบูรณ์ เข้าจ.เลย เมืองลานช้าง เวียงจันทน์ ท่าแขก สุวรรณเขต และนครจำปาศักดิ์ เพื่อไปหา "สมเด็จลุน" แต่ต้องผิดหวัง เพราะสมเด็จลุนเดินทางไป จ.อุบลราชธานี แต่ท่านก็ได้ตามไปจนพบและฝากตัวเป็นศิษย์ติดตามเข้าไปถึงนครจำปาศักดิ์ ได้ศึกษาหาความรู้ทางอาคมขลัง เลขยันต์ต่างๆ ก่อนจะกลับเข้ามาหาพระอาจารย์ดีๆ ในตัวเมืองอุบลระยะหนึ่ง แล้วเดินทางไปยังเมืองขุขันธ์กลับไปวัดปราสาทเยอ ขณะที่ท่านอยู่วัดนั้นสิ่งที่ปฏิบัติเป็นนิจคือการเดินจงกรม ปฏิบัติกรรมฐานภาวนาและทบทวนวิชาต่างๆ ในยามว่างจากผู้คน พระยาขุขันธ์ได้นำเอาคัมภีร์สมุดข่อยไปถวาย ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่บรรจุวิชาอาคมไสยศาสตร์, โหราศาสตร์ และตำราต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน โดยพระยาขุขันธ์ได้มาจากใต้ฐานพระพุทธรูปในเมืองพิษณุโลก คาดว่าเป็นของสมเด็จเจ้าพระฝาง ปีพ.ศ.2464 หม่อมหลวงช่วงทำงานอยู่กระทรวงธรรมการไปตรวจราชการที่เมืองขุขันธ์ เห็นว่าการศึกษาที่นั่นยังด้อยอยู่มาก ประชาชนส่วนมากยังขาดการศึกษา  จึงเดินทางไปนิมนต์ให้ท่านช่วยสอนหนังสือพระ โดยท่านได้สอนอยู่นานถึง 15 ปี เมื่อหลวงพ่อปริม มรณภาพท่านจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสสืบแทนตั้งแต่ปีพ.ศ.2492 ทำให้ต้องหยุดสอนหนังสือเพราะมีภาระธุระทางงานพระศาสนามากขึ้น และเป็นช่วงที่มีพระสงฆ์ที่มีความรู้หลายองค์สามารถเป็นครูสอนแทนได้

ปีพ.ศ.2494 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2499 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูที่ "พระครูประสาธน์ขันธคุณ" ก่อนจะเลื่อนเป็นชั้นตรี, ชั้นโท และชั้นเอกในราชทินนามเดิมตามลำดับ

ท่านเป็นพระที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้ให้การสนับสนุนด้านการบริหารและการเงินแก่โรงเรียนต่างๆ ตลอดมา ด้วยคุณงามความดีในปี พ.ศ. 2515 จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ มาถวายพระกฐินต้นที่วัด และทรงสร้างศาลา ภปร.ถวายแก่หลวงพ่อมุมด้วย ซึ่งนับว่าเป็นวัดแรกของภาคอีสาน "หลวงพ่อมุม" มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2522 สิริอายุได้ 93 ปี พรรษา 73

พระเครื่องที่ท่านสร้างและปลุกเสกไว้จะทำตามพิธีกรรมแบบเขมรโบราณ ประเภทเหรียญจะมีมากที่สุด รุ่นแรกสร้างปีพ.ศ.2507 มี 2 บล็อกคือพิมพ์ส.หางยาว (นิยม) และ ส.หางสั้น ท่านจะลงเหล็กจารด้วยลายมือทั้งหมด, รุ่น 2 ปี 2508, เหรียญรูปไข่ ปี 2509, เหรียญเม็ดแตง-เหรียญเสมา ปี 2509, เหรียญรูปอาร์ม ปี 2515, เหรียญนักกล้าม ปี 2517, เหรียญพิมพ์เตารีด, เหรียญปาป้ามุม สร้างปี 2516 โดยหน่วยทหารนาวิกโยธินสหรัฐ รุ่นนี้ดังมากพอปลุกเสกเสร็จก็ทดลองยิงกันเลย ปรากฏว่ายิงไม่ออก, เหรียญทรงตาลปัตร ปี 2514 ส่วนพระผงมีหลายพิมพ์ ที่นิยมมี 3 พิมพ์คือ สมเด็จลายเสือ, สมเด็จสามชั้น และสมเด็จหลังรูปเหมือน ปี 2516 พระปิดตามีรุ่นเดียวสร้างปี 2517 นอกจากนี้ ยังมีรูปหล่อปั๊มคอตึง, แหวนรูปเหมือน 4 รุ่น, เครื่องรางของขลังเช่น ตะกรุดโทน ตะกรุดเมตตา ผ้ายันต์ สีผึ้ง ลูกอม ฯลฯ

พระเครื่องของท่านแม้ว่าจะมีราคาไม่สูง แต่ด้านอิทธิคุณแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาบอกว่าดีทั้งทางเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดคงกระพัน โดยเฉพาะคนศรีสะเกษต่างเชื่อมั่นกันมากเนื่องจากได้รับประสบการณ์กันนับไม่ถ้วน

ทั้งนี้ พระเครื่องของท่านมีข้อห้ามเฉพาะคือ
1.ห้ามลอดไม้ค้ำต้นกล้วย
2.ห้ามใช้มือทั้งสองกอบน้ำในบึง หนอง คลอง ที่ตนลงเล่นมาดื่มกิน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก คอลัมน์ มุมพระเก่า อภิญญา
นสพ.ข่าวสดออนไลน์   


หัวข้อ: Re: เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอร์ เนื้ออัลปาก้า ปี 2507 ส.หางสั้น หน้าเล็ก
เริ่มหัวข้อโดย: คนโก้ ที่ 15 มิถุนายน 2554, 08:12:31
หลวงปู่มุมก็เป็นศิษย์สำเร็จลุนด้วย ขอบคุณพี่ PN3 ที่นำประวัติหลวงปู่มาลงเผยแพร่ครับ 017